เปิดพิมพ์เขียว 9 มิติ 200 นโยบาย “ชัชชาติ” ว่าที่ผู้ว่า กทม.คนที่ 17

เปิดพิมพ์เขียว 9 มิติ 200 นโยบาย

กางพิมพ์เขียว 9 มิติ 200 นโยบายของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 20.45 น. การนับคะแนนของผู้รับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระเบอร์ 8 มีคะแนนนำขาดลอยเตรียมตัวเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 ต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปนโยบายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งชูสโลแกน “ทำกรุงเทพให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผ่านนโยบาย 9 มิติ 200 นโยบาย ดังนี้

“มิติที่ 1 สิ่งแวดล้อมดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. นโยบายดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ โดยมีรายละเอียดนโยบายดังต่อไปนี้ จากนโยบาย ‘นักสืบฝุ่น’ และ ‘การตรวจสอบมลพิษในโรงงาน’ จะทำให้ กทม.ตรวจสอบพบผู้กระทำความผิดปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานได้

ดังนั้น กทม.จะดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนักเพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ ลดการปล่อยมลพิษให้มาอยู่ในระดับที่มาตรฐานกำหนด เช่น การตักเตือนและกำหนดแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา (มาตรการเบา) การสั่งให้หยุดประกอบกิจการ การก่อสร้าง หรือเพิกถอนใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง (มาตรการหนัก)

2. นโยบายสนับสนุนให้เกิด ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า โดยกทม.จะสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมในการใช้รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ คือสถานีชาร์จรถยนต์และสถานีสลับแบตเตอรีมอเตอร์ไซค์ ด้วยวิธีการอย่างน้อยดังนี้

อนุญาตให้เอกชนติดตั้งสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรีรถจักรยานยนต์ในพื้นที่หน่วยงาน กทม. เช่น สำนักงานเขต สวนสาธารณะ จอดแล้วจร ฯลฯ

ประสานงานกับเอกชนในการผลักดันให้เกิดสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรีมากขึ้น

พิจารณาข้อบัญญัติควบคุมอาคารให้สถานที่ต่างๆ ต้องมีการติดตั้งสถานีชาร์จและสถานีสลับแบตเตอรี่เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้

ผลักดันให้เกิดหลักสูตร EV Retrofit (หลักสูตรดัดแปลงเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง) ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ที่มีศักยภาพและมีการเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับยานยนต์อยู่แล้ว

เปิดให้ประชาชนนำรถยนต์มาเข้ารับบริการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาต้นทุน เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนให้เกิดขึ้นจริง

“มิติที่ 2 ปลอดภัยดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) เพื่อเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทุกรูปแบบเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในหลายมิติของชีวิต ทั้งการเดินทาง การเลือกโซนที่อยู่อาศัย และการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถจัดการกับจุดเสี่ยงในเมืองได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว

2. หน่วยงาน กทม.เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQI+ ในกทม.ได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐและให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ

“มิติที่ 3 เศรษฐกิจดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดนโยบายคือ

  • ได้มีส่วนร่วมกับย่านต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน
  • ผู้บริโภคเข้าถึงสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มตัวเลือกในการจับจ่ายใช้สอย
  • ผู้ประกอบการได้โอกาสเพิ่มช่องทางหารายได้ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ

2.สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ ช่วยดูแลพื้นที่การค้า เพื่อให้ชาวกรุงเทพได้มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบของการทำพื้นที่การค้าขายหาบเร่ในเขตที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตและได้หาบเร่แผงลอยที่สวยงามสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่

“มิติที่ 4 สุขภาพดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. นโยบายเพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ โดยมีรายละเอียดคือนอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนพื้นที่สาธารณะแล้ว การพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ก็เป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

ปัจจุบันเวลาให้บริการสวนสาธารณะหลักของ กทม.คือ 05.00 – 21.00 น. ส่วนศูนย์กีฬาและศูนย์สร้างสุขทุกวัยมักเปิดให้บริการพื้นที่รอบนอกตั้งแต่ 05.00 น. ในขณะที่ฟิตเนสหรือกิจกรรมภายในอาคารมักเปิดตั้ง 10.00 น. เป็นต้น

ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในพื้นที่ยังพบว่ามีบางประเด็นที่ยังไม่เป็นมิตรต่อประชาชนเท่าที่ควร เช่น
– ห้องน้ำและห้องอาบน้ำบางแห่งไม่พร้อมให้ประชาชนใช้งาน
– ข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ บางสวนมีขนส่งสาธารณะให้บริการบนถนนหลัก แต่ไม่มีรถสาธารณะเลี้ยวเข้าพื้นที่

ดังนั้น กทม.จะดำเนินการพัฒนาโดยเริ่มจาก

1.1 ปรับเวลาเปิด-ปิด โดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนผู้ใช้งานและผู้อยู่อาศัยโดยรอบเพื่อขยายโอกาสการใช้งานให้กับคนทุกกลุ่ม และหากมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถปรับเวลาได้ กทม.จะดำเนินการปรับปรุงประเด็นนั้นให้คลี่คลาย

1.2 ปรับปรุงและเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องแต่งตัว เครื่องออกกำลังกาย (Fitness) แสงสว่าง CCTV ฯลฯ ให้มีคุณภาพ เปิดให้ประชาชนใช้งาน และให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของทุกคนในการใช้งานพื้นที่

1.3 การจัดสรรพื้นที่ค้าขาย (hawker center) สำหรับหาบเร่แผงลอย ที่กระจายอยู่รอบสวนสาธารณะให้มีการจัดการที่ถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบ มีที่ซักล้าง มีบ่อดักไขมัน เป็นต้น

1.4 ออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าใช้งานพื้นที่สาธารณะ เช่น ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ สภาพทางเดินที่สะดวกและสามารถรองรับจำนวนของผู้คนได้มากพอ และระบบขนส่งสาธารณะพาคนจากชุมชนโดยรอบมายังพื้นที่สาธารณะ

2. นโยบายนำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คลินิกสาธารณสุขเฉพาะทางด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQI+ ในโรงพยาบาลของรัฐมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือคลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี

นอกจากนี้หนังสือยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ ในประเทศไทย โดย ชเนตตี ทินนาม โกสุม โอมพรนุวัฒน์ และรัตนา ด้วยดี  ระบุว่าการให้บริการทางการแพทย์กับกลุ่ม LGBTQI+ ยังขาดความรู้และความเข้าใจในประเด็นอ่อนไหว ระบบการรับบริการด้านสุขภาพยังคงไม่เป็นมิตรกับคนข้ามเพศ บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนยังคงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางเพศ รวมถึงยังมีอคติทางเพศที่ส่งผลต่อการวินิจฉัยโรค เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้ส่งผลกับประสบการณ์ในการเข้ารับบริการของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เมื่อกลุ่มคนข้ามเพศต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็จะไม่ถูกส่งไปรวมห้องกับเพศปัจจุบันของตนเอง ดังนั้น กทม.จะนำร่องเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในประเด็นจำเพาะ เช่น การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) หรือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์

“มิติที่ 5 บริหารจัดการดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. นโยบายพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตกับ กทม. เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนธุรกิจได้จริง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการรอ กทม.อนุมัติอย่างไร้จุดหมาย และประชาชนติดตามการทำงานของหน่วยงาน กทม.ได้

2. ประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในโครงการของ กทม. เพื่อให้ ประชาชนได้รับรู้ถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณของโครงการต่างๆ ใน กทม. และกทม.ได้รับบทเรียนจากโครงการเก่า ๆ เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“มิติที่ 6 สร้างสรรค์ดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. นโยบายกรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์) ซึ่งมีเป้าหมายคือ ได้ชมงานแสดงดนตรี ศิลปะการแสดง ฯลฯ ได้รับความสุนทรีนอกบ้านในทุก ๆ วันที่มากกว่าการชมโฆษณาระหว่างทาง และส่งเสริมให้ศิลปินหน้าใหม่มีพื้นที่แสดงผลงาน

2. 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่นหรือต่างประเทศมีเทศกาลน่าสนใจตลอดทั้งปีให้เข้าร่วม และธุรกิจได้โอกาสในการกระตุ้นยอดขายจากงานเทศกาล เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

“มิติที่ 7 เดินทางดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว โดยมีรายละเอียดนโยบาย ดังต่อไปนี้
– รถเมล์ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้นทั้งสายหลักและสายรอง โดยมี กทม.เป็นผู้ดำเนินการ
– ส่วนลดหรือไม่เสียค่าแรกเข้าเพิ่ม หากเชื่อมต่อ BRT และรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีทอง
– รถเมล์ใหม่ ชานต่ำ ปรับอากาศ ควันไม่ดำ
– มี GPS เช็กตำแหน่งรถได้

2. นโยบายพิจารณาเดินเรือ เพิ่มตัวเลือกเชื่อมต่อการเดินทาง ให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้นและมีคุณภาพยิ่งขึ้นเนื่องจากการเดินทางทางเรือสามารถคำนวณเวลาได้

“มิติที่ 8 โครงสร้างดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำการพัฒนาเมือง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองตามการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งในขณะนี้มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในกรุงเทพฯ แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สวนสาธารณะ สาธารณูปโภค หรือสาธารณูปการอื่น ๆ ไม่ทันการพัฒนาในเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้กรุงเทพฯ มีความแออัด ไม่ได้รับการจัดระเบียบการพัฒนาเมืองให้เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐาน

ดังนั้น กทม.จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการกำหนดการพัฒนาเมืองตามแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เมืองมีความหนาแน่นที่เหมาะสม และมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ

2. นโยบายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง โดยมีรายละเอียดคือโครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้งในเขตเมืองและชนบทโดยการสนับสนุนในมิติต่าง ๆ เช่น สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มการภายในชุมชนเพื่อจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนที่สามารถหาที่มีการออมและหาที่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้

ดังนั้น กทม. จะสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวความคิดบ้านมั่นคง ผ่านการร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่าง ชุมชน กทม. และภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งมิติการทำงานออกเป็น 3 ขาแห่งความสำเร็จคือ ที่ดิน การออม และการช่วยเหลือของรัฐ

“มิติที่ 9 เรียนดี” มีตัวอย่างนโยบายเด่น ๆ ได้แก่

1. นโยบายเปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้ใกล้บ้านในวันหยุด เพิ่มพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ของเยาวชนและชุมชนใกล้เคียงในชุมชน

2. นโยบายเรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ รัฐและ กทม.มีการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาให้กับโรงเรียนและนักเรียนในสังกัด กทม.อยู่บางส่วน เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ประกันอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน

สำหรับชุดนักเรียนระดับประถมรัฐอุดหนุนให้ 360 บาท/คน/ปี (เงินจำนวนนี้อาจไม่ครอบคลุมการซื้อชุดนักเรียนจำนวน 1 ชุดและ กทม.จะจัดหาชุดพละหรือชุดลูกเสือให้อีก 1 ชุด ดังนั้น กทม.จะเพิ่มเติมเงินสนับสนุนเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเรียน ได้แก่

1. เพิ่มเงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สอดคล้องกับราคาตลาด (ครอบคลุมราคา เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ)

2. เพิ่มจำนวนการอุดหนุนให้สอดคล้องและครอบคลุมกับการใช้งานจริง