
สัมภาษณ์พิเศษ
หากใครเป็น “เด็กสยาม” คงไม่พลาดที่จะไปเดิน Walking Street สยามสแควร์ซอย 7 ที่เปิดทดสอบเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา หลังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เดินหน้าดำเนินการโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส ปรับโฉมพื้นที่มาตลอดช่วง 1-3 ปี เพื่อตั้งเป้าให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาฯ ถึงสถานการณ์ผู้ค้าและผู้เช่าพื้นที่ในการเปิดร้านขายโดยเทียบกับช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบุว่า ในช่วงนี้ร้านค้าเริ่มมีการปรับตัวเพื่อต้อนรับการเปิดประเทศ มีการปรับปรุงร้านค้า บรรยากาศเริ่มคึกคัก
- ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ยุบ ศบค. 1 ต.ค.นี้ โควิดติดต่อไม่อันตราย
- ส่องคดีแชร์ลวงโลก FOREX 3D มาถึง พิ้งกี้-พี่-แม่ ได้อย่างไร
- ลงทะเบียน คนละครึ่งเฟส 5 รับเงิน 800 บาท เริ่มแล้ว วันนี้ !
เริ่มมีประชาชนมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ แต่อาจยังขาดในส่วนของนักท่องเที่ยวจีน ที่ต้องรอให้เขาประกาศเปิดประเทศเสียก่อน
สำหรับการปรับปรุงพื้นที่มีความคืบหน้าแล้ว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังจากเปิดทดสอบ Walking Street วันแรก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มองว่า ทิศทางน่าจะดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ร้านอาหารเริ่มคึกคักแล้ว หากมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็น่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการสยามสแควร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมธุรกิจร้านค้าอื่น ๆ ให้ดีตามไปด้วย อีกทั้งยังได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากทางร้านค้า และอาจจะดีเกินที่คาดการณ์ไว้ด้วย

ค่าเช่าที่ก่อน-หลังโควิด
รศ.ดร.วิศณุ ระบุว่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนและหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าเช่าที่เท่าไรนัก ซึ่งบางครั้งอาจต้องดูทิศทางตามสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ อย่างเช่น มีการให้ส่วนลดในช่วงที่ค้าขายไม่ดีเท่าไร แต่ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวก็อาจมีการประเมินความสามารถในการจ่ายของร้านค้า
“ช่วงโควิดทุกคนก็เหนื่อยทุกคนเราก็เห็นใจ เราคงไปปรับขึ้นอะไรมากไม่ได้ แต่ถ้าเทียบกับก่อนโควิด ตอนนี้ก็ไม่ได้เพิ่มมากเท่าไร หรือต้องลองดูทิศทาง เรื่องนี้เราต้องตามสถานการณ์ไป คือบางทีตั้งค่าเช่า ก็มีส่วนลดให้บ้างในช่วงที่ค้าขายไม่ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ก็ต้องดูความสามารถในการจ่าย ต้องปรับตามไป”
นอกจากนี้ ยังมองว่า ในส่วนของประเภทสินค้าก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับตัวธุรกิจของตัวเอง เมื่อมีร้านที่ยกเลิกการเช่าพื้นที่ ก็จะมีร้านใหม่มาทดแทน รวมถึงบางร้านก็มีการขยายใหญ่ขึ้น หรือเปลี่ยนตำแหน่งของร้าน เพื่อไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของทางร้านมากขึ้น


ดันร้านค้าศักยภาพขึ้น Flagship
ส่วนพื้นที่สำหรับร้าน Flagship ต้องคัดสรรร้านค้าที่เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งมาแล้ว คือ มีศักยภาพ และกลุ่มลูกค้าที่มากพอจะมาอยู่บนพื้นที่ Walking Street ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ในขณะเดียวกันร้านค้าที่อยู่ตามซอยต่าง ๆ ของสยามสแควร์ก็มีเสน่ห์ และคาแร็กเตอร์เป็นของตัวเองเช่นกัน
“คือร้านธรรมดา แต่อาจต้องบอกว่าไม่ธรรมดานะ คือ ร้านเขาก็ขายได้ดีละ แต่ว่าเขาเห็นโอกาสตรงนี้ ว่านาน ๆ ทีจะมีพื้นที่ที่อยู่บน Walking Street จริง ๆ จากแต่ก่อนก็อาจจะเป็นร้านในสยาม แต่ว่าอาจจะอยู่ชั้นใต้ดิน เมื่อมีจังหวะที่ดี แล้วเขามีศักยภาพพอ เขาได้พิสูจน์มาแล้วว่าร้านเขาเนี่ยเป็นแบรนด์ที่ดี มีลูกค้าประจำ เราก็ให้โอกาสเขา ได้มี Outlet อยู่บน Walking Street”
“ผมว่าเราโชคดี ที่ได้ร้านค้าที่เป็นพันธมิตรที่ดี เขาเข้าใจในลักษณะของสยามสแควร์อยู่ ต้องยอมรับว่า ตอนก่อนปรับปรุงการปรับตัวอาจจะยังไม่มาก เพราะยังไม่เห็นภาพจริง แต่หลังจากมีการปรับปรุง เริ่มเห็นภาพของจริงละ กระแสตอบรับดีมาก ทุกร้านก็อยากตกแต่งร้านค้าให้สวย ให้เหมาะกับเป็น Walking Street ที่เป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ จริง ๆ” รศ.ดร.วิศณุ กล่าวย้ำ