ศบค.จับตา 17 จังหวัดผุดโควิดระลอกใหม่ สั่งปรับแก้กฎหมายดื่ม-ขายสุรา

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)

ศบค.ถก 7 ประเด็นหลัก เตรียมพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น 1 กรกฎาคม สั่งเฝ้าระวัง 17 จังหวัด รวม กทม.  เสี่ยงเกิดการติดเชื้อโควิดกลุ่มก้อนขนาดเล็ก small wave เผยข้อมูลชี้ชัดแนวโน้มคนป่วยใหม่เพิ่มขึ้น พบท่องเที่ยวฟื้นตัวโกยรายได้แล้วเกือบ 3.5 แสนล้าน เป็นรายได้จากคนไทยเที่ยวไทยมากกว่าชาวต่างชาติ สั่ง สมช.ศึกษากฎหมายปรับแก้เวลาดื่มสุรา-เปิดปิดสถานบันเทิงใหม่

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงรายละเอียด หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. ประชุม ศบค.ชุดใหญ่และมีมติสำคัญ ๆ ไปในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการปลดพื้นที่ควบคุมโควิดเป็นสีเขียวทั่วประเทศ เรื่องของการยกเลิกระบบลงทะเบียนการเข้าราชอาณาจักร Thailand Pass รวมถึงการยกเลิกเงินประกัน การผ่อนคลายเรื่องการสวม/ไม่สวมหน้ากากอนามัยในบางพื้นที่ รวมถึงการขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิง และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (อ่านรายละเอียดท้ายข่าว)

ถก 7 ประเด็นหลัก เตรียมพร้อม post pandemic

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวแถลงเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมวันนี้มีการพูดคุยใน 7 ประเด็นหลัก เรื่องแรก สถานการณ์ปัจจุบัน ล่าสุดตัวเลขการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอบคุณพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วนในการลดการติดเชื้อ และเป็นการเข้าสู่บรรยากาศที่เรียกว่าเป็น post pandemic ที่จะเข้าสู่การให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น และเข้าสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการผ่อนคลายตามมา

ผู้ป่วยรายวัน ป่วยหนัก เสียชีวิต ณ วันที่ 17 มิ.ย.2565

สำหรับการติดเชื้อวันนี้ลดเหลือไม่ถึง 2 พันราย และมีการหายป่วยมากกว่าผู้ป่วยใหม่ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามยังมีผู้เสียชีวิตอยู่ 19 คน ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ซึ่งเป็นระดับที่มีความรุนแรงสูง อยู่ที่ร้อยละ 9.30 ซึ่งเตียงยังว่างอยู่และถ้าศักยภาพของระบบสาธารณสุขยังไปได้ดีและรองรับได้ จะทำให้เราสามารถเปิดกิจการ กิจกรรม ได้เพิ่มขึ้น

เส้นคาดการณ์ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจของกระทรวงสาธารณสุข

“เส้นกราฟของผู้ป่วยรายวัน ปอดอักเสบ และผู้เสียชีวิต เป็นเส้นที่ออกไปในแนวระนาบและลดลงบ้างโดยเฉพาะผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งจะไปสอดคล้องกับภาพของการคาดการณ์ที่เราเคย ตอนนี้ในสถานการณ์จริงพบว่า ต่ำกว่าเส้นที่เราเคยคาดการณ์ไว้แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจ เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ลดลงต่ำกว่าเส้นสีเขียวหรือเส้นที่เราคาดการณ์ไว้ ตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นมา” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

เส้นคาดการณ์ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิด

สำหรับการคาดการณ์ในระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) หรือช่วง Declining ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าปลายเดือนพ.ค.ถึงมิ.ย.นี้น่าจะเป็นตัวชี้ทิศทางว่าเราจะไปอย่างไร เพราะฉนั้นวันที่ 1 กรกฎาคม2565 มีโอกาสที่จะเป็น Post pandemic หรือระยะที่ 4 ที่จะเป็นโรคติดต่อทั่วไป ซึ่งก็ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างเต็มที่

สั่งเฝ้าระวัง 17 จังหวัดรวมกทม. เกิด small wave

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังเสนอให้ไปดูใน 77 จังหวัด บวก กทม.ว่า ยังเห็นภาพของ 50 จังหวัดที่สอดคล้องกัน คือมีทิศทางที่ลดลง แต่มี 17 จังหวัดที่ลดลงแล้วแต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่าเป็น Post declining with small wave หรือเรียกว่ายังมียอดภูเขาเล็ก ๆ ขึ้นมาอยู่ อันนี้เราจะต้องมีมาตรการที่จะต้องเฝ้าระวังหรือป้องกันไม่ให้มีการเพิ่มขึ้น และจะเป็นภาระต่อเรื่องของการรักษา

“ใน 17 จังหวัดนี้มีกรุงเทพมหานคร มีภูเก็ต อุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ยโสธร อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ สตูล ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี สมุทรสาคร กระบี่ พิจิตร” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวและว่า

ศบค.จับตา 17 จังหวัดที่อาจกลับมาติดเชื้อเป็นกลุ้มก้อนขนาดเล็ก

“ตรงนี้เราต้องมองการคาดการณ์ไปถึงข้างหน้า ซึ่งเราเคยผ่านมาแล้วในระลอกเดือนเมษายน 2564 และระลอกเดือนมกราคม 2565 และตอนนี้กำลังลง ซึ่งถ้าจะให้ดีสำหรับการคาดการณ์หลังจากนี้ไปเราจะไปบอกว่าหมดการระบาดก็ยังไม่เชิง เพราะฉะนั้นตรงนี้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีระลอกเล็ก ๆ เกิดขึ้นมาได้บ้าง”

“เพราะฉะนั้น การเป็น small wave หรือช่วงเวลาที่เราต้องเฝ้าระวัง ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค ซึ่งหมายถึงการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย หรือการที่ประชาชนต้องช่วยกันสวมหน้ากาก แต่ก็มีเสียงร้องว่าอยากจะลดการสวมหน้ากากลงบ้าง ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเล็ก ๆ ขึ้นมาได้ด้วย”

รายได้จากการท่องเที่ยวช่วง 1-15 มิ.ย.2565

รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเกือบ 3.5 แสนล้าน

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 ที่มีการรายงานในศบค.ชุดใหญ่วันนี้ คือผลการดำเนินงานเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร จากการรายงานจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอชุดข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 1-15 มิ.ย. นักท่องเที่ยวเข้ามา 348,699 คน เฉลี่ยวันละ 20,000-25,000 คน

โดยประเทศที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากสุด คือ 1.มาเลเซีย 6.1 หมื่นคน 2.อินเดีย 5.1 หมื่นคน 3.สิงคโปร์ 3.1 หมื่นคน 4.เวียดนาม 1.8 หมื่นคน และ 5.สหรัฐอเมริกา 1.5 หมื่นคน ส่วนตั้งแต่ยกเลิก Test&Go จะเห็นว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น หากนับตั้งแต่ต้นปีที่ประเทศเข้ามามากสุด คือ อินเดีย 1.69 แสนคน

รายได้จากการท่องเที่ยวระหว่าง 1 ม.ค.-15มิ.ย.2565

ส่วนกำลังซื้อในประเทศ นักท่องเที่ยวจากไทยเที่ยวไทยมี 53.52 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 127% จังหวัดเป้าหมายที่ไปท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ทำให้เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.48 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 149% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

“ต้องขอบคุณคนไทยเที่ยวไทย สร้างเม็ดเงิน 2.48 แสนล้านบาท มากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากมาตรการการผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้น เช่น Thailand Pass อาจทำให้ขึ้นมาเป็นแสนล้านบาทโดยเร็ว” โฆษกศบค.กล่าว

การปรับพื้นที่สีเขียวทั่วราชอาณาจักร

เปิด 8 มาตรการผ่อนคลาย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรื่องที่ 3 เรื่องการปรับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร จากเดิมที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 46 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 15 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 20 จังหวัด ปรับมาเป็นพื้นที่สีเขียวทุกจังหวัดทั่วประเทศ สามารถมีกิจการกิจกรรมในการผ่อนคลายอย่างเต็มที่ แต่ต้องมาพร้อมมาตรการป้องกันควบคุมโรค ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ 8 มาตรการ คือ

1.พื้นที่สถานการณ์ปรับเป็นพื้นที่เฝ้าระวังทั่วประเทศ ยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านท่องเที่ยว

2.มาตรการใส่หน้ากากอนามัย ยกเว้นกรณีอยู่ในที่โล่ง ไม่แออัด ทำกิจกรรมที่ไม่อาจสวมหน้ากากได้ ประกอบอาชีพต้องใช้การแสดงออกของใบหน้า การอยู่คนเดียวที่มีที่ปิดหรือมีฉากกั้น

3.การบริโภคสุราแอลกอฮอล์ในพื้นที่เฝ้าระวัง เปิดบริการตามปกติ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

4.สถานประกอบการสถานบันเทิง เปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเปิดบริการตามกฎหมายกำหนด

5.การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายดำเนินการตามปกติ

6.การคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองแล้ว แต่อาจให้คัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาดก็พอ

7.การเว้นระยะห่าง เว้นตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแพร่โรค

8.มาตรการการรวมกลุ่ม ให้มีการคัดกรอง ATK เฉพาะกรณีสงสัยว่ามีอาการทางเดินหายใจ หรือรวมกลุ่มมากว่า 2 พันคน แจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.รับทราบเพื่อเป็นการเฝ้าระวังการระบาด

8 มาตรการที่ศบค.มีการผ่อนคลายล่าสุด

สั่ง สมช.ปรับแก้กฎหมายเวลาดื่มสุรา-เปิด/ปิดสถานบันเทิง

ประเด็นที่ 3 และ 4 เรื่องดื่มสุราและสถานบันเทิง ที่ประชุมใช้เวลาในการพิจารณากันมากมากพอสมควร เพราะตามข่าวขอเปิดถึงตี 2 เมื่อไปดูกฎหมายแล้ว มีการเชื่อมโยงกฎหมายถึง 3 ฉบับ คือ กฎหมายตามพ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งมีสถานบริการหลายประเภท กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดสถานบริการ พ.ศ.2547 มีการกำหนดโซนนิ่ง เวลาการเปิดปิดก็เหลื่อมกันสูงสุดคือตี 1 แต่สถานที่เต้นรำกำหนดไว้ตี 2 ซึ่งแทบจะไม่มีแล้วสำหรับสถานที่เต้นรำ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2558 เรื่องเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีเวลาเปิดปิดไม่ต่อเนื่อง เวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.

“ที่ประชุมจึงมอบให้ฝ่ายกฎหมาย โดยให้ทางเลขา สมช.ไปหาข้อสรุปมา ขั้นตอนคือไปดูกฎหมายเก่าและมาผ่อนคลายอย่างไร ซึ่งต้องไปผ่านกระบวนการจัดการเรื่องของกฎหมายและเสนอต่อ ครม. เพราะฉนั้นการประกาศพื้นที่และโยงไปถึงมาตรการ 8 ข้อ ท่านนายกฯ ขอให้ทำให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องให้เวลากับคณะทำงานชุดนี้ จึงไม่ได้บอกว่าจะเป็นวันไหน ถ้าให้เร็วคืออยากให้เกิดวันที่ 1 กรกฎาคม แต่ต้องขอเวลาฝ่ายต่างๆ ทำงานให้เต็มที่ก่อน วันเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เมื่อกฎหมายถูกรวบรวมและแก้ไขอย่างถูกต้อง” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

กฎหมายเปิดปิด-เวลาขายสุราในสถานบันเทิง

ยกเลิก Thailand Pass-เงินประกัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรื่องที่ 4 การปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ยกเว้นการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass ทั้งต่างชาติและคนไทย ต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน มีการสุ่มตรวจผู้เดินทาง หากไม่มีเอกสารใด ๆ รับรอง จะดำเนินการตรวจ Professional ATK ที่สนามบิน จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ จะยังคงระบบและเปลี่ยนหน้าที่ของ Thailand Pass สำหรับโควิด-19 เพื่อให้ผู้เดินทางใช้แจ้งรายงานกรณีมีอาการสงสัยโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องรายงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ซึ่งจะครอบคลุมการเดินทางผ่านแดนทางบกด้วย ซึ่งมีทั้งหมด 22 จังหวัด 39 จุดที่เป็นด่านผ่านแดนถาวร

ส่วนเรื่องเงินประกันยกเลิกไม่ต้องกำหนดวงเงิน แต่ส่งเสริมให้มีการซื้อประกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระเมื่อเกิดการเจ็บป่วยในไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบจะประกาศได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

มาตรการการผ่อนคลายเดินทางเข้าประเทศ

สวม/ไม่สวม หน้ากากอนามัย ขอให้เป็นความสมัครใจ

5. เรื่องการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ยังขอให้เป็นความสมัครใจ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 โดยกรมอนามัยจะมีการลงในรายละเอียดที่จะสื่อสารกับประชาชนว่าจะใส่/ไม่ใส่ได้ในพื้นที่ต่าง ๆ หรือกิจกรรมทั้งหลาย จะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

6.เรื่องแนวปฎิบัติการผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ฉบับปรับปรุงที่จะมีการประกาศใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นี้ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กสทช.

และเรื่องที่ 7 การให้บริการเรื่องวัคซีนในเดือนกรฎาคม ซึ่งวัคซีนมีเพียงพอ ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชาน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ให้มารับวัคซีนกันให้มากที่สุดเพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต