พนักงานดารุมะ 50 คน ยื่นขอรับเงินประกันว่างงาน ร้อยละ 50

ลูกจ้าง ดารุมะ ยื่นคำร้อง

รมว.แรงงาน เผยพนักงานร้าน ดารุมะ ซูชิ 50 ราย ยื่นขอรับเงินประกันว่างงาน ร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานไม่จ่ายค่าจ้าง สามารถยื่นคำร้องได้

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ข่าวสดรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างร้านดารุมะ ซูชิ ที่ถูกเลิกจ้างว่า ได้รับข้อสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้คุ้มครองลูกจ้าง ร้านดารุมะ ให้ได้สิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด และให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตรวจสอบและเร่งให้ความช่วยเหลือในทันที

นายสุชาติ ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า ร้านดารุมะ ซูชิ จดทะเบียนในนามบริษัท ดารุมะ ซูซิ จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 87 โครงการ เดอะ แจส รามอินทรา ชั้นที่ 2 ห้องเอ 217 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ ร้านอาหารญี่ปุ่น มี นายเมธา ชสิงสุข เป็นกรรมการ มีลูกจ้าง 71 คน เปิดให้บริการอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งสิ้น จำนวน 27 สาขา

และเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ผู้จัดการสาขาประกาศปิดร้านและเลิกจ้างพนักงาน โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ไปที่สำนักงานใหญ่ แต่ไม่พบบุคคลใด จึงปิดหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงในวันที่ 27 มิถุนายน นี้

สำหรับการให้ความช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงแรงงาน ด้านประกันสังคมนั้น ทางสำนักงานใหญ่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้แก่ลูกจ้างทั้งของสำนักงานใหญ่มี 8 คน และของสาขา 63 คน เบื้องต้นขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนรวม 71 คน ลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแล้ว 71 คน

“เมื่อถูกเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินค่าว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน หากมีลูกจ้างที่สำนักงานใหญ่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะดำเนินการให้นายจ้างยื่นขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และให้นำส่งเงินสมทบเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคม”

“ซึ่งหากมีหลักฐานว่ามีการจ้างงาน มีนิติสัมพันธ์นายจ้าง ลูกจ้างกันจริง เช่น มีสลิปการจ่ายค่าจ้าง หรือหลักฐานอื่น ๆ ก็ถือว่าลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทน เช่น กรณีเลิกจ้าง หากมีหลักฐานว่าทำงานเกิน 6 เดือน ลูกจ้างก็มีเบิกกรณีว่างงานได้ ส่วนเงินสมทบที่นายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่ได้นำส่งเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมจะไปติดตามนายจ้าง และดำเนินการตามกฎหมาย” นายสุชาติ กล่าว

ส่วนการช่วยเหลือด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ เหตุเพราะนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือเป็นการเลิกจ้าง โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง

ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถเข้ามายื่นคำร้อง คร.7 และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546

ด้านนางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดและรองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่มาเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งผู้จัดการร้านนำลูกจ้าง จำนวน 50 คน ยื่นขอรับเงินประกันการว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8

นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ยังได้เปิดรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น เซ็นทรัลรีเทล ไทยเบฟเวอเรจ รวมจำนวนกว่า 1,000 อัตรา เพื่อให้ลูกจ้างได้สมัครงาน และบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วย

ขณะที่ น.ส.อัญพัชร์ ปิยะสถิตโชติ ผู้จัดการทั่วไปร้านดารุมะ ซูชิ ที่นำพนักงานทั้งหมด 50 คน ยื่นขอรับเงินประกันการว่างงาน กล่าวว่า ตนและพนักงานทั้งหมดที่มาในวันนี้ ขอบคุณนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้ใส่ใจในความเดือดร้อนของพนักงานทุกคน พวกเราทุกคนจะไม่ลืมบุญคุณในครั้งนี้