กรมเจ้าท่าชู 5 ยุทธศาสตร์ “พัทยาโมเดล” บูมท่องเที่ยวทะเลไทยรับเปิดเมือง

พัทยา

กรมเจ้าท่าดึง 5 ยุทธศาสตร์ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยทางน้ำ ยกระดับพัทยาโมเดลจัดระเบียบกิจกรรมทางน้ำรับการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ เตรียมขยายผลสู่ท่องเที่ยวทางน้ำทุกพื้นที่ เน้นจัดโซนนิ่ง ควบคุมกิจกรรมให้บริการทางน้ำ

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีด้านปลอดภัย กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายเปิดประเทศพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด กรมเจ้าท่าได้นำยุทธศาสตร์ยกระดับความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่ไทยติดอันดับโลก โดยนำแผนยุทธศาสตร์ในพื้นที่อ่าวพัทยาและเกาะล้าน จ.ชลบุรี สู่การพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบ ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ

ยุทธศาสตร์ 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การจัดระเบียบพื้นที่ทางน้ำ (Zoning) กำหนดขอบเขตการใช้พื้นที่ทางน้ำให้มีความชัดเจนมากขึ้น อาทิ วางทุ่นกำหนดเขตว่ายน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำเป็นการเฉพาะ, วางทุ่นเครื่องหมายจำกัดความเร็วเรือ เพื่อควบคุมพื้นที่การเดินเรือในระดับที่มีความปลอดภัยเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ, กำหนดเส้นทางเดินเรือระหว่างอ่าวพัทยาและเกาะล้าน และกิจกรรมทางน้ำทั้งการให้บริการลากร่ม Banana boat, กำหนดพื้นที่ท่าจอดเทียบเรือให้มีความเหมาะสม

2.กำกับดูแลและควบคุมการจราจรทางน้ำ (Monitoring) อ่าวพัทยาและเกาะล้านมีปริมาณจราจรหนาแน่นสูง ปริมาณเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมเจ้าท่านำเทคโนโลยีมาสนับสนุนโดยมีศูนย์ควบคุมการจราจร สามารถให้คำแนะนำผ่านวิทยุสื่อสารระหว่างเรือ ท่าเทียบเรือ และศูนย์ควบคุมวิทยุโดยตรง

รวมทั้งติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในท่าเทียบเรือและจุดจอดเรือ จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทางน้ำตรวจตราพื้นที่ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจน้ำ, เมืองพัทยา, ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี

และให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ AIS (Automatic Identification System) เพื่อใช้ตรวจจับความเร็วของเรือโดยสารสาธารณะ และตำแหน่งเรือที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที

3.บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพัทยา โดยรณรงค์ความปลอดภัย การประชาสัมพันธ์ การช่วยเหลือกู้ภัย การรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ

4.การรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัย เน้นมาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุมากกว่าการเยียวยา โดยการกำกับดูแลให้ความรู้และฝึกอบรม ผู้ควบคุมเรือ คนเรือ ทั้งเรือโดยสารสาธารณะและเรือส่วนบุคคล โดยการออกใบรับรองการทำงานบนเรือโดยสารสาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องการันตีและสร้างมาตรฐานความปลอดภัย

5.ปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนา โดยกรมเจ้าท่าเร่งยกระดับกฎหมายมาตรฐานเรือ อุปกรณ์เรือ ความรู้ความสามารถผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือ การเพิ่มวงเงินคุ้มครองประกันภัยเรือโดยสาร ครอบคลุมผู้ประสบภัยทางน้ำ