กรมควบคุมโรค ชี้ โควิดรอบนี้ เป็นเพียงการระบาดระลอกเล็ก

กรมควบคุมโรค เปิดทุกข้อสงสัย ผู้ติดเชื้อโควิด BA.4 – BA.5 เพิ่มขึ้น ย้ำไม่ใช่ระลอกใหม่ ให้เรียกว่า “ระบาดเวฟเล็ก” ขอให้มั่นใจระบบสาธารณสุขยังรับได้

วันที่ 5 กรกฏาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการระบาดระลอกใหม่นั้น คงไม่นับว่าเป็นการระบาดระลอกใหม่ เพราะลักษณะการระบาดขณะนี้จะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วแต่สายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป

โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่พบว่ามีการติดเชื้อได้เร็วจริง แต่ความรุนแรงค่อนข้างน้อย ประกอบกับประเทศไทยมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ผู้คนมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น

สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยระบบสาธารณสุขและเสียชีวิตของไทยยังสามารถรับมือผู้ป่วยหนักได้ และที่สำคัญคือเตียงโควิด-19 ที่เคยมีไว้รักษาผู้ป่วยโควิดได้ปรับกลับไปให้ผู้ป่วยโรคทั่วไปแล้ว ทำให้จำนวนเตียงไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนเดิม

ส่วนที่มีข่าวว่าเตียงล้นโรงพยาบาล เท่าที่ตรวจสอบพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการไม่มาก แต่หลายคนขออยู่โรงพยาบาล เพราะมีเรื่องประกันสุขภาพด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ประมาทและมีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาพบมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดอื่นพบปัญหาน้อยมาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงไป มีการให้ตรวจ RT-PCR ในบางกรณี และตรวจ ATK เฉพาะที่มีอาการ จะนิยามการระบาดเช่นนี้ไว้อย่างไร

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า เราจะเรียกว่า “เวฟเล็กๆ”  ซึ่งมีลักษณะระบาดขึ้นลงตามวงรอบ ส่วนหนึ่งมาจากเชื้อกลายพันธุ์ด้วย เชื่อว่าขณะนี้เชื้อกับคนกำลังหาจุดสมดุลกันอยู่ โดยเชื้อกลายพันธุ์อ่อนแรงลงเพื่อให้อยู่กับคนได้ ส่วนคนก็ฉีดวัคซีนแล้ว มีการติดเชื้อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเยอะขึ้นแล้ว เชื่อว่าจุดสมดุลระหว่างคนกับเชื้อโรคน่าจะถึงจุดสมดุลเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าเราก้าวพ้นระยะการระบาดได้

เมื่อถูกตามต่อไปว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายๆคนได้คาดการณ์ตัวเลขติดเชื้อจริงน่าจะมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน จะมีการพิจารณาและเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาปรับแผนรองรับหรือไม่นั้น

นายแพทย์โอภาส บอกว่า ไม่มีใครบอกได้ว่าอัตราการติดเชื้อจะมากถึงขนาดไหน อาจจะมากกว่าตัวเลขที่มี 2 เท่า 3 เท่า 5 เท่า เพราะเราไม่ได้ตรวจ RT-PCR ในทุกคน โดยจะตรวจเฉพาะผู้ที่ต้องเข้ารักษาใน รพ.

ส่วนคนทั่วไปก็ใช้ตรวจ ATK เฉพาะตอนมีอาการ ซึ่งหลายคนอาการน้อย จึงไม่ได้ตรวจเชื้อแล้ว ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องหาจำนวนผู้ติดเชื้อกี่คน ซึ่งทั่วโลกก็ทำเหมือนๆ กัน โดยต่างประเทศก็ไม่ได้ตรวจอะไรแล้ว

ที่สำคัญขณะนี้ ประชาชนที่ติดเชื้อมีความรู้ในการดูแลตัวเอง อยู่บ้านรักษาตามอาการ ซึ่งยืนยันว่า มาตรการฉีดวัคซีนได้ผล เพราะถ้าไม่ได้รับวัคซีนจะต้องมีเหตุการณ์คนล้น รพ.เกิดขึ้นเหมือนช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาด


โดยสธ.จะมีการประชุมกับ ศปก.ศบค.ในข้อมูลต่างๆ นำมาสู่การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะนำเสนอในการประชุม ศบค.ในวันที่ 8 ก.ค.นี้