ยอดผู้ติดเชื้อโควิด สายพันธุ์ BA.4 BA.5 จะเพิ่มมากขึ้น “ดร.เจษฎา” คาด

สายพันธุ์โควิด

“เจษฏา” อาจารย์ จุฬาฯ คาดในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้จะเห็นกราฟการระบาดที่สูงขึ้น แต่ไม่มาก ต้องจับตาการระบาดของสายพันธุ์ย่อยใหม่ BA.4 และ BA.5 ที่กำลังเริ่มแพร่ระบาดในไทยมากขึ้น

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การระบาดของโควิดในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้ จะไม่ได้พุ่งสูงมากเหมือนช่วง 2-3 เดือนก่อน และหลังจากนั้นอาจจะพุ่งสูงขึ้นได้ แต่ยังไม่สูงมาก รวมทั้งอัตราการป่วยปอดอักเสบ-อัตราการเสียชีวิต ก็อาจจะเพิ่ม แต่ก็ไม่มากเช่นกัน

โดย อ.เจษฎา ให้เหตุผลสนับสนุนการคาดการณ์ไว้ 7 ข้อ ประกอบด้วย

กราฟหารระบาดของ โควิด-19

1.ถ้าเราดูกราฟการระบาดของโควิดโอมิครอนในประเทศไทยที่ผ่านมาตลอดครึ่งปี เราจะเห็นว่าแม้หลายคนจะกังวลว่าตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ รวมในแต่ละวัน (เส้นสีฟ้า และเส้นสีส้ม ภาพบน ด้านซ้าย) จะมีค่าน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการตรวจ PCR แต่ละวัน และการแจ้งผลตรวจ ATK

แต่มันก็สามารถเอามาใช้บอก pattern รูปแบบการระบาด และ trend แนวโน้มได้ค่อนข้างดี

ทำให้เราเห็นว่าช่วงหลังปีใหม่นั้น มีการระบาดของเดลต้าเพิ่มขึ้นไม่มาก / แล้วต้นเดือนกุมภาพันธ์ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.1 ก็ค่อยระบาดตามอย่างรวดเร็ว พุ่งขึ้นไปเป็นหลักหลายหมื่นคนต่อวัน (ซึ่งตัวเลขจริง คงทะลุแสนคนต่อวันไปแล้ว) /

และด้วยความที่มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มาระบาดซ้ำ ทำให้การระบาดนั้นยาวนานออกไปกว่าที่ควรจะเป็น กลายเป็นกว่า 3 เดือน (ปรกติจะแค่ 2 เดือน) / ระหว่างที่เป็นช่วงขาลงนั้น ก็มีการระบาดเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงสงกรานต์ /

สุดท้าย เวฟของการระบาดโอมิครอนก็ลงมาพอ ๆ กับจุดเริ่มต้น ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

2.ในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ และผู้เสียชีวิตนั้น (รูปบน ขวา) เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างแม่นยำกว่า (เพราะเกือบทุกราย จะได้รับการแจ้งเข้าสู่ระบบ) และทำให้เราเห็น pattern และ trend ได้ชัดขึ้นอีกด้วย

โดยจะสังเกตเห็นว่า ถ้าเอากราฟของผู้ป่วยปอดอักเสบ (เส้นสีเขียว และสีน้ำตาล ภาพบน ขวา) และผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ (เส้นเหลือง รูปบน ขวา) มาเทียบกับกราฟของผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน

ทั้ง “จุดเริ่มต้นของโอมิครอน” และ “จุดพีกของโอมิครอน” ระหว่างกราฟทั้งสอง จะห่างกันประมาณ 1 เดือน 

3.ถ้าใช้หลักการ “ห่างกัน 1 เดือน” ในข้อ 2. มาดูถึงการระบาดที่เริ่มเพิ่มขึ้นในตอนนี้ ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบก็มีค่าสูงขึ้นแล้ว (ดูที่วงกลมสีเหลืองไว้ ในรูปบน ขวา)

ก็แสดงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนแล้ว ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก็น่าจะเป็นผลจากการเปิดเทอมใหม่ของนักเรียน ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนพอดี แม้ว่ากราฟจะดูไม่ค่อยสูงมากก็ตาม (และแปลว่าตัวเลขจริงของผู้ติดเชื้อในช่วงเดือน มิ.ย. เป็นต้นมา น่าจะสูงกว่าที่ได้รับรายงานจริง ๆ)  

4.แต่ผมคาดว่า ผลของการเปิดเทอม แม้จะชัดเจนจากกราฟทั้งสองว่ามีผลทำให้การระบาดของโควิดสูงขึ้น ไม่ได้น่าจะทำให้เกิดการระบาดหนัก ระดับที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงมากเหมือนเดือนก่อน ๆ น่าจะเป็นแค่พีกเตี้ย ๆ

ที่คิดแบบนั้น เพราะเป็นไปตามธรรมชาติของการระบาดของเชื้อโรค ที่จำนวนผู้มีภูมิคุ้มกันจากโอมิครอน ทั้ง BA.1 และ BA.2 นั้นมีสูงมากแล้ว (จากทั้งการติดเชื้อ และจากการฉีดวัคซีน) จนทำให้กราฟการระบาดเป็นขาลงได้

หรือพูดง่าย ๆ คือ มีระดับของภูมิคุ้มกันหมู่ เพียงพอที่จะยับยั้งการระบาดของโรคได้ตามธรรมชาติแล้ว (แม้จะไม่ได้มากขนาด 100% จนโรคหยุดระบาดเลย)

5.ดังนั้นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ เราก็น่าจะเห็นกราฟการระบาดที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้สูงชันนัก … ประเด็นที่ต้องจับตามากกว่า คือการมาถึงของสายพันธุ์ย่อยใหม่ BA.4 และ BA.5 ที่กำลังเริ่มแพร่ระบาดในไทยมากขึ้น

ตามที่ข่าวล่าสุดบอกว่า ตอนนี้ได้เพิ่มอัตราส่วนขึ้นมาเป็นประมาณ 50% ของผู้ติดเชื้อแล้ว โดยเข้าแทนที่ BA.2 ที่เป็นตัวหลัก (ดูข่าวด้านล่าง)

ก็แสดงว่าในอีก 2-3 สัปดาห์จากนี้ BA.4/5 จะกลายเป็นตัวการที่ทำให้กราฟการระบาดของโควิดพุ่งสูงขึ้นได้ เนื่องจากคนไทยยังมีระดับของภูมิคุ้มกันหมู่ต่อสายพันธุ์นี้ น้อยกว่า BA.1 และ BA.2 และสามารถจะติดเชื้อได้ โดยเฉพาะในคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย หรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่ม

6.แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูประเทศ “แอฟริกาใต้” เป็นโมเดล (รูปด้านล่าง) เราจะเห็นว่า เวฟของการระบาดของ BA.4/5 นั้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำลงมากว่าของ BA.1 มาก และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตก็น้อยกว่ามาก

ซึ่งแอฟริกาใต้ ไม่ค่อยมีสายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดเหมือนกับไทยเราด้วย ถ้ามี BA.2 นำมาก่อน ก็น่าจะมีการระบาดของ สายพันธุ์ BA.4/5 น้อยลงไปอีก (note สายพันธุ์ BA.4/5 นั้นวิวัฒนาการกลายพันธุ์มาจาก BA.2 จึงเชื่อกันว่าคนที่เคยติดเชื้อ BA.2 แล้วก็น่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อ BA.4/5 ในระดับหนึ่ง)

7.สรุป ๆ คือ ผมคิดต่างกับหลาย ๆ ท่าน โดยไม่คิดว่าการระบาดของโควิดโอมิครอน เวฟย่อย ๆ ที่เรากำลังจะเจอนี้ จะเป็นเวฟที่อันตรายร้ายแรงกว่าเดิม แต่น่าจะเบากว่าเดิมด้วยซ้ำ … 

จนกว่าเราจะเจอโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิม และน่ากังวลมากกว่าโอมิครอน ซึ่งก็ยังไม่มีใครทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร