หมอรังสฤษฎ์ ไม่เห็นด้วย สธ.โต้ฝ่ายค้านปมวัคซีนไขว้ แนะบอกเหตุผลตรง ๆ

ภาพจากเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit

“หมอหม่อง” ชี้ ไม่เห็นด้วยกับอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอบฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจวัคซีนสูตรไขว้ว่าโง่ แนะรัฐบาลควรอธิบายถึงเหตุผลที่แท้จริง 

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ข่าวสด รายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ออกมาชี้แจงกรณีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้

โดย นพ.ศุภกิจ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า กรณีที่มีการอภิปรายว่าการไขว้วัคซีน คือเข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า งานวิจัยยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่กำลังส่งตีพิมพ์ ฉะนั้นการบริหารในสถานการณ์เช่นนี้ หากรอให้มีการตีพิมพ์งานวิจัยก่อน แล้วถึงนำมาบริหารจัดการ ถือว่าโง่มาก

ถามว่าทำไมเราถึงยังต้องซื้อวัคซีนซิโนแวค ก็สามารถตอบกลับได้ง่าย ๆ ว่า ผลวิจัยบอกว่าการสู้กับเดลต้าในปัจจุบันนั้น การใช้ซิโนแวค 1 เข็มบวกแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ให้ผลพอกับการฉีด แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

“หากจะรอแค่แอสตร้าฯ อย่างเดียว ต่อให้ได้มาเดือนละ 10 ล้านโดส ก็สามารถฉีดได้แค่เดือนละ 5 ล้านคน แต่หากฉีดแบบไขว้ จะสามารถฉีดคนได้มากกว่าเดิมสองเท่า นี่เป็นตรรกะพื้นฐานง่าย ๆ หากคิดไม่ออก ผมก็ไม่รู้ว่าจะบริหารบ้านเมืองไปได้อย่างไร”

ล่าสุด วันนี้ (2 ก.ย.) นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ระบุว่า กรณีนโยบายวัคซีนไขว้ ผมไม่เห็นด้วยกับการต่อว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ว่าเป็นคนโง่

รัฐบาลมองว่า หากจะออกนโยบายใหญ่เร่งด่วน โดยมานั่งรอหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ย่อมช้า ไม่ทันการ ถึงแม้ผมจะเชื่อว่า วิธีนี้ (วัคซีนไขว้) มีเหตุผล มีที่มาที่น่ารับฟังทางวิทยาศาสตร์ และ ผมสนับสนุนให้ประชาชนทุกคน รับวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้โดยไม่รีรอ เพราะสถานการณ์มันวิกฤตเกินกว่าที่คิดไปเป็นอย่างอื่น (ข้อความนี้ ขีดเส้นใต้ 3 เส้น)

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ แพทย์ นักวิชาการหลายคนกังวลคือเราได้ตัดสินใจ เดิมพันครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณหลายพันล้านและชีวิตของผู้คน ตลอดจนโอกาส ในการเปิดเศรษฐกิจของประเทศบนฐานข้อมูล ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่คน และเป็นข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ดูระดับภูมิต้านทาน เป็น surrogate ของประสิทธิภาพวัคซีน

มันไม่ใช่การศึกษา randomized control trial เพื่อดูประสิทธิภาพของ วิธีฉีดไขว้แบบนี้ เทียบกับวิธีปกติ เป็นแบบ phase 3 clinical study ในประชากร ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่ ยา หรือวิธีการรักษาใหม่ (แม้จะเป็นยาเก่า) ทุกอันต้องผ่าน ก่อนนำมาใช้จริง เรา เดิมพันว่ามันจะดี จากหลักฐานเท่าที่มี โดยเฝ้ารอดู “real world effectiveness” แทนข้อมูล phase 3

หากเราสำเร็จ เราจะสร้างแนวทางใหม่ ที่นานาชาติ ต้องหันมามองชื่นชม และอาจพิจารณาทำตาม แต่หากเราล้มเหลว แพ้การเดิมพันครั้งนี้ เราจะถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครคิดจะทำแบบเรา คนที่กังวลเรื่องนี้ ไม่น่าถูกประณามว่า เป็นคนโง่ นะครับ รัฐควรอธิบายเหตุผลหลักที่แท้จริง ที่เราไม่สามารถดำเนินการตามแผนเดิมที่จะให้ Astra Zeneca ปกติ 2 เข็ม เป็นวัคซีนหลักได้นั้น ก็เพราะ โรงงานในไทย ที่เราหวังพึ่งพา ไม่อาจผลิตวัคซีนได้พอ ได้ทันตามเป้าหมาย

อีกทั้งสัญญาที่เราทำไว้กับบริษัท AZ นั้น เราไม่อาจไปเร่งรัด เอาความใด ๆ กับเขาได้ ผมเองขอสงวนสิทธิ์ไม่ตอบโต้ ต่อว่า คนออกนโยบายนี้ว่า โง่เพราะในสถานการณ์เร่งด่วนและทรัพยากรจำกัดแบบนี้ผู้บริหารจำเป็นต้องหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุด

แต่ผมอาจเรียกว่า ความประมาท ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลอธิบายตามเหตุผลตรง ๆ น่าจะเป็นสร้างความเชื่อมั่นที่แท้จริงให้กับประชาชนได้มากกว่าครับ