เก็บภาษีที่ดิน : กทม.-กรมบังคับคดี เชื่อมข้อมูลบุคคลล้มละลาย

กทม. ผนึกกำลัง กรมบังคับคดี เชื่อมโยงข้อมูลเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีที่ดิน

กรุงเทพมหานครและกรมบังคับคดีได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลายระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ กรมบังคับคดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรุงเทพมหานคร

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลายระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ กรมบังคับคดี โดย นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี โดยมี ผู้บริหารกรมบังคับคดี นายปิยะ พูดคล่อง ผู้อำนวยการสำนักการคลัง และผู้บริหารสำนักการคลัง กทม. ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

รองปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวว่า ขอขอบคุณกรมบังคับคดีที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของข้อมูล และได้ให้กรุงเทพมหานครเข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายร่วมใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครในภาพรวม ซึ่งตรงตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทำงานเพื่อประชาชนในทุกรูปแบบและทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่องของการเชื่อมร้อยข้อมูลต่าง ๆ

เรื่องของระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการเพื่อให้หน่วยปฏิบัติ หรือ 50 เขต ใช้ดำเนินการจัดเก็บจากภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร ทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้สูญเสียรายได้ที่จะนำมาพัฒนาเมืองให้มีคุณภาพ จากนี้ไปการพัฒนาเมืองภายใต้ความร่วมมือกับกรมบังคับคดี จะทำให้กรุงเทพมหานครมีฐานข้อมูลสำคัญและส่งผลให้เกิดการจัดเก็บรายได้ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

กทม. ผนึกกำลัง กรมบังคับคดี เชื่อมโยงข้อมูลเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีที่ดิน

ตามที่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 โดยให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายดังกล่าว จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร

ประกอบด้วย ข้อมูลที่ดินประมาณ 2,800,000 แปลง ข้อมูลสิ่งปลูกสร้างประมาณ 2,100,000 หลัง และห้องชุดประมาณ 900,000 ห้องชุด โดยข้อมูลดังกล่าวต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการตามขั้นตอนการจัดเก็บภาษี

ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดทำบัญชีรายการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดทำและประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีและรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษี

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำโครงการจัดทำระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่การสำรวจจนถึงกระบวนการยึด อายัด ทรัพย์สิน และพัฒนาระบบบริหารงานด้านการสำรวจ ระบบบริหารจัดการภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร

ระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบบให้บริการตรวจสอบข้อมูล ระบบภาษีป้าย ระบบบริหารจัดการลูกหนี้ และระบบบริหารใบเสร็จรับเงิน เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการและจัดเก็บภาษี และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสารสนเทศอื่น ๆ ทั้งหน่วยงานภายนอกและภายในของกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการคลัง ยังได้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้ล้มละลาย อันถือเป็นข้อมูลสาธารณะสามารถเปิดเผยได้เนื่องจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งปัจจุบันกรมบังคับคดีได้เผยแพร่ข้อมูลของบุคคลล้มละลายให้ประชาชนทั่วไปทำการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี


แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่เกิดความคล่องตัวในการทำงานตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานระหว่างภายใต้กรอบอำนาจตามกฎหมายของทั้งสองฝ่าย จึงได้ตกลงร่วมกันในการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้