โปรไบโอติกส์ เสริมภูมิคุ้มกันให้ไก่-หมู ส่งต่ออาหารปลอดภัยสู่มนุษย์

เป็นที่ทราบกันดีว่า โปรไบโอติกส์ มีคุณสมบัติสามารถช่วยให้ร่างกายคนมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น การเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพแข็งแรงโดยเสริมภูมิต้านทานด้วยโปรไบโอติกส์ก็ย่อมทำได้เช่นกัน เป็นที่มาของนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์ของ ซีพีเอฟ หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของไทยที่ลงมือคิดค้นการเลี้ยงสัตว์ด้วยจุลินทรีย์ที่ดี เพื่อตอบโจทย์สุขภาพของผู้บริโภค ภายใต้แนวคิดการผลิตอาหารปลอดภัย โดยให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ โดยนำนวัตกรรม “โปรไบโอติกส์”มาใช้ในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย และไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

โดยบริษัทฯ เริ่มศึกษาผลของการใช้โปรไบโอติกส์ในปศุสัตว์ ด้วยการเก็บตัวอย่างจากทางเดินอาหารของไก่เนื้อทั่วประเทศ ต่อมาจึงขยายผลการศึกษาไปยังสุกร เพื่อสร้างฐานข้อมูลจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของปศุสัตว์ของซีพีเอฟ จากนั้นจึงทำการคัดเลือกสายพันธุ์ของโปรไบโอติกส์ที่เหมาะสม ด้วยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกอย่าง Elanco, Dupont, Chr. Hansen และ Adisseo เพื่อพัฒนาและคิดสายพันธุ์โปรไบโอติกส์ที่แข็งแรงที่สุด ตลอดจนเหมาะสมกับสายพันธุ์ไก่และสุกรของซีพีเอฟที่สุด

การคัดโปรไบโอติกส์จาก 125,000 สายพันธุ์ นำมาสู้กับเชื้อโรคกว่า 1,200 ชนิดที่เก็บเชื้อมาจากฟาร์มทั่วประเทศ จนได้โปรไบโอติกส์ที่แข็งแรงที่สุดเพียง 9 สายพันธุ์มาผสมในอาหารสัตว์ทำให้ไก่-หมูมีสุขภาพดี แข็งแรงตามธรรมชาติ สร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน เมื่อไก่แข็งแรงตามธรรมชาติ ไม่ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งโตตลอดการเลี้ยงดู ปลอดสารปลอดภัย กลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ส่งผลดีไปยังสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

หลักการทำงานของโปรไบโอติกส์จะเข้าไปช่วยผลิตเอ็นไซม์ย่อยอาหารในลำไส้ของสัตว์ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรจุลินทรีย์ให้มีจุลินทรีย์ที่ดีในทางเดินอาหาร สุดท้ายก็เกิดสมดุลในร่างกาย เนื่องจากเมื่อสัตว์เกิดอาการป่วยและท้องเสีย มักมีสาเหตุมาจากการที่สัตว์มีจุลินทรีย์ชนิดที่สร้างสารพิษในลำไส้เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น การสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารด้วยโปรไบโอติกส์จึงเป็นการลดจำนวนจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดสารพิษ และสร้างภูมิคุ้มกันจากภายในให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลดปัญหาเชื้อดื้อยาลงด้วย


การนำโปรไบโอติกส์มาใช้ในภาคปศุสัตว์จึงมีประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคที่พบในฟาร์ม การช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ให้ทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพของสัตว์ในฝูงดีขึ้น เช่น ลูกไก่แรกเกิดจะมีจุลินทรีย์จากสิ่งแวดล้อม เช่น อีโคไล ซาโมเนลลา ซึ่งถือว่าเป็นชนิดที่ไม่มีประโยชน์ และต้องใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์กว่าเชื้อเหล่านี้จะหมดไป แต่การนำโปรไบโอติกส์ที่ถูกชนิดมาใช้อย่างเหมาะสม สามารถช่วยกำจัดเชื้อและลดระยะเวลาลงได้ ตลอดจนช่วยย่อยกากใยที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึม รวมถึงลดปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้ยา นวัตกรรม และการวิจัยพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์ม ไปจนถึงอาหารมนุษย์ ภายใต้แนวคิด “กินอาหารให้เป็นยา (Food as a Medicine)” นี้ สอดรับกับนโยบายหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)ซึ่งนำไปสู่การผลิตอาหารปลอดภัยที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
สำนักวิชาการอาหารสัตว์
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)