
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของรัฐบาลว่า ประเทศไทยห่างหายจากการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานไปนาน หลังโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT และสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2549 ซึ่งรัฐบาลจะเข้ามาขับเคลื่อนให้แผนงานต่างๆเป็นรูปธรรม
โดยแผนการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าใน กทม. ได้วางแผนไว้ว่า จะต้องมีความยาวทั้งระบบ 464 กม. ขณะนี้มีเพียง BTS สายสีเขียวต่อขยาย, MRT สายสีม่วง และสายสีม่วง เท่านั้นที่พร้อมให้บริการ รัฐบาลจึงมีความต้องการที่จะพัฒนาให้ครบตามแผน
โดยเริ่มทำแผนแม่บทของรถไฟในกทม.ให้ครบทั้งสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี), สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง), สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) , สายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) , สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) และสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) โครงการทั้งหมดนี้จะสามารถอนุมัติให้ครบทั้งหมดได้ภายในปี 2561
ความคืบหน้าของโครงการล่าสุดจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้นจะมีทั้งสิ้น 7 เส้นทาง 8 โครงการ รวมระยะทาง 87.6 กม. ได้แก่ สายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน, สายสีน้ำเงินสายต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนนท์ ส่วนแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์จะนำไปรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เพิ่งเห็นชอบไป
ส่วนสายเขียวเข้ม คูคต – ลำลูกกาคลอง 5 และ สมุทรปราการ – บางปูจะชะลอไปก่อน เพราะยังอยู่ในระหว่างเจรจาในส่วนต่อขยายหมอชิต – คูคต และสำโรง – สมุทรปราการ ที่จะถ่ายโอนให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบ โดยรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อนจะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ประมาณเมษายนนี้
ขณะที่ความคืบหน้าของตั๋วร่วม หรือ บัตรแมงมุม ตอนนี้น่าจะได้ของแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ก่อน และกำลังเจรจากับสายสีม่วง แต่ต้องเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะเอกชนที่ร่วมดำเนินการก่อน เอกชนต้องลงทุนในส่วนของเครื่องอ่านบัตรด้วย
ส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟทางคู่ ปัจจุบันมีแค่ 9% ของโครงข่ายรถไฟทั้งหมดของประเทศ รัฐบาลกำลังดำเนินการให้รถไฟทางคู่มีเพิ่มขึ้นเป็น 33% โดย Action Plan ของปี 2559-2560 มี 5 เส้นทาง ที่เริ่มดำเนินการอนุมัติแล้ว ได้แก่ 1. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. 2. ลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. 3. มาบกะเบา – ชุมทางจิระ ระยะทาง 132 กม. 4. นครปฐม – หัวหิน ระยะทาง 169 กม. และ 5. หัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่อีก 9 โครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2560 ได้แก่ 1. ปากน้ำโพ – เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. 2. ชุมทางถ.จิระ – อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. 3. ขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. 4. ชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. 5. สุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ ระยะทาง 321 กม. 6. หาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. 7. เด่นชัย – เชียงใหม่ 8. เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 326 กม. และ 9. บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กม. ซึ่งในช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือนเมษายนนี้ ส่วนช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม และ ช่วงจิระ – อุบลราชธานี จะสามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ประมาณพฤษภาคมนี้
ขณะที่รถไฟความเร็วสูงนั้น มีทั้งหมด 2,506 กม.ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – โคราช เริ่มก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โครงการนี้เหลืออีก 13 ตอน ในตอนที่ 2 ของโครงการอยู่ในระหว่างรอประเทศจีนตรวจสอบแบบแพลน คาดไม่เกิน 2 เดือนจะสามารถดำเนินการก่อสร้างตอนที่ 2 ได้ ที่เหลือต้องรอทางจีนส่งแบบมาให้ทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายนนี้
โดยวิธีดำเนินการจะเหมือนกับโครงการรถไฟทางคู่ ขณะที่อีกช่วงที่ 2 โคราช – หนองคาย เบื้องต้นทางไทยจะเป็นผู้ออกแบบเองตลอดเส้นทาง เพราะมีรายงานการศึกษาอยู่แล้ว อีกทั้งทางจีนก็ไม่ได้ข้องใจอะไรและจะให้ทางจีนเป็นพี่เลี้ยงด้วย ส่วนจะเริ่มสร้างเมื่อไหร่นั้น ขอเวลา 6-8 เดือนในการออกแบบก่อน ขณะที่สะพานเชื่อมต่อไทย – ลาวนั้นก็น่าจะใช้เวลาหารือกัน 30 เดือนในการหารือกับทางลาวและกัมพูชาในการหาตุดก่อสร้างและออกแบบ
ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่นั้น ระยะเเรก กรุงเทพฯ – พิษณุโลก อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนระยะที่ 2 พิษณุโลก – เชียงใหม่ ก็ได้ขอให้ทางญี่ปุ่นเป็นพี่เลี้ยง ส่วนไทยจะเป็นผู้ออกแบบเอง คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในเดือนมีนาคมนี้
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น คณะกรรมการ นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้ดูแล คาดว่าจะออกเอกสาร TOR ได้ภายในเดือนเมษายน – พฤษภาคมนี้ และประมาณมิถุนายน – กรกฎาคมจะสามารถประกวดราคาต่อไป