เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ระงับกระบวนการประกวดราคา และการทำสัญญาขายข้าวให้กับผู้ที่ชนะการประมูล รวมถึงการเปิดประมูลข้าวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมครั้งที่ 2/2560 เป็นไปตามคำร้องของ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 คต. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งฯโดยชี้แจงในประเด็นการให้ บริษัทที พี เค เอทานอล “ขาดคุณสมบัติ” ในการเสนอซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐบาลนั้น “เป็นการชอบด้วยกฎหมาย” เนื่องจากเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ นบข. ซึ่งที่ผ่านมา กรม ได้ดำเนินการประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลผ่านมาแล้ว 27 ครั้งไม่ปรากฏปัญหาข้อร้องเรียนหรือข้อโต้แย้งในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายมาก่อน อีกทั้งการออกคำสั่งทางปกครองก็เป็นไปตามตามกระบวนการทางปกครองที่เปิดให้บริษัทอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอนปกติ แต่บริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลก่อนที่กระบวนการอุทธรณ์จะสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ การขาดคุณสมบัติเกิดจากมีกรรมการนิติบุคคล 2 รายในบริษัทนี้ เป็นจำเลยกระทำผิดสัญญาโครงการรับจำนำมันสำปะหลังปี 2536-2537 ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำเลยชดใช้หนี้พร้อมดอกเบี้ยให้กรมแต่ทั้งสองรายยังไม่ได้ชำระ จึงเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์คุณสมบัติตามทีโออาร์ที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยติดแบล็กลิสต์ เช่น มีพฤติกรรมละทิ้งการทำสัญญา หรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 เข้าร่วมประมูล อีกทั้ง ทางด้านบริษัทที พี เค เอทานอล เป็นบริษัทเป็นผู้ผลิตเอทานอลโดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักและไม่เคยใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบมาก่อน ดังนั้นการเข้าร่วมประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลจึงเป็น “ทางเลือก” เท่านั้น ดังนั้น การอ้างความเสียหายร้ายแรงเกินเยียวยาเป็นเพียงการคาดการณ์ของบริษัท และบริษัทสามารถหาวัตถุดิบอื่นผลิตแทนได้ หรือหากเกิดความเสียหายจริง ทางบริษัทสามารถขอรับการเยียวยาได้
และเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดบริษัทมายื่นประมูลข้าวกลุ่มที่ 2 หรือข้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคน (แต่ใช้ทำอาหารสัตว์ได้) เพื่อนำข้าวกลุ่มนี้ไปใช้ในการผลิตเอทานอล ทั้งที่ควรยื่นซื้อข้าวกลุ่มที่ 3 หรือข้าวสภาพเสื่อมที่สุดเหมาะจะใช้ผลิตเป็นเอทานอลมากกว่า
ในทางกลับกัน การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการทำสัญญาซื้อขายข้าวกลุ่มที่ 2 กับผู้ชนะการประมูลไปแล้วอีก 16 ราย ปริมาณ 2.07 ล้านตัน และระงับการประมูลขายข้าวกลุ่มที่ 3 รอบ 2 กว่า 530,000 ตันที่เหลือนั้น จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างรุนแรงในวงกว้าง อาทิ เกิดภาระค่าเก็บรักษาข้าวเหล่านี้วันละ 5 ล้านบาท รวมทั้งค่าข้าวที่รอการทำสัญญาอีก 11,376 ล้านบาท “ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการข้าวของ คสช./นบข.” ที่ตั้งเป้าหมายจะระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี (ส.ค. 2557 – ก.ค. 2560)
“ข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลนั้นเป็นตัวกดดันราคาข้าวในตลาด หากไม่สามารถระบายตามแผนก็จะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาดข้าวอย่างรุนแรง เพราะ ข้าวเปลือกนาปี ปี 2560/2561 กำลังจะออกสู่ตลาด ซึ่งมีผลให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำลงกระทบเกษตรกร สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐต้องเสียงบประมาณในการเข้าไปช่วยเหลืออีกมหาศาล ไม่นับรวมผลกระทบกับสิทธิของผู้ชนะการประมูล อีก 16 รายที่ไม่ใช่คู่กรณีด้วย”
นายโกสินทร์ จงพัฒนาสมบัติ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทแสงฟ้า ซึ่งเป็น 1 ใน 16 บริษัทที่ชนะการประมูลให้ความเห็นว่า บริษัทต้องทำสัญญากับกรม ภายใน 15 วันนับจากที่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือประมาณกลางเดือนนี้ แต่หากกรมชะลอการสัญญากับบริษัทนานกว่ากำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะส่งผลต่อแผนการผลิตและแผนการทำตลาดที่วางไว้ว่าจะนำข้าวไปปรับปรุงและจำหน่ายให้โรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มปีละ 200,000 ตันเป็นเวลา 5 ปี “บริษัท ยังขอยืนราคาที่เสนอซื้อข้าวลอตนี้ ขอเพียงอย่างเดียวอย่ายกเลิกผลการประมูล”
โดยวงการค้าข้าวเองก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นว่าเหตุใดจึงมีผู้สนใจยื่นขอประมูลข้าวเสื่อมสภาพของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ส่งออก-โรงสีถึงขนาดยื่นขอใบอนุญาตประกอบโรงงานที่ไม่ใช่อาหารคนเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ TOR
“ไม่ใช่ว่า ต้องการตุนสต๊อกวัตถุดิบราคาถูก แต่เป็นเพราะข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล 18 ล้านตันนั้น แม้จะถูกแยกเป็นข้าวเกรดต่าง ๆ คือ เกรด P A B C และข้าวเสื่อม แต่ในวงการมั่นใจว่า ข้าวอาจจะไม่ได้เสื่อมทั้ง 100% แต่สามารถคัดแยกข้าวดีออกจากข้าวเสื่อมได้ และนำมาทำกำไรต่อได้สูงกว่าราคาประมูลเป็นเท่าตัว เช่น ประมูล กก.ละ 2-3 บาทอาจขายได้ถึง กก.ละ 8-9 บาท”