โพรไบโอติก จุลินทรีย์มีประโยชน์ เสริมสร้างเกราะป้องกัน ให้ร่างกายแข็งแรง

“โพรไบโอติก” (Probiotic) ไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด แต่อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักและเข้าใจอย่างกว้างขวางมากนักในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้คำจำกัดความว่าโพรไบโอติก คือจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่มีการยอมรับในระดับสากลและใช้อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

ในร่างกายของคนจะมีจุลินทรีย์จำนวนมหาศาลทั้งชนิดที่มีประโยชน์และจัดเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่น (normal flora) รวมทั้งชนิดที่มีโทษ โดยมีโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีอยู่ในระบบทางเดินอาหารของเรา ซึ่งจำนวนและชนิดของจุลินทรีย์ที่พบในร่างกายแต่ละคนจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม อาหารที่บริโภค พฤติกรรมการใช้ชีวิต อายุและสภาพร่างกาย นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเป็นเวลานาน จะส่งผลให้จุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ลดลง จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายจึงอาจฉวยโอกาสโจมตีได้ ส่งผลกระทบต่อร่างกายทำให้ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย บกพร่องในการดูดซึมสารอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง

โพรไบโอติกมีคุณสมบัติ ช่วยปรับสมดุลของลำไส้ โดยสร้างสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และต้านการอักเสบ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงมักนำมาใช้ลดอาการหรือบรรเทาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ นอกจากนี้ มีงานวิจัยรายงานถึงการเชื่อมโยงระหว่างจุลินทรีย์โพรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารและโรคต่างๆ พบว่า จุลินทรีย์บางสายพันธุ์สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ โดยต้องผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์ ทดสอบคุณสมบัติ และทำการทดลองก่อนนำมาใช้จริง ขณะเดียวกัน “พรีไบโอติก” (Prebiotic) มักถูกพูดถึงร่วมกับโพรไบโอติก ซึ่งพรีไบโอติกไม่ใช่จุลินทรีย์ แต่เป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของโพรไบโอติกในลำไส้ใหญ่ คนหรือสัตว์จะไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมได้โดยตรง พรีไบโอติกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Functional Food) พบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น กระเทียม หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต กล้วย แอปเปิล และเมล็ดธัญพืชบางชนิด เป็นต้น

สำหรับการทานผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติกอย่างต่อเนื่องคงไม่เป็นที่น่ากังวล เนื่องจากจุลินทรีย์โพรไบโอติกมีอายุที่จำกัด หากทานเข้าไปร่างกายจะขับถ่ายออกมาได้ด้วย ยกเว้นกรณีคนที่มีอาการแพ้อาหารหรือส่วนประกอบอื่นในผลิตภัณฑ์ร่วมด้วย เช่น บางคนแพ้นมวัวซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทานโพรไบโอติก หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน

ปัจจุบัน มีการนำโพรไบโอติกมาใช้ในปศุสัตว์ โดยการใส่ในอาหารสัตว์เพื่อช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งวิธีนี้ส่งผลดีใน 3 มิติด้วยกัน มิติแรก คือ สัตว์จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ลูกสุกรหลังหย่านมมีอัตราเจ็บป่วยและตายน้อยลง อัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าปกติ น้ำหนักเฉลี่ยต่อวันดีขึ้น มิติที่สองคือ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ได้เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคและสามารถส่งออกจำหน่ายได้ในต่างประเทศ มิติสุดท้าย คือ ระบบนิเวศ เมื่อไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะส่งผลให้ไม่มีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะมาจากมูลสัตว์หรือการทำความสะอาดซึ่งอาจมีการปนเปื้อนได้ และลดโอกาสในการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ดังนั้น ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ควรใช้โพรไบโอติกอย่างถูกวิธี มีการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างเหมาะสม มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีระบบการขนส่งที่ดีเพื่อให้คงคุณสมบัติของโพรไบโอติกมีชีวิตตลอดอายุผลิตภัณฑ์ส่งจนถึงมือผู้บริโภค

ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีจุลินทรีย์โพรไบโอติกถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด มีคุณภาพ ปลอดภัย อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญและเป็นการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของทุกคน

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง

ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร 

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) 


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)