สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน “ฝีหนอง-เข็ม” ในเนื้อหมูไม่น่ากังวล แนะเลือกซื้อจากแหล่งน่าเชื่อถือ

ปัจจุบันยังคงมีข่าวในสังคมออนไลน์กรณีผู้บริโภคพบฝีหนองอยู่ในเนื้อหมูหรือบางครั้งอาจพบเข็มฝังคาอยู่ แต่การพบเข็มนั้นมีโอกาสน้อยและเป็นไปได้ยากมากในการผลิตสุกรของฟาร์มมาตรฐานที่มีการป้องกัน และการตรวจสอบอย่างเข็มงวด ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่องการพบเจอฝีหนองหรือเข็มคาอยู่ในเนื้อหมูนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตรายจนน่ากังวลสำหรับผู้บริโภค

ด้วยความที่ฝีหนอง “ไม่ใช่โรคติดต่อ” ที่จะส่งผลกระทบให้สุกรป่วยหนักหรือแพร่เชื้อกระจายสู่คน จึงไม่อันตรายต่อผู้บริโภค เพื่อให้ทุกคนคลายกังวลและเห็นภาพชัดยิ่งขึ้นจึงขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับร่างกายมนุษย์ ในบางครั้งหากเราไม่ได้รักษาความสะอาด ขาดสุขอนามัยร่างกายที่ดี อาจทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียและก่อให้เกิดฝีหนอง หรือสิวได้ เช่นเดียวกับสุกรในฟาร์มที่เลี้ยงภายในคอกย่อมมีเชื้อแบคทีเรียตามพื้นคอกบ้าง ร่วมกับการมีร่องรอยจากบาดแผลที่ผิวหนัง หรือการฉีดวัคซีน หรือฉีดยารักษาสุกร ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้สุกรติดเชื้อแบคทีเรียทั่วๆไป เมื่อได้รับเชื้อกลไกของร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อเส้นใย (fibrous tissue) ซึ่งมีหน้าที่ห่อหุ้ม ปกป้องไม่ให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายออกไป หลังจากนั้นจะมีเม็ดเลือดขาว เข้ามาทำหน้าที่ทำลายเชื้อจนหมด แต่อาจเหลือเศษเซลล์เนื้อเยื่อที่ทำให้เกิดฝีหนอง จนกลายเป็นก้อนตุ่มนูนขึ้น

กรณีของการพบเข็มคาอยู่ในเนื้อหมู เกิดจากการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่เหมาะสม ในช่วงที่สุกรต้องรับยาเพื่อรักษา หรือรับวัคซีน เช่น การใช้ขนาดเข็มที่ไม่เหมาะสมกับขนาดตัวสุกร อาจทำให้เกิดกรณีเข็มหักฝังคาอยู่บริเวณกล้ามเนื้อคอสุกร หรือการใช้เข็มที่ทื่อ ก็อาจจะส่งผลให้เข็มหักได้เช่นกัน แต่โอกาสที่จะพบเข็มฝังคาอยู่จนถึงขึ้นตอนการจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคนั้นเป็นไปได้น้อยมากๆ เนื่องจากปัจจุบัน ฟาร์มที่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่จะมีระบบการป้องกัน เช่น การนับจำนวนเข็มในการเบิกและคืนหลังการใช้งาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเข็มฉีดยาหายไประหว่างการปฏิบัติงาน บางฟาร์มเลือกใช้นวัตกรรมการฉีดวัคซีนแบบไม่ใช้เข็ม (needle free) และการสแกนหาโลหะในเนื้อหมูระหว่างขั้นตอนที่โรงเชือด ทั้งนี้ หากเกิดกรณีเข็มหักคาที่ตัวสุกร เจ้าหน้าที่ของฟาร์มจะต้องทำสัญลักษณ์เพื่อคัดแยก เป็นการป้องกันการจำหน่ายสุกรตัวดังกล่าวออกไป

สำหรับหลักการที่ฟาร์มปศุสัตว์ควรพึงปฏิบัติมีดังนี้ 1) มีการทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อรักษาความสะอาดของตัวสุกร โดยเฉพาะในช่วงอายุที่สุกรต้องมีการทำวัคซีน เพื่อเป็นการลดโอกาสในการติดเชื้อ 2) เลือกใช้เข็มอย่างเหมาะสม เพราะหากใช้เข็มขนาดใหญ่กับสุกรตัวเล็ก เมื่อปักเข็มแล้วจะเกิดรูแผลที่ใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา หรือเกิดการหักคาของเข็มระหว่างการฉีด 3) ตำแหน่งในการฉีด ควรเลือกบริเวณกล้ามเนื้อตรงคอ จะทำให้การดูดซึมยาหรือวัคซีนได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลฝีหนองได้ 4) ฝึกฝนผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ และมีความชำนาญ

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่จะเป็นการลดการเกิดปัญหาต่างๆ คือการดูแลสุกรตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งในเรื่องคุณภาพอาหาร น้ำ สภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้สุกรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย ซึ่งจะส่งผลถึงการลดการฉีดยา ปัญหาฝีหนอง และเข็มหักคา ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในการเลือกซื้อผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกของเนื้อหมู ควรเป็นสีชมพูธรรมชาติ สีไม่แดงเข้มหรือซีด ไม่มีลักษณะเป็นฝีหนองหรือตุ่มนูนขึ้นมา ไม่มีกลิ่นเหม็น หรือเมือก สิ่งสำคัญคือควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากสถานที่จำหน่ายที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ หรือสังเกตตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งเป็นการการันตีว่าเนื้อหมูนั้นมีคุณภาพ มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และมีการควบคุมดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคพบฝีหนองหลังจากที่ซื้อเนื้อหมูมาแล้ว ควรตัดส่วนนั้นทิ้ง หรือหากฝีหนองกระจายเป็นวงกว้างก็ควรทิ้งทั้งชิ้นเพื่อความปลอดภัย ร่วมกับการปรุงอาหารที่สุก นั่นเป็นวิธีการที่ทุกท่านจะปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อหมูอย่างแน่นอน

ผศ.น.สพ.ดร อลงกต บุญสูงเนิน

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์