กรมปศุสัตว์ ชูสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อสุขภาพที่ดีของคนและสัตว์

กระแสความสนใจกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิกฤตที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติ ได้ขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวบนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้คนทั่วโลก

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่แสดงความมุ่งมั่นในการร่วมแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพกับนานาประเทศทั่วโลก และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2560-2564 โดยจัดทำ แผนยุทธศาสตร์จัดการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ. 2560-2564  ประกอบด้วย  6  ยุทธศาสตร์ วางเป้าหมายชัดเจนในการจัดการกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการ  ซึ่งกรมปศุสัตว์เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เป็นแกนหลัก ในการบูรณาการจากภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคสังคม ในการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคเกษตรและการเลี้ยงสัตว์

กรมปศุสัตว์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่มีความปลอดภัยตามหลักอาหารปลอดภัย (Food Safety) และสามารถสอบย้อนกลับได้ (Traceability) ในด้านปัญหาเชื้อดื้อยา ได้มีการดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในการลดเชื้อดื้อยาในสัตว์ เช่น ยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิดเพื่อการเร่งการเจริญเติบโต (Growth Promoter) การกำกับดูแลอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated Feed) การเฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพตามวิธีสากล (OIE) จากความมุ่งมั่นนี้ส่งผลให้ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคปศุสัตว์ไทยปี 2562 เทียบกับปี 2560 ภาคปศุสัตว์ได้ลดใช้ยาลงได้ 49% ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัญหาเชื้อดื้อยาส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนหรือตกค้างของยาต้านจุลชีพในสิ่งแวดล้อม สาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มากเกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม จึงมีแนวทางที่พึงปฏิบัติในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างถูกต้องสมเหตุผล คือ ใช้เท่าที่จำเป็นในการรักษาสุขภาพของสัตว์ที่เจ็บป่วย ซึ่งเป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยการร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข ด้านเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หมุดหมายในการป้องกันเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

กรมปศุสัตว์ได้ริเริ่มและดำเนินโครงการที่ป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค 1.โครงการ “การลดใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์” เพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เช่น โครงการเขียงสะอาด โครงการเนื้ออนามัย โครงการปศุสัตว์ OK 2.โครงการ “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ (Raised Without Antibiotics ; RWA)” จะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงจนถึงแหล่งจำหน่าย หากสัตว์มีการเจ็บป่วยระหว่างการเลี้ยงจะมีการรักษาสัตว์ป่วยตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) โดยการรักษาจะอยู่ภายใต้ความดูแลของสัตวแพทย์ โดยใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม มีระยะหยุดให้ยาตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริม และจัดทำโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้ทางเลือกอื่น ๆ (Alternatives) เพื่อทดแทนและลดการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น สมุนไพร Prebiotics และ Probiotics

ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทยให้ความสำคัญเรื่องการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น และกรมปศุสัตว์ได้ให้การรับรองฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะแล้วมากกว่า 200 แห่ง ทั้งฟาร์มไก่ ฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free)  นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน NSF ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ยืนยันผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่มาปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูอีกด้วย ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะได้รับประทานอาหารคุณภาพสูง ปลอดภัย ปลอดสารตกค้าง ดีต่อสุขภาพ

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์