“ไบแนนซ์” ร่วมวางกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในเอเชีย

“ไบแนนซ์” ยักษ์บล็อกเชน ร่วมวางกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในเอเชีย

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวเปิดเผยว่า ยักษ์บล็อกเชน ‘ไบแนนซ์’(Binance) ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายประเทศในเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้ และกัมพูชา ในการหารือและร่วมร่างกรอบกฎหมายเพื่อส่งเสริมงานด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และวางรากฐานคริปโตเคอเรน ซีและระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Defi)

โดยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวในตลาดคริปโตได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย เห็นได้จากการที่ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคการเงินของแต่ละประเทศต่างต้องมองหาวิธีการเสริมสร้างความรู้เพื่อให้ก้าวทันสู่นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งครอบคลุมถึงคริปโตเคอเรนซี

โดยสำหรับประเทศฟิลิปปินส์ ไบแนนซ์ ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนภาคเอกชน ร่วมกับสมาพันธ์เทคโนโลยีทางการเงิน ในการเข้าร่วมการประชุมพิจารณาของวุฒิสภากับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลธนาคาร สถาบันทางการเงินและสกุลเงิน พร้อมร่วมหารือกับหน่วยงานรัฐ

ได้แก่ ธนาคารกลางหรือ Banko Sentral ng Pilipinas (BSP) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษคากายัน (Cagayan Economic Zone Authority หรือ CEZA) เกี่ยวกับแนวคิดริเริ่มหลักในการจัดทำนโยบายและแนวทางการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ โดยการหารือดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่วิธีการกำกับดูแลนวัตกรรม ควบคู่ไปกับมาตรการรองรับที่เหมาะสมเพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค

ซึ่ง ไบแนนซ์ ได้นำเสนอข้อมูลเบื้องลึกที่สำคัญ รวมถึงมาตรการที่ใช้เพื่อคลายข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้งาน ให้คณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบระหว่างการประชุมพิจารณา พร้อมย้ำชัดว่าบริษัทได้จัดทำและดำเนินการตามนโยบายคุ้มครองผู้ใช้งานและนโยบายรักษาความปลอดภัยมาโดยตลอด และบางนโยบายถือได้ว่าเข้มงวดที่สุดในวงการเทคโนโลยีทางการเงินอีกด้วย

ซ้าย: นายฉางเผิน จ้าว (Changpeng Zhao: CZ) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของ Binance ขวา: นายพัคฮยองจุน (Park Heong-joon) นายกเทศมนตรีเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ ไบแนนซ์มีฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยหลักในทุกขั้นตอนของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งาน มีกระบวนการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer หรือ KYC) ที่เข้มงวด รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานทางธนาคารอย่างใกล้ชิด ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาแลกเปลี่ยนในระบบอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม บริษัท ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด (Binance Capital Management Co., Ltd.) ยังร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (SERC) ในการสานต่องานภายใต้กรอบการดำเนินงานบันทึกความเข้าใจ (MoU) ผ่านการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความรู้ด้านการดำเนินงานสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ SERC สำหรับนำไปพัฒนากรอบกฏหมายสำหรับการควบคุมและพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในกัมพูชา ภายใต้หัวข้อต่างๆ ได้แก่

• ความรู้พื้นฐานด้านบล็อคเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล
• การกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ด้านนโยบายยุทธศาสตร์

โดยในการประชุมยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล การคุ้มครองผู้บริโภค รายชื่อโทเค็นต่างๆ (Token) แอปพลิเคชัน DeFi Stablecoins และอื่นๆ

รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไบแนนซ์ ได้ร่วมมือกับ เทศบาลเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อลงนามภายใต้กรอบการดำเนินงานบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการสนับสนุนเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาบล็อกเชนอีโคซิสเต็ม (Blockchain Ecosystem) ของเมืองปูซาน พร้อมผลักดันศูนย์ซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัลปูซาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนรายการคำสั่งซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Order Book) ระหว่างสองหน่วยงาน และยังมีแผนที่จะพัฒนาและส่งเสริมบล็อคเชนของเมืองปูซานในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น

• การผลักดันการใช้เขตปลอดข้อกำหนดทางบล็อกเชนของปูซานเพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และธุรกิจเกี่ยวกับบล็อกเชน
• การสนับสนุนการวิจัยและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับบล็อคเชนในปูซาน
• การจัดสรรหลักสูตรการศึกษาและแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่เกี่ยวกับบล็อกเชนโดยเฉพาะ ผ่าน Binance Academy
• การพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในสังคมผ่าน Binance Charity
• การสนับสนุนการจัดงาน Blockchain Week ณ เมืองปูซานในปี 2022 (BWB 2022)