ทำไมยักษ์ค้าปลีกไอที Com7 ผันตัวสู่ธุรกิจ “ประกันภัย-ยา”

สุระ คณิตทวีกุล
สัมภาษณ์

การเปิดตัวไอโฟน 14 รอบนี้ ไม่แน่ใจว่าควรจะดีใจหรืออย่างไรดี เมื่อไทยขยับขึ้นเป็นกลุ่มประเทศแรก (tier-1) ของการจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ทำให้คนไทยซื้อไอโฟนรุ่นใหม่ได้พร้อมกับอีกกว่า 40 ประเทศ ต่างจากในอดีตที่กว่าบ้านเราจะมีของมาวางขายต้องรอคิวกันเป็นเดือน ๆ หลายคนที่ไม่อยากรอจึงหันไปซื้อ “เครื่องหิ้ว” แม้ต้องจ่ายแพงกว่ามาก

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หลายฝ่ายมองว่าไม่น่าจะดี กลับไม่มีผลกับยอดพรีออร์เดอร์ “ไอโฟน 14” แม้แต่น้อย

ค้าปลีกไอที 5 หมื่นล้าน

Com7 หนึ่งในผู้แทนจำหน่ายสินค้า “แอปเปิล” ในประเทศไทย ระบุว่า ยอดจองซื้อผ่านระบบออนไลน์รอบนี้ทะลุสถิติอีกครั้ง

นั่นทำให้ “สุระ คณิตทวีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ Com7 ตั้งเป้ารายได้รวมในปีนี้ไว้ว่าน่าจะโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้กว่า 5.1 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้าในสิ้นปีจะมีสาขารวมให้ได้ 1,200 สาขา

ปัจจุบันคอมเซเว่นมีร้านค้าปลีกในเครือหลากหลายแบรนด์ ได้แก่ BaNANA จำนวน 418 สาขา, True Shop by Com7 จำนวน 126 สาขา, Studio7 จำนวน 117 สาขา, KingKong Phone 76 สาขา, BKK 32 สาขา, iCare 30 สาขา, แฟรนไชส์ 133 แห่ง และอื่น ๆ อีก 158 สาขา และในไตรมาส 4/2565 จะเปิดอีกประมาณ 70 สาขา คละกันทั้งในห้าง และนอกห้าง ซึ่งต่อไปสาขานอกห้างจะเยอะขึ้น

“จากการที่เราได้ไอโฟนมาขายเร็วกว่าทุกปี ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้เราถึงเป้ารายได้ที่น่าจะโต 20% ได้ จะพยายามทำให้ได้ แต่ในแง่กำไรดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน”

ส่วนสินค้าอื่น ๆ นอกจากไอโฟนที่ขายได้เร็วก็ยังมีสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น ๆ 
ด้วย เช่น หัวเว่ย, ออปโป้ และวีโว่ เป็นต้น เนื่องจากแต่ละแบรนด์ทยอยเปิดตัวสินค้าใหม่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา แม้ยอดขายหลัก ๆ ของบริษัทจะมาจากสมาร์ทโฟน แต่ฐานลูกค้ารวมของบริษัทจะค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ A, B และ C เรียกได้ว่าครอบคลุม แต่กลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้หลักยังมาจากกลุ่มบน

มหัศจรรย์ไอโฟน 14

“ไอโฟนจะทำให้ยอดขายปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว ปกติไตรมาส 3 จะเป็นไตรมาสที่ไม่ค่อยดี จากการที่ลูกค้าชะลอซื้อในเดือน 9 เพื่อรอไอโฟนเปิดตัวแล้วจึงไปซื้อในเดือน 10 แต่ปีนี้ไอโฟน 14 เปิดตัวแล้วเห็นราคาเมื่อเทียบกับไอโฟน 13 ก็จะมีส่วนหนึ่งที่รู้สึกแฮปปี้กับการซื้อไอโฟน 13 ดังนั้นสิ่งที่พิเศษสำหรับปีนี้ คือไอโฟน 13 ยังขายดี แม้จะมีการเปิดตัวไอโฟน 14 แล้ว ไตรมาส 3 ปีนี้จึงไม่ใช่ไตรมาสที่แย่ที่สุด เพราะมีทั้งไอโฟน 13 ที่ขายได้และไอโฟน 14 ที่เปิดตัวมาขายในช่วงครึ่งเดือนของเดือน 9”

“สุระ” ยังกล่าวถึงภาพรวมตลาดสินค้าไอทีด้วยว่า ถ้ารวมอุปกรณ์ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกัน น่าจะมีมูลค่าตลาดราวสองแสนล้านบาท และปัจจุบัน Com7 มีส่วนแบ่ง 20% และยังเชื่อว่าเติบโตได้ต่อ โดยจะยังรักษาการเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อไปได้อีก 3-4 ปี และทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 30% ไม่น่าจะยาก

“ปกติเราพยายามหาสินค้าใหม่มาขายตลอดเวลา สินค้าที่แปลก ไม่มีในตลาด หรือสินค้าที่เป็นเทรนด์ ซึ่งเป็นหมวด accessories ที่มีมาร์จิ้นที่สูง ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือพยายามหาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพราะถ้าเลือกสินค้าที่มีในตลาด การแข่งขันก็จะสูงทำให้กำไรต่ำ”

เครื่องใช้ไฟฟ้าตอนนี้ยังน้อยอยู่ ปัจจุบันเพิ่งเริ่ม การจะเปิดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็นมันต้องใช้พื้นที่ ดังนั้นต้องรอที่เราเปิดสาขาที่เป็น stand alone

“ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเปิดตรงนั้นเราจะขายพวกนี้ได้ดี ดังนั้นต้องใช้เวลานิดหนึ่ง เพราะเราไม่สามารถจะขายทั้งหมดในห้างจากความจำกัดของพื้นที่”

คู่ขนานออนไลน์ออฟไลน์

สำหรับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ “สุระ” บอกว่า เป็นอีกช่องทางที่บริษัทให้ความสําคัญ และมีการเติบโตตามตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยที่ผ่านมามีส่วนในการคัดเลือกสินค้า และจัดกิจกรรมร่วมกับมาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ ทั้งในเว็บไซต์ของบริษัท ทำให้ลูกค้าจดจํา และกลับมาซื้อสินค้าต่อเนื่องที่สาขา มีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงในส่วนของค้าปลีก และออนไลน์แบบ omnichannel ล่าสุดเปิดเว็บ Studio7 เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะสินค้าของแอปเปิล สอดรับกับการเปิดตัวไอโฟนทำให้มีลูกค้าหันมาจองผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

“ปีนี้เราเปิดให้จองออนไลน์เต็มที่ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้ของแน่นอน ไม่ต้องมารอลุ้นกับการเข้าคิวยืนรอวันแรก ซึ่งผลออกมาดีมาก ของถูกจองหมดตั้งแต่วันแรก แต่การขายผ่านสาขาก็ยังสำคัญ เพราะถ้ามองประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านอีคอมเมิร์ซอย่างจีน ธุรกิจออนไลน์ยังมีสัดส่วนแค่ 30% อเมริกามีสัดส่วน 20% สาขาจึงยังจำเป็น โดยเฉพาะภูมิประเทศของไทยที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคชื่นชอบการเข้าห้าง พฤติกรรมคนไทยเสาร์-อาทิตย์ คือเดินห้างอากาศร้อน ฝนตก ไปห้างมีของให้ดู ได้คุยกับพนักงาน ไม่ได้มองว่าออนไลน์ไม่ดี แต่ต้องทำคู่กันทั้งออฟไลน์และออนไลน์”

แนวคิดในการขยายธุรกิจ

“สุระ” ยังพูดถึงการขยับขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยว่ายังคงยึดหลัก “ไม่ทำอะไรที่ไม่เคยทำ หรือไม่ถนัด” ดังนั้นทุกธุรกิจที่ไปนอกจากจะใช้จุดแข็งเดิม เช่น จากฐานลูกค้าของคอมเซเว่น ที่ปีหนึ่งขายให้ลูกค้ากว่า 3 ล้านรายไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่รู้จักลูกค้าในระดับหนึ่ง เช่น การเข้าไปซื้อบริษัทประกันภัย ก็เพราะมองว่าสามารถขายประกันให้กับสินค้าที่ลูกค้าซื้อไป หรือสินค้าที่เคยซื้อไปแล้วหมดประกันได้ ถือเป็นการ “ต่อยอด” และดูแลคุ้มครองลูกค้าไปในตัว

“เราเก่งเรื่องค้าปลีก การที่จะมีธุรกิจรีเทลอื่น ๆ ที่นอกจากไอทีก็เป็นไปได้ ตอนนี้เลยเริ่มจับมือกับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ เพื่อเปิด ร้านขายยา สาขาแรกน่าจะเห็นเดือน ต.ค. เริ่มที่ทองหล่อ เพราะมองว่านี่คืออาชีพเรา การบริหารจัดการร้านค้าปลีก คืองานถนัดเรา แต่เรื่องยาไม่ถนัดจึงต้องจับมือกับหมอกับเภสัชที่รู้จักเรื่องนี้เป็นอย่างดีแล้วร่วมมือกัน”

สำหรับการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ก็จะยังมี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่จะเน้นไปยังธุรกิจที่จะต่อยอดจากสิ่งที่มี และ synergy กันได้

“เงินที่ลงทุนไปราว ๆ 2 พันล้าน ทั้งลงกับพาร์ตเนอร์ และซื้อเพื่อขยายไปในส่วนต่าง ๆ ที่เห็นโอกาสในแต่ละธุรกิจที่พอจะทำได้ การซื้อ ซื้อง่าย แต่ซื้อแล้วทำให้โตไม่ง่าย อันไหนที่ซื้อแล้วจะเจ็บตัว เราก็ไม่ทำ ทุกครั้งที่ลงทุนต้องมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ การลงทุนส่วนที่แตกออกไปส่วนใหญ่เป็นเซอร์วิส จึงยังไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโต”

อย่างไรก็ตาม ในแง่เงินลงทุน “สุระ” บอกว่า “มีไม่อั้น” ก่อนที่จะอธิบายว่า หมายความว่า กู้แบงก์ได้ เพราะแบงก์เคยบอกว่า ถ้ามีโปรเจ็กต์ที่ดีมากู้ได้เลย ถ้าเราเห็นว่ามีธุรกิจที่ดูดี แบงก์ก็ยินดีสนับสนุน ต่อให้ใหญ่แค่ไหน แบงก์ก็ช่วยอยู่แล้ว โดยธุรกิจที่น่าสนใจ ควรเป็นธุรกิจที่มีเทรนด์ขาขึ้น และมีมาร์เก็ตไซซ์ใหญ่ แต่ไม่ว่าจะ “ดูดี” แค่ไหน ถ้าไม่ถนัด หรือ synergy กันไม่ได้ก็จะไม่ทำ