สมรภูมิ “ประกันภัย” คึกคัก BTS-COM7 โดดร่วมวง ต่อยอดธุรกิจ

ประกันภัย

ช่วงไม่กี่วันมานี้ เห็นการขยับปรับเปลี่ยนในแวดวงประกันภัยไทยอย่างน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการเข้าลงทุนในบริษัท พุทธธรรมประกันภัย จํากัด (มหาชน) ของบริษัท คอมเซเว่น โฮลดิ้ง จํากัด

นอกจากนี้ ยังมีภาพการออกสื่อของ “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่แถลงถึงการรุกตลาดประกันผ่านบริษัท แรบบิท ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ Rabbit Life

สำหรับการเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิตของกลุ่ม BTS จะเป็นการต่อยอดธุรกิจ ขณะที่ COM7 ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าไอทีชั้นนำของประเทศ ก็คงมุ่งเน้นที่การรับประกันสินค้าไอที ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจเดียวกับคู่แข่งอย่าง บมจ.เจมาร์ท (JMART) ที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปซื้อกิจการ “ฟินิกซ์ประกันภัย”

BTS ปักธงท็อป 10 ใน 3 ปี

โดย “คีรี” เจ้าพ่อ BTS กล่าวว่า กลุ่ม BTS ได้ลงทุนธุรกิจใหม่ คือ Rabbit Life โดยเข้าซื้อหุ้นบริษัท 75% เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแพลตฟอร์มของ BTS ซึ่งจะเข้ามาใช้ดาต้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือของกลุ่ม BTS แล้วไปนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ปัจจุบัน BTS มีสมาชิกบัตรแรบบิทที่ออกไปแล้วเกินกว่า 15 ล้านใบ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่จะทำให้ธุรกิจนี้สามารถที่จะได้ประโยชน์

นอกจากนี้ จะมีการทำงานร่วมกัน (synergy) ระหว่างบริษัทในเครือ ในการสร้างช่องทางขายใหม่ หรือการโฆษณา โดยมีทั้งแรบบิทดิจิทัลแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Rabbit Care ที่เป็นออนไลน์โบรกเกอร์ประกัน และ Rabbit Cash ผู้ให้บริการสินเชื่อ และเครือข่ายสื่ออย่างวีจีไอและแพลนบี พร้อมกับการขยายช่องทางตัวแทนประกันชีวิต

“เรามุ่งมั่นและคาดหวังว่า บริษัทนี้จะขึ้นไปเป็นท็อป 10 ของตลาดธุรกิจประกันชีวิตภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2568 โดยมีเบี้ย 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งการขึ้นไปเป็นท็อป 10 ของตลาดนั้นต้องมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 1% หรือมีเบี้ยใหม่ราว 6,000-7,000 ล้านบาท”

ประกันภัย

สั่ง COM7 วางแบงก์การันตี

ขณะที่ “สุระ คณิตทวีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร COM7 เปิดเผยว่า คาดว่าการเข้าลงทุนในพุทธธรรมประกันภัย โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุน 500 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.34 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 170 ล้านบาท จะดําเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งเนื่องด้วยพุทธธรรมฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทต้องใส่เงินทุนอีก 230 ล้านบาท เพื่อให้ดําเนินธุรกิจต่อได้ โดยจะกู้ยืมเงินหรือการเพิ่มทุนอีก ไม่เกิน 230 ล้านบาท รวมต้องใช้เงิน 400 ล้านบาท

แหล่งข่าวในวงการประกันภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้สั่งให้ COM7 วางเงินแบงก์การันตี มูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะเข้ามาซื้อกิจการจริง เพราะกระบวนการขอขยายระยะเวลาแก้ไขฐานะเงินกองทุนของพุทธธรรมฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อไม่ให้นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งตอนนี้บริษัทถูกสั่งให้หยุดรับประกันภัยชั่วคราวอยู่

“บริษัทนี้ เดิมเป็นของตระกูลอยู่วิทยา ที่ทำธุรกิจนี้มากว่า 20 ปีแต่ไม่ทำกำไร ขณะที่กลุ่มที่เข้ามาซื้อกิจการต่อ ก็พัวพันกับนายประสิทธิ เจียวก๊ก ซึ่งที่ผ่านมา ก็ต้องเพิ่มทุนหมดไปเกือบ 200 ล้านบาทแล้ว บริษัทตอนนี้ เรียกว่าล้มละลายทางธุรกิจไปแล้ว มีสินทรัพย์ 100 ล้านบาท แต่หนี้สินกว่า 300 ล้านบาท คล้าย ๆ กับ สินมั่นคงประกันภัย ที่มีทรัพย์สิน 10,000 ล้านบาท แต่หนี้สินกว่า 30,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

พุทธธรรมฯเจ๊งเคลมโควิด 300 ล้าน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หนี้สินของพุทธธรรมฯ เกือบ 300 ล้านบาทนั้น เป็นหนี้เคลมสินไหมประกันภัยโควิด-19 เจอจ่ายจบ ที่มีการขายกรมธรรม์ให้กับลูกค้าสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีลูกค้าออกมาร้องเรียนว่ายังไม่ได้รับเงิน

ทั้งนี้ ต้องบอกว่า ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ มีผู้เล่นหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมประกันชีวิตและประกันวินาศภัยในประเทศไทยเกิดขึ้นมาก ทั้งผู้เล่นรายเดิมที่เทกโอเวอร์กิจการรายอื่น เพื่อเพิ่มขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่นอกตลาดที่กระโดดเข้ามา

ไล่เรียงตั้งแต่ FWD ที่เข้าซื้อ SCB LIFE และเข้าซื้อประกันวินาศภัยจาก “สยามซิตี้ประกันภัย” อีก ขณะที่ “โตเกียวมารีน” ควบรวมกับ “คุ้มภัยประกันภัย” รวมถึง “CHUBB” ก็ควบรวมกับ “ซิกน่าประกันภัย” ยังมี “อลิอันซ์ประกันภัย” ที่เข้าซื้อกิจการ “เอ็ทน่าประเทศไทย” โดยจะควบรวมเข้ากับ “อลิอันซ์อยุธยาประกันภัย” ด้าน “เอฟพีจีประกันภัย” ก็ถูก Starr ประกันสัญชาติอเมริกันเข้าซื้อกิจการไป

“ทิพยฯ” จ่อเทกโอเวอร์ประกันเล็ก

ขณะที่ “สมพร สืบถวิลกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิพยกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (TIPH) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้บริษัทจะเทกโอเวอร์บริษัทประกันภัยขนาดเล็ก 1 แห่ง เพื่อเปลี่ยนมาทำธุรกิจประกันภัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยพอร์ตเดิมทั้งหมดที่ได้มาจะขายให้ทิพยประกันภัย

“เราต้องการแค่ไลเซนส์ โดยไซซ์บริษัทใกล้เคียงกับเอฟพีจีประกันภัย ที่เดิมทีเราจะได้แต่งงานกันแล้ว แต่โดนกลุ่มทุนต่างชาติซื้อตัดหน้าไปก่อน”

แหล่งข่าวรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้มีเอราวัณประกันภัย ที่ประกาศขายกิจการอยู่ ซึ่งมีขนาดเบี้ยประกันปีละ 10 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าค่อนข้างเล็กมาก ซึ่งก็ตอบโจทย์ที่ทาง TIPH ต้องการจะซื้อไลเซนส์มาประกอบธุรกิจใหม่ เพราะไม่มีหนี้สินมาก

อลิอันซ์ควบรวมจบปลายปี 66

นายโทมัส ชาร์ลส วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์อยุธยาแคปปิตอล (AYUD) กล่าวว่า ธุรกิจประกันสุขภาพจากเอ็ทน่า ประเทศไทย(Aetna) โดยเมื่อควบรวมกิจการกับอลิอันซ์อยุธยาประกันภัย(AAGI) เราจะขึ้นเป็นอันดับที่ 7 ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยทันที โดยมีขนาดเบี้ยประกันรับรวม 9 พันล้านบาท แยกเป็น AAGI จำนวน 6 พันล้านบาท และ Aetna อีก 3 พันล้านบาท ส่วนจำนวนลูกค้ารวม 9.5 แสนกรมธรรม์ แยกเป็น AAGI จำนวน 9 แสนกรมธรรม์ และ Aetna อีก 5 หมื่นกรมธรรม์ และมีพนักงานรวมกันเป็น 700 คน

“ปัจจุบันเรามีการทำงานร่วมกันแล้ว แต่กระบวนการควบรวมน่าจะเริ่มในปีหน้าและสิ้นสุดช่วงปลายปี 66″ 

รายใหญ่ผงาด-รายเล็กรอดยาก

ขณะที่ “กี่เดช อนันต์ศิริประภา”ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย ฉายภาพว่า ธุรกิจประกันภัยในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่มีการเติบโตและมีมาร์เก็ตแชร์ใหญ่ขึ้น จากการควบรวมและเทกโอเวอร์ ซึ่งรายที่ใหญ่ขึ้นมา ก็ต้องการเขย่าบัลลังก์ผู้นำตลาดเดิม ส่วนผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามานั้น แม้ว่าจะมีเงินทำธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือต้องมีนักบริหารประกันภัยมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างหายากมาก เพราะคนเก่ง ๆ อันดับต้น ๆ ของธุรกิจล้วนไปอยู่กับบริษัทใหญ่กันหมดแล้ว

“บริษัทประกันวินาศภัยท็อป 10 เมื่อสิบปีที่แล้ว มีมาร์เก็ตแชร์ไม่ถึง 50% แต่ตอนนี้ขยับขึ้นเป็น 65% ไปแล้ว ขณะที่บริษัทประกันชีวิตท็อป 10 ครองมาร์เก็ตแชร์ไปแล้วกว่า 90% ฉะนั้นแนวโน้มของบริษัทประกันวินาศภัยจะล้อไปกับบริษัทประกันชีวิต ที่บริษัทใหญ่จะมีส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ขึ้น ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจได้ง่าย เพราะมีเครือข่าย ส่วนบริษัทกลางและเล็กรอดยาก เพราะจะมีมาร์เก็ตแชร์หดตัวลง จากเครือข่ายสู้ไม่ได้ ทั้งฐานตัวแทนนายหน้า, แบงก์แอสชัวรันซ์ และพาร์ตเนอร์รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น”


ทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่าเป็นสมรภูมิที่คึกคักมากทีเดียว แข่งขันและปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา