ธนาธร ก้าวไกลไม่ต้องการเห็นการผูกขาด ย้ำจุดยืนต้านควบรวมทรู-ดีแทค

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

“ธนาธร” ควง “ศิริกัญญา” ก้าวไกล มา กสทช. ตามนัด ย้ำจุดยืนค้านควบรวม “ทรู-ดีแทค” ระบุจาก 3 เหลือ 2 ราย ประชาชนเสียประโยชน์จากค่าบริการแพงขึ้น-เพิ่มเหลื่อมล้ำการเข้าถึงความรู้ และโอกาส แนะรัฐบาลเปลี่ยนเกมดึงต่างชาติลงทุนในไทยแทน “เทเลนอร์”

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทค ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชน

นายธนาธรกล่าวว่า ถ้าผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมไทยในปัจจุบันจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จะทำให้ค่าบริการแพงขึ้น คุณภาพต่ำลง จากการแข่งขันที่ลดลง จึงไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค และการพัฒนาอุตสาหกรรม

“ผมและคุณศิริกัญญา คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ต้องการเห็นการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม อยากเห็นการแข่งขันที่จะนำไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และนำไปสู่ราคาที่ถูกลงสำหรับการเข้าถึงบริการเดต้า เป็นสาเหตุให้เราเดินทางมาที่ กสทช.ในวันนี้”

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ให้เห็นว่า ถ้าควบรวมกิจการจะทำให้ราคามีแนวโน้มแพงขึ้น คุณภาพมีแนวโน้มต่ำลง และผลประโยชน์ที่ตกกับประชาชนแน่ ๆ คือมีโอกาสที่เงินในกระเป๋าทุกท่านจะลดลงจากค่าบริการแพงขึ้น

“อย่าลืมคนใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นทุกวัน เราเสพความบันเทิงต่าง ๆ ผ่านการใช้ดาต้าผ่านมือถือ ผ่านโทรคมนาคม และคลื่นความถี่มีความสำคัญมาก ดังนั้น ผลกระทบชัดสุดคือภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เราต้องไม่ลืมว่าการเข้าถึงโอกาสคือการเข้าถึงเดต้า ใครเข้าไม่ถึงเดต้า เข้าไม่ถึงโอกาส จึงเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และถ้าค่าบริการเดต้าแพงเมื่อไร คนจนก็เข้าถึงโอกาสและความรู้ได้น้อยลง”

นายธนากรกล่าวด้วยว่า มีกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ หลายเคสแสดงให้เห็นว่ายิ่งผู้เล่นเหลือน้อยลงยิ่งมีโอกาสที่ราคาจะแพงขึ้น แม้บางกรณีราคาถูกลง แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า ก็คือในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากันหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย ไม่มีประเทศไหนมีผู้ให้บริการ 2 ราย และถ้าเหลือ 2 แล้วยากที่จะกลับมาเป็น 3 รายได้อีก

“ในกรณีของไทยมีทางออกอื่น ๆ มีโซลูชั่นที่ก่อนหน้านี้คุณศิริกัญญาเสนอ คือ ฝ่ายบริหารถ้ากรณีนี้เกิดจากเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นดีแทคมีมติจากบริษัทแม่ที่นอร์เวย์ต้องการออกจากเอเชีย ไม่ใช่แค่ไทย ก็มีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องใช้กลไก กสทช. นั่นคือการใช้กลไกฝ่ายบริหาร คือถ้าคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นว่าธุรกิจนี้สำคัญและเป็นยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนา 5G ของประเทศก็น่าจะสามารถหาผู้ซื้อรายใหม่แทนเทเลนอร์ได้ โดยเดินทางไปทั่วโลก ไปหาผู้ซื้อรายใหม่ ผลักดันให้เกิดการเจรจากับผู้ซื้อรายใหม่ เข้ามาซื้อหุ้นเทเลนอร์แทน นี่จะเป็นโซลูชั่นที่ดีที่สุด ส่วนกลไก กสทช.ก็ควรมีภารกิจหลักในการปกป้องผู้บริโภค”

นายธนาธรกล่าวด้วยว่า มติบอร์ด กสทช.ในวันนี้มีความสำคัญกับอนาคตของประเทศจริง ๆ และไม่ใช่แค่กระเป๋าตังค์ของผู้บริโภค แต่เป็นการพัฒนาโทรคมนาคมในอนาคต และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
จึงต้องการเห็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้เกิดการควบรวม เช่น การบังคับให้ต้องมีเอ็มวีเอ็นโอที่มีสัดส่วนนัยสำคัญในตลาดให้ได้ หรือการนำคลื่นบางส่วนออกมาเพื่อให้เกิดการประมูลใหม่ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายต้องไม่ให้เกิดการควบรวม

“ยังไม่รู้ว่ามติจะเป็นยังไง แต่เท่าที่ทราบ มาตรการที่จะออกมาจะเบา ไม่เพียงพอให้เกิดผู้เล่นเอ็มวีเอ็นโอที่มีนัยสำคัญต่อตลาดได้จริง ผมยืนยันอีกครั้งว่าพวกเราก้าวหน้าก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการควบรวม โดยธุรกิจแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าวัตถุประสงค์คือการทำกำไรสูงสุด ไม่ว่ากลุ่มทุนไหนก็ต้องมองกำไรสูงสุด ทั้งสองกลุ่มก็อยากได้ถึงจุดนั้น แต่ในกรณีมีผู้เล่นสองเจ้า กำไรสูงสุดไม่ได้มาจากการแข่งขัน แต่มาจากการไม่ลดราคา”

นายธนาธรทิ้งท้ายด้วยว่า อีกเรื่องที่อยากกล่าวคือ เรื่องคุณสารี (อ๋องสมหวัง) เลขาธิการสภาของผู้บริโภค ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ และนำเอกสารการศึกษาของ กสทช.ที่บอกว่าถ้าควบรวมแล้วจะทำให้ราคาแพงขึ้นออกมาเปิดเผย วันนี้โดนฟ้องจากทนายภาคประชาชน ก็อยากเรียนว่าการที่มีคนมาตรวจสอบการทำงานภาครัฐเขาควรได้รับการปกป้อง และคิดว่าการศึกษาของ กสทช.ไม่ควรเป็นความลับ แต่ควรได้รับการเปิดเผยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันได้ และคนที่เอาข้อมูลมาเปิดเผยควรได้รับการปกป้องจากสังคม