เดิมพันปิดดีล “ทรู-ดีแทค” จุดเปลี่ยนพลิกเกมโทรคมนาคมไทย

ทรู-ดีแทค

ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ต่อเวลาไปอีกหนึ่งสัปดาห์ สำหรับการพิจารณาดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เตรียมจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาดีลดังกล่าวโดยเฉพาะ ในวันที่ 20 ต.ค. 2565 ด้วยเหตุผลว่า ต้องการรอรายงานการศึกษาฉบับเต็มจากบริษัท SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ที่จะส่งมาให้สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ท่ามกลางการจับตามองของภาคส่วนต่าง ๆ

5 กสทช.เคาะปิดดีล 20 ต.ค.

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เนื่องจากการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และข้อมูลทุก ๆ ด้านมีความสำคัญต่อการพิจารณา ทำให้การประชุมบอร์ด กสทช. (12 ต.ค.) มีมติให้พิจารณาเป็นการเฉพาะวันที่ 20 ต.ค.

ด้าน นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. และที่ปรึกษาประธาน กสทช. กล่าวว่า การนัดประชุมวาระพิเศษก็เพื่อให้มีเวลาถกกันในทุกแง่มุม ทั้งข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงข้อกฎหมายที่กรรมการ กสทช.แต่ละท่านอาจมีข้อกังวล แต่น่าจะได้ข้อสรุปวันที่ 20 ต.ค.นี้ เนื่องจากมีข้อมูลครบถ้วนทุกด้าน โดยมีประเด็นที่ต้องสรุปร่วมกันให้ได้ก่อนว่า กสทช.มีอำนาจอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ หากไม่มีจะต้องปล่อยให้ควบรวม โดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ ซึ่งจะเข้มข้นแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการประเมินผลกระทบในมิติต่าง ๆ แต่หากลงมติว่ามีอำนาจ ก็ต้องพิจารณาต่อว่าจะให้ควบรวมหรือไม่

ในหลักการพิจารณาอยู่ที่ว่า หากให้ควบรวมได้จะกำหนดมาตรการ เพื่อลดผลกระทบด้านลบได้หรือไม่ หากเกินกว่าจะมีมาตรการได้ก็อาจไม่อนุญาตให้มีการควบรวม และว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ในการแข่งขันของธุรกิจมือถือในเมืองไทย

“บอร์ด กสทช.มีความกดดันอยู่แล้ว แต่ที่กดดันที่สุด คือการหลีกเลี่ยงคดีความจากฝั่งหนึ่งฝั่งใด หากไม่อนุญาต ฝั่งเอกชนก็คงฟ้อง แต่ถ้าให้ควบรวมโดยกำหนดมาตรการ ภาคประชาชนก็เตรียมอาจฟ้อง ม.157 จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบที่สุด”

“TDRI” ย้ำจุดเปลี่ยนตลาด

สอดคล้องกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่แสดงความเห็นว่า การควบรวมจะทำให้โครงสร้างตลาดโทรศัพท์มือถือ และโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะย้อนกลับคืนมาได้อีก และส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีโครงสร้างผูกขาดมากขึ้น จากการที่จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย และยากที่จะแก้ไขให้กลับมามีผู้ประกอบการ 3 รายมีระดับการแข่งขันเช่นเดิมได้อีกเพราะตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้วจึงไม่น่าจะมีรายใหม่สนใจเข้ามาให้บริการได้อีก

ทั้งกล่าวถึงเงื่อนไข และมาตรการเฉพาะที่ สำนักงาน กสทช.เตรียมเสนอ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นว่า เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่า มาตรการส่วนหนึ่งมุ่งหวังให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือไม่ แต่เมื่อตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยอิ่มตัวแล้ว มาตรการนี้จึงไม่สามารถทำให้ตลาดกลับไปมีผู้ประกอบการ 3 รายได้อีก ขณะที่มาตรการอีกส่วนที่มุ่งควบคุมราคาค่าบริการไม่ให้สูงขึ้น คุณภาพบริการไม่แย่ลง และสัญญาให้บริการไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบมากขึ้น เป็นมาตรการที่ กสทช.ประกาศใช้อยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ากำกับดูแลได้จริง

“เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ยิ่งทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นไปด้วย จู่ ๆ กสทช.จะเก่งขึ้นทันที จนกำกับดูแลตลาดผูกขาดนี้ได้ มาตรการอีกกลุ่ม เช่น ห้ามผู้ประกอบการที่ควบรวมกันใช้คลื่นร่วมกัน หรือห้ามใช้แบรนด์เดียวกันยิ่งสร้างผลเสีย เพราะทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดต่อผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวม ไม่เกิดขึ้นเลย เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถลดต้นทุนได้”

“ทรู-ดีแทค” ยันลดลงทุนซ้ำซ้อน

ก่อนหน้านี้ ตัวแทนผู้บริหารของทั้งดีแทค และทรู ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. ขอให้เร่งดำเนินการพิจารณาการควบรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ด้วย

โดย นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตคงไม่สามารถบังคับ หรือก้าวล่วงการตัดสินใจของบอร์ด กสทช.ได้ แต่ต้องการขอความเห็นใจ ในฐานะตัวแทนบริษัท พนักงาน และผู้ใช้บริการที่รอที่จะได้ประโยชน์จากการควบรวม เรื่องการใช้คลื่นความถี่

อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง กรณีไม่ให้รวมคลื่น แต่เชื่อว่าสำนักงาน กสทช.คงไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว เพราะการรวมคลื่นทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ลูกค้าดีแทคมาใช้โครงข่าย 5G ของทรูได้ ขณะที่ลูกค้าทรูที่ยังไม่ได้ใช้เครื่อง 5G ก็ไปใช้คลื่น 4G ของดีแทคที่มีแบนด์วิดท์ค่อนข้างมากได้

“เรื่องค่าบริการไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะไม่มีใครตั้งราคาขายเองได้ ต้องขายตามประกาศ กสทช. หรือถ้า กสทช.กังวลก็กำหนดแนวทางมาให้เราปฏิบัติได้ คุณภาพจะยิ่งดีขึ้น และช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนได้อีกมาก การใช้อินฟราสตรักเจอร์ร่วมกันได้ ยังจะต่อยอดทำให้บริการ 5G เร็วขึ้น จึงชัดเจนว่าเมื่อ 2 โครงข่ายรวมกัน ประโยชน์จะเกิดกับสังคมและประเทศชาติได้อีกมาก”

ผู้บริหารทรูย้ำด้วยว่า จากข้อกฎหมายชัดเจนว่า ทรู และดีแทคควบรวมกันได้ ตามประกาศ กสทช. ปี 2561 มาตรา 12 หาก กสทช.เห็นว่าจะกระทบกับผู้บริโภคก็กำหนดมาตรการให้ปฏิบัติได้ ซึ่งบริษัทยินดีปฏิบัติตามโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลักอยู่แล้ว

สภาผู้บริโภคปักหลักค้าน

ด้านตัวแทนผู้บริโภค นำโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคเคลื่อนไหวคัดค้านการควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู และดีแทค” อย่างต่อเนื่อง

โดยหลังการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ได้ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศแสดงความมุ่งมั่นที่จะค้านการควบรวมที่ กสทช. ได้เลื่อนการพิจารณาลงมติออกไปถึงวันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยระบุว่าการตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วประเทศที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการควบรวม ทำให้ กสทช.ต้องพิจารณารายงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศอย่างรอบคอบก่อนมีมติ และว่า การมีมติเลื่อนการพิจารณาในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า คณะกรรมการ กสทช.มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ควบรวม

“สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ กสทช.ใช้อำนาจของตัวเองเต็มที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน ทั้งต้องการเสนอให้ทรู และดีแทค เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการของทั้งสองค่าย และอยากให้ กสทช.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นกรณีพิเศษด้วย เพราะการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต และค่าโทรศัพท์แพงขึ้น ผู้บริโภคยืนยันว่า เราไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการโทรคมนาคม เพราะกระทบกระเป๋าตังค์ผู้บริโภค และ GDP ของประเทศ”

ขณะที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้แจ้งไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประเทศนอร์เวย์ว่า บริษัท เทเลนอร์ บริษัทแม่ดีแทค อาจมีการกระทำที่ขัดหลักธรรมาภิบาลของการทำธุรกิจในประเทศนอร์เวย์ เพื่อสร้างแรงกดดัน และช่วยกำกับให้มีทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อที่ กสทช.จะไม่ตัดสินใจอนุญาตการควบรวมกิจการ

อีกไม่กี่อึดใจก็จะได้รู้ว่าธุรกิจสื่อสารไทยจะพลิกโฉมไปอย่างไร ภายใต้การกำกับของ 5 อรหันต์ “กสทช.”