“ดีป้า” อัพสปีด ศก.ดิจิทัล กับบทบาท “ยูนิคอร์นภาครัฐ”

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

การพลิกโฉมประเทศด้วยเทคโนโลยี “ดิจิทัล” เพื่อสร้างโอกาสใหม่ และแต้มต่อในการแข่งขันให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น โดยมีวิกฤต “โควิด” เป็นตัวเร่งสำคัญ “ดีป้า” หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ก็มีภารกิจชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

บทบาท “ยูนิคอร์น” ภาครัฐ

โดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า 5 ปีแรกเป็นช่วงการสร้างบ้าน สร้างคน พัฒนาระบบ กลไก และเครื่องใหม่ ๆ ซึ่งได้ทำหลายสิ่งไปพร้อมกัน โดยต้องประสานความขัดแย้งที่เกิดจากตัวบทกฎหมาย หรือมาตรการที่เป็นข้อจำกัดต่าง ๆ ของประเทศไทยกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่ผ่านมาอาจมีคนมองและเปรียบดีป้าเป็นหน่วยงานที่เป็นระบอบพิเศษ แต่สำหรับตนเอง ดีป้าวันนี้ คือ “ยูนิคอร์นภาครัฐ” ด้วยว่า 5 ปีที่ผ่านมาสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในหลายส่วน จนสามารถยืนด้วยตนเองได้

“ที่บอกว่า เป็นยูนิคอร์นภาครัฐ เพราะมีทุนที่เป็นทรัพย์สินราว 6,000 ล้านบาท ทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 10,000 ล้านบาท การลงทุนในสตาร์ตอัพตั้งแต่ต้นปี ก็ลงทุนซีรีส์ A กับโกลบิช และในอุตสาหกรรม AI ที่ยังไม่ได้เปิดตัวอีก ปีที่แล้วก็ลงทุนในแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ และในแทรเวลแพลตฟอร์มกับทราวิซโก ซึ่งจะผลักดันให้เป็น national travel platform ของประเทศ

นี่คือการพัฒนาที่ต่อยอดจากสตาร์ตอัพรายเล็กๆ ให้เติบโตต่อไป อย่างที่รู้กันว่าโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมของประเทศไทย เปรียบเสมือนพีระมิด ด้านล่างคือเกษตรกรที่มี 8 ล้านครัวเรือน หรือราว 12 ล้านคน จนอย่างไรก็ยังจนแบบนั้น คำถาม คือ ดีป้าจะมีส่วนอย่างไรที่จะทำให้คนเหล่านั้นดีขึ้นได้”

ไม่ใช่แค่ “ฐานล่าง” ของพีระมิด แต่รวมถึงตรงกลางที่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่า 3.1-3.2 ล้านกิจการที่กำลังโดน “ดิสรัปต์” จากเทคโนโลยีและซัพพลายเชนที่เปลี่ยนแปลงไป

เปิดแผนปี’66 โฟกัส 5 ด้าน

สำหรับการดำเนินงานปี 2565 จะโฟกัส 5 ด้าน คือ 1.ระบบนิเวศดิจิทัล (ecosystem and beyond) 2.การทรานส์ฟอร์มระดับชาติ (national transformation and beyond) 3.เทคโนโลยีแห่งอนาคต (technology and beyond) 4.นโยบายและแผนแม่บททางดิจิทัล (policy and digital inclusion) 5.สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม (looking forward) ผ่านการจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute : NBDI)

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดีป้ามุ่งพัฒนากำลังคนสู่ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการสร้างทักษะด้านโค้ดดิ้งให้เด็กและเยาวชนกว่า 4.2 ล้านคน เพิ่มศักยภาพกำลังคนดิจิทัลผ่านการอัพสกิล รีสกิล และสกิลใหม่ ๆ และยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ โดยสร้างดิจิทัลสตาร์ตอัพ 142 ราย ที่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

“แผนการพัฒนากำลังคนในปี 2566 จะสร้างทักษะด้านโค้ดดิ้ง เพิ่มจาก 80 โรงเรียนต่อปี เป็น 1,500 โรงเรียน โตก้าวกระโดด และจะเสนอรัฐบาลเรื่อง work permit สำหรับแรงงานด้านดิจิทัล นอกจากที่มีเรื่องสมาร์ทวีซ่า เพื่อดึงคนด้านดิจิทัลให้เข้ามาทำงานในไทย โดยจะต้องเพิ่มแรงงานดิจิทัลให้ได้ 1 แสนคน”

เร่งทรานส์ฟอร์ม-ปั้นดีปเทค

เมื่อมีชุมชนดิจิทัลสตาร์ตอัพที่เข้มแข็งแล้ว ก็ต้องมีกลไกที่ช่วยส่งเสริม และผลักดันให้เกิดการทรานส์ฟอร์มในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมหลัก (real sector) ต่าง ๆ การบริการ และด้านการเกษตร

“เรามีมาตรการลดหย่อนภาษี หรือ tax reduction เป็นไปได้ไหมที่จะมี transformation reduction ด้วย ในปีหน้าเราตั้งใจผลักดันให้ภาคเกษตร ภาคบริการต่าง ๆ เข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้ มีบัญชีราคามาตรฐานสินค้าและการบริการดิจิทัล ซึ่งกำลังจะเข้า ครม.ในต้นเดือน ธ.ค.นี้ จะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดเครื่องมือใหม่ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น

เช่น นำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตและการเกษตร ยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาประยุกต์ใช้ และวางรากฐานเตรียมพร้อมเข้าสู่กลไกตลาดโลก”

นอกจากนี้ยังจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะ big data, blockchain และ AI โดยทุกภาคส่วนต้องรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความปลอดภัย และการนำมาประยุกต์ใช้ รวมถึงสร้างเทคโนโลยีขั้นสูง (deep tech) ของตนเอง เพื่อเป็นอาวุธและเกราะป้องกัน เมื่อต้องแข่งขันทางเทคโนโลยีกับคู่แข่งต่างชาติ

และจับตาการเข้ามาของเทคโนโลยีในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 6G และ quantum computing ผ่านการตั้งศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่, ศูนย์เอไอ และ Thailand Silicon Valley

“เราไม่เคยลืมมองอนาคต ถ้าจำได้ในปี 2560 เราประกาศว่ามีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ big data บล็อกเชน AI โรโบติกส์ และคลาวด์ อยู่ในโรดแมปมาตลอด รวมถึงเกม กรณีบิ๊กดาต้าถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ หรือ NBDI เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำงานด้านข้อมูล

ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ ภายใต้แนวคิด Big Data for All”