‘ดีอีเอส’ ย้ำเป้าปี 2566 คุมดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไฟเขียว NT ลงทุน 5G

ชัยวุฒิ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ

‘ชัยวุฒิ’ รัฐมนตรี ‘ดีอีเอส’ โชว์พลังตั้งแต่ต้นปี ชูเป้าปี 2566 ทรานส์ฟอร์มทุกหน่วยงานสู่รัฐบาลดิจิทัล 100% พร้อมไฟเขียวแผนลงทุน 5G ของเอ็นที มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท เตรียมเพิ่มอำนาจ ‘กสทช.-แบงก์ชาติ’ ระงับ ‘บัญชีม้า’ และ ‘ตัดซิม-สายเคเบิล’ เพิ่มดีกรีกำราบมิจฉาชีพออนไลน์ 

วันที่ 5 มกราคม 2566 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงผลงานปี 2565 ระบุว่า ประสบความสำเร็จในความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และในปี 2566 จะยังเดินหน้าแก้ปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ต่อเนื่อง

โดยเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทำงานด้านการปราบปราม และป้องกันความเสียหายได้อย่างเร็วขึ้น พร้อมไปกับการตั้งเป้าผลักดันทุกหน่วยงานภาครัฐทรานส์ฟอร์มสู่รัฐบาลดิจิทัล และเร่งการเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณสุขโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศผ่าน “คลาวด์กลางภาครัฐ” รวมถึงการกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ไล่ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ดีอีเอสมีความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา เพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ Hybrid Scam มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างไทย และกัมพูชา

โดยกระบวนการทำงานมีการตรวจสอบจากข้อร้องเรียนว่า มีคนร้ายขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่จุดไหน มีการร่วมกันจับกุมปรามปรามคนร้าย รวมถึงการส่งกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย ทำให้การส่งผู้ร้ายข้ามแดนสะดวก และรวดเร็วมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีทราบพิกัดการกระทำผิด มีการปิดกั้นสัญญาณ และเข้าจับกุม ช่วยแก้ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดีอีเอสยังได้เร่งดำเนินงานในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายออนไลน์ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ สตาร์ตอัพ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัล ไอดี และดิจิทัลโพสต์ไอดี รองรับการพัฒนาและการให้บริการดิจิทัลอย่างยั่งยืน

เพิ่มอำนาจ กสทช.-แบงก์ชาติ

สำหรับความคืบหน้าด้านพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  (PDPA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น กำหนด Personal Data Protection Regulation และ Cross-Border Data Transfer ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์กับประชาชนไทยบนโลกออนไลน์

โดยหลังประกาศใช้ ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความเชื่อมั่นในเวทีนานาชาติ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน และลดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ผ่านออนไลน์ได้

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะออกพระราชกำหนดให้อำนาจหน่วยงานดูแลการกระทำที่มิชอบเพื่อลดการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายผ่านทางออนไลน์ด้วย

“เราจะเสนอเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแล เช่น กสทช. และแบงก์ชาติ เพื่อให้เขาสามารถจัดการปัญหาอาชญากรรมทานออนไลน์ได้เร็วขึ้น เช่น กรณีพบความผิดปกติทางบัญชีธนาคาร กรณีบัญชีม้า ธนากาค ก็สามารถระงับบัญชีนั้น ๆ ได้ภายใน 2 ชม. เช่นกันกับ กสทช.จะสั่งการค่ายมือถือให้ระงับสัญญาณได้”

กดปุ่มกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์ม

นายชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า กฎหมายดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งจะมีการออกมาตรการให้ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย, อีคอมเมิร์ช, แชริ่งอีโคโนมีต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก, ติ๊กต่อก,ไลน์, ช้อปปี้, ลาซาด้า เป็นต้น

โดยทั้งหมดจะต้องมาจดแจ้ง และให้ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการให้บริการ การดำเนินธุรกิจ อาทิ รายรับ, รายจ่าย และรายได้ รวมถึงการดูแลผู้บริโภค มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย โปร่งใส และทำให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมมากขึ้น

ด้านโครงการระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ Government Data Center and Cloud Service (GDCC) นอกจากให้บริการ Virtual Machine สําหรับหน่วยงานภาครัฐ GDCC ยังมีบริการเสริม อาทิ AI, IOT รวมถึง Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐนำไปต่อยอด ประยุกต์ใช้งาน เพื่อพัฒนางานในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงหน่วยงานรัฐทุกแห่งที่จะทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล 100%

เพื่อให้ประชาชนใช้บริการผ่านออนไลน์ได้สะดวกและรวดเร็ว

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงผลงานปี 2565 ระบุ

ดึงข้อมูลสุขภาพขึ้นคลาวด์ภาครัฐ

นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า โครงการระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ 219 กรม 874 หน่วยงาน 3,065 ระบบงาน มีการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญกว่า 2,500 คน ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้ถึง 30-60%

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีแผนจัดทำระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ด้านสาธารณสุข/สถานการณ์โควิด, ระบบ National Digital Health Platform เพื่อเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณสุขของประชาชน และโรงพยาบาล เชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุข ฐานข้อมูลคนไข้ผ่านระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ทำให้แพทย์เรียกดูข้อมูลคนไข้เพื่อการรักษาได้จากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ

โดยร่วมกับโรงพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพัฒนา Health Link ระบบเชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมแล้ว 150 แห่ง และจะขยายผลอีก 100 แห่งทั่วประเทศในปีนี้

ไฟเขียว NT ลงทุน 5G

ส่วนโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนนั้น ดีอีเอสได้พัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยีรองรับการใช้งานของประชาชน โดยใช้งบประมาณดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 150.6 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 8,246 แห่งทั่วประเทศ

นายชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า กระทรวงดีอีเอสได้เห็นชอบแผนการลงทุนระบบ 5G ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ซึ่งมี 2 ส่วน คือการลงทุนไพรเวตเน็ตเวิร์ก มูลค่า ราว 10,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ, โรงพยาบาล, สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น คาดว่าจะนำเสนอ ครม.ภายในสัปดาห์หน้า อีกส่วนคือการลงทุนบนคลื่น 700 MHz ร่วมกับเอไอเอส มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์

“เอ็นทียังจะเข้าประมูลใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ที่ กสทช.กำลังจะเปิดประมูลเร็ว ๆ นี้ด้วย เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล”

จุดพลุ Digital ID

รัฐมนตรีดีอีเอสผลักดันในเรื่อง Digital ID ดีอีเอสโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ร่วมกับ 7 หน่วยงาน จัดทำ Digital ID framework Phase 1 ให้ใช้ Digital ID เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยพัฒนา

และเกิดการใช้งาน Digital ID เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในมิติของกฎหมาย ได้มีความคืบหน้า (ร่าง) พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. ที่จะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงมีการร่างกฎหมายลูกฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

และมอบหมายให้ไปรษณีย์ไทย จัดทำตำแหน่งที่อยู่ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือเรียกว่า “ดิจิทัลโพสต์ไอดี : Digital Post ID” เพื่อพัฒนาต่อยอดจากรหัสไปรษณีย์ที่ใช้ตัวเลขห้าหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งให้มีความสามารถระบุตำแหน่งด้วยรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดี