แม่ทัพ AWS เปิดแผนลงทุนในไทย 15 ปี 1.9 แสนล้าน

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์

AWS เผยโฟกัสปี 2566 ขยับลูกค้าสู่การมช้งานคลาวด์ขั้นสูง พร้อมอัพเดตการลงทุนตั้งศูนย์กลางข้อมูลระดับภูมิภาค มูลค่า 1.9 แสนล้าน

วันที่ 11 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” Country Manager ของ AWS ประจำประเทศไทย ที่นอกจากจะทำให้เห็นภาพความเนื้อหอมของไทยในฐานะว่าที่ศูนย์กลางฐานข้อมูลของภูมิภาคเเล้ว ยังช่วยฉายภาพเมกะเทรนด์ในโลกของคลาวดืเทคโนโลยีที่ช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนภาคธุรกิจอยู่เบื้องหลัง

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา อเมซอน เว็บ เซอร์วิส ยักษ์เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งประกาศลงทุนในไทย 1.9 แสนล้านบาทระยะเวลา 15 ปี สร้างความฮือฮาและเรียกผลงานที่น่าภาคภูมิใจที่ไทยสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้โดยตรงมหาศาลขนาดนี้ และการลงทุนดังกล่าว เรียกว่าไม่ใช่แค่สร้าง “ดาต้าเซนเตอร์” เท่านั้น แต่เป็น Reginal Center (AWS Asia Pacific (Bangkok) Region) ที่มีโซนนิ่งข้อมูล 3 โซน แต่ละโซนแบ่งออกเป็นดาต้าเซนเตอร์อีกมาก

การลงทุนนี้เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์คอมพิวติ้งระดับโลกของประเทศไทยพร้อม 3 Availability Zone ที่เข้าถึงบริการคลาวด์มากกว่า 200 รายการได้เร็วขึ้น พร้อมสร้างการเรียกใช้แอปพลิเคชันและจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย นับเป็นการวางตำแหน่งประเทศไทยให้อยู่ในระดับแนวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล

เมกะโปรเจกต์นี้จะเกิดไม่ได้หาก อะเมซอน เว็บเซอร์วิส (AWS) มองไม่เห็นศักยภาพของพื้นที่ประเทศไทยที่มีการปรับตัวสู่คลาวด์ (Cloud Adoption) ที่โดดเด่นที่สุด

ศูนย์กลางข้อมูลระดับภูมิภาคต้องมีความพร้อมหลายด้าน

“วัตสัน” เปิดเผยว่า อะเมซอนเว็บเซอร์วิส มีการพิจารณาความพร้อมของพื้นที่ที่จะลงทุนทำศูนย์กลางข้อมุลระดับภูมิภาคด้วยปัจจัยสำคัญได้แก่ 1.การสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่างๆ เช่น งานเอกสารทางกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสนใจและสนับสนุนการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างดี
2.ความพร้อมของภาคธุรกิจที่ใช้คลาวด์อยู่ระดับไหน ตรงนี้สำคัญมากเพราะธุรกิจในประเทศไทยตื่นตัวกับการใช้งานคลาวด์เทคโนโลยี

“การทำ Cloud Adoption ในธุรกิจไทยตอนนี้ AWS ได้ช่วยให้ผู้คนรู้จักกับคลาวด์เป็นวงกว้างแล้ว ดังนั้นก้าวต่อไปของ AWS ไทยคือการพาลูกค้าก้าวไปสู่การใช้งานระดับแอดวานซ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น AI หรือ Machine Learning”

3.ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคม หรือด้านพลังงานที่มีเพียงพอต่อการตั้งศูนย์ข้อมูล

4.ความพร้อมของคน ส่วนนี้เป็นส่วนที่ AWS ต้องร่วมงานกับหลายฝ่ายเพื่ออบรมและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีคลาวด์โดยตั้งเป้าว่าระดับโลกเราจะสามารถสร้างแรงงานคลาวด์ได้ 29 ล้านคน และในภูมิภาคอาเซียนจะมี 7แสนคน ในปี 2025

เมกะเทรนด์ของการเก็บข้อมูลทำให้ต้องมีที่เก็บรักษาที่เพียงพอและปลอดภัย

“วัตสัน” ได้ฉายภาพเทรนด์หลังจากปี 2022 ที่ผ่านไปนี้ คือ การเก็บข้อมูลจะมาจากทุกทิศทางทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ (Data/Analytic) และภายใน 5 ปีข้างหน้า ปริมาณข้อมูลดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นสองเท่า เมื่อเทียบกับปริมาณข้อมูลที่มนุษย์มีการเก็บจากคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเมื่อข้อมูลมีมากขึ้นที่เก็บรักษาต้องมีมากขึ้น และจะต้องนำข้อมูลเหล่านั้นไปเข้าสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์-แมชชีนเลิร์นนิ่ง (AI/ML) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล สิ่งที่ตามมาคือต้องมีระบบบริหารจัดการและระบบรักษาความปลอดภัย (Governace/Security)

โดยในปีที่ผ่านมามีการจัดงาน Re-Invent ซึ่งเราช่วยฉายภาพให้ลูกค้าและผู้สนใจเห็นว่า 5 เทรนด์ต่อไปที่จะเกิดขึ้นในโลกของเทคโนโลยีคลาวด์ล้วนส่งผลให้เราต้องการการเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ซึ่ง 5 Key Takeaway ได้แก่

1.คลาวด์ จะถูกออกแบบให้เฉพาะเจาะจงกับแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งกีฬาที่มีการนำระบเก็บภาพและวิดีโอมาใช้ หรือการแพทย์ที่จะมีระบบ OMIC ที่ช่วยจัดลำดับจีโนมได้ จากเมื่อก่อนต้องใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ประมวลการเรียงลำดับจีโนม แต่ต่อไปเราสามารถใช้คลาวด์คอมพิวติ้งได้ รวมถึงการออกแบบคลาวด์เพื่อดูแล Supply Chain ให้ธุรกิจต่างๆ นี่คือจุดแข็งเพราะอะเมซอนโตมาจากอีคอมเมิร์ซ เราสามารถทำระบบสำเร็จรูปให้ลูกค้าใช้ได้เลย

2.การเข้าสู่โลกจำลอง หรือ Digital Twin ที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถทำการทดลองผ่านระบบดิจิทัลทวินได้โดยไม่ต้องทำจริง ซึ่งการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ทำจะต้องใช้พื้นที่มหาศาล

3.ทำลายการเก็บข้อมูลแบบไซโล ที่กระจายไปอยู่หลายพื้นที่ทำให้เกิดความล่าช้าและยากลำบากในการเรียกใช้ ต่อไปจะต้องสามารถเรียกใช้ข้อมูลเรียลไทม์

4.ข้อมูลมากขึ้น ความปลอดภัยซับซ้อนขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือเรื่องการบริหารจัดการและความปลอดภัย เช่น เราทำ Data Zoning เพื่อแยกอำนาจหน้าที่ผู้เรียกข้อมูล ตัวอย่างเช่นหมอเรียกดูข้อมูลได้หมดแต่บางคนเรียกดูข้อมูลได้บางคอลัมน์

5.การทำคลาวด์แบบเฉพาะ คือ การทำชิปผลของ AWS เอง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ทำให้ชิปประมวลผลตามตลาดอย่างของ Intel และ AMD ไม่ตอบโจทย์ ขาดตลาดและราคาแพง ทำให้เราต้องลงทุนสร้างชิป Gravitron เองซึ่งถูกกว่า ตอบโจทย์กว่า ประหยัดพลังงานกว่า ทำให้ต้นทุนของลูกค้าที่ใช้คลาาวด์เราลดลงด้วย

แผนการสำหรับประเทศไทยในปี 2023

“วัตสัน” กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยองค์กรต่างๆ ตื่นตัวกับการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นไปสู่คลาวด์มาก ข้อมูลจากการ์ดเนอร์ บอกว่าอัตราการไปสู่คลาวด์ของไทยโต 32% ขณะที่ทั่วโลกโต 30% หมายความว่าเราโตกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

แผนการโฟกัสของ AWS ในภาพรวมคือการ ขยับกลุ่มธุรกิจจำนวนมากที่เป็นลูกค้าให้เข้าสู่การใช้งานคลาวด์ Wave 2 คือการใช้คลาวด์สมัยใหม่ที่แอดวานซ์ขึ้น อย่างการใช้งาน AI/ML

ในด้านการโฟกัสเชิงลึกหรือแนวดิ่ง จะมุ่งการสนับสนุนการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ระดับโลกแก่สถาบันการเงินและบริการต่างๆ ที่พวกเขาต้องการเพื่อสร้างความแตกต่างและปรับตัว โดยในประเทศไทยจะมีการมุ่งเน้นการสนบัสนุน 3 อุตสาหกรรม

1.การเงินและประกันภัย “ไม่ใช่แค่ธนาคาร ที่เริ่มพูดคุยเรื่องการปรับ Core Banking ได้อย่างสะดวกเพราะศูนย์ข้อมูลของเรามีการตั้งที่ไทยแล้ว เรายังเห็นว่ากลุ่มบริการทางการเงินทางดิจิทัลจำนวนมากได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นล้วนต้องการโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือในการพัฒนาบริการ”

2. ค้าปลีก โดยเฉพาะในด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน AWS มีจุดแข็งจากการเติบโตจากการเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำให้เรามีระบบพร้อมใช้ หรือ Redy Made ให้ลูกค้า

3. กลุ่มโรงงาน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าระบบดิจิทัลทวินจะมีส่วนสำคัญในการวางแผนและควบคุมการปฏิบัติงานในโรงงาน

นอกจากนี้ ยังมีแผนการที่จะร่วมกับภาครัฐ และภาคการศึกษาที่จะต้องจัดหาหลักสูตรเพื่อพัฒนาคนให้รองรับงานที่ใช้ทักษะคลาวด์ ซึ่งเป็นทักษะใหม่ที่ไม่อาจใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์แบบเดิมได้ ทั้งยังต้องมีกำลังคนเพื่อรองรับศูนย์กลางข้อมูลภูมิภาคแห่งใหม่ที่จะเกิดด้วย

ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100%

ด้วยศูนย์กลางข้อมูลแห่งใหม่นี้เป็นเมกะโปรเจกต์ ที่ต้องการพื้นที่ที่มีพลังงานมาก นอกจากนี้ยังต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมในอีอีซีได้ มีความหน่วงต่ำสำหรับงานอุตสาหกรรม และยังต้องตั้งอยู่ในที่ที่สามารถเชื่อต่อการสายเคเบิลรับส่งข้อมูลที่ต่อไปยังส่วนอื่นของโลกได้ ที่สำคัญต้องเป็นความลับเพื่อรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ข้อมูล


“วัตสัน” กล่าวว AWS มีคำมั่นสัญญาที่จะลดการปลดปล่อนคาร์บอน ด้วยการปรับกระบวนการหล่อเย็นและใช้พลังงานให้เป็นลักษณะ Renewable 100% ในปี 2025 ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ทันทีที่ศูนย์กลางข้อมูลแห่งใหม่เปิดใช้งาน