จบการประมูลดาวเทียม กสทช. กวาดรายได้เข้ารัฐ 806 ล้านบาท

ประมูลดาวเทียม กสทช.

ภารกิจการประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสิ้นสุด เอกชนคว้าสิทธิถือครองข่ายงานดาวเทียม 3 ชุด กสทช. กวาดรายได้เข้ารัฐรวม 806 ล้านบาท 

วันที่ 15 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ผลสรุปการแข่งขันประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียม ใช้ลักษณะการจัดชุด โดย กสทช. แบ่งข่ายงานดาวเทียมทั้งหมด 21 ข่ายงานเป็น 5 ชุด ให้ผู้ชนะการประมูลถือครองสิทธิเข้าใช้ข่ายงานแบบเหมาชุดนาน 20 ปี

โดยการประมูลกินระยะเวลารวมกัน 31 นาที ขายออกทั้งหมด 3 แพ็กเกจ ได้แก่

ชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง) 78.5E ข่ายงาน Thaisat-A2B ประสานความถี่สมบูรณ์แล้วพร้อมยิงดาวเทียม และ Thaisat-78.5E ระหว่างประสานความถี่ และมีดาวเทียมบรอดแคสต์ดั้งเดิมโคจรอยู่แล้ว 2 ดวงคือ ไทยคม 6 และ 8 จึงมีลูกค้าครอบคลุมในไทยและเพื่อนบ้านทั้งหมด จนถึงอินเดียและตะวันออกกลางบางส่วน นอกจากนี้ยังเป็นวงโคจรเดิมของไทยคม 5 ซึ่งหมดอายุหลุดวงโคจรไปแล้ว ทำให้สามารถนำดาวเทียมขึ้นมาทดแทนได้ง่าย

ราคาจบที่ 380,017,850 ล้านบาท

ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง) 119.5E ข่ายงาน Thaisat-IP1, P3 พร้อมยิงดาวเทียม และ Thaisat-119.5E ระหว่างประสานความถี่และวงโคจร 120E ข่ายงาน Thaisat-120E ระหว่างประสานความถี่

โดยราคาถือว่าสูงสุดในบรรดาข่ายงานดาวเทียมทั้งหมด เนื่องจากเป็นข่ายงานเดิมของดาวเทียมไทยคม 4 มีการประสานงานแล้ว และเป็นข่ายงานที่ออกแบบมาเพื่ออินเทอร์เน็ตดาวเทียมแต่แรก เป็นดาวเทียมบรอดแบรนด์โดยเฉพาะข่ายงานเดียวที่ไทยมี ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจสูง

ราคาจบที่ 417,408,600 บาท

ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง) 126E ข่ายงาน Thaisat-126E อยู่ระหว่างประสานความถี่ ชุดนี้ คือ ชุด SME มีราคาถูกที่สุด เหลือเวลาการประสานความถี่อีกประมาณ 5 ปี ครอบคลุม พื้นที่ เอเชีย แปซิฟิก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ถ้าประสานงานความถี่ได้อย่างดีจะสามารถปลดปล่อยสัญญาณบรอดแบรนด์ หรืออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 4

ราคาจบที่ 9,076,200 บาท

ทำให้ภารกิจจัดสรรสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของ กสทช. ในรอบนี้ สามารถกวาดเม็ดเงินให้กับประเทศได้รวมกัน 806,502,650 ล้านบาท