บั๊ก Y2K: วิกฤตคอมพิวเตอร์ป่วนโลกเมื่อสิ้นสหัสวรรษ

Missile Commanders Lt. (L) and Lt. Col. Ken Reed confirm a launch warning over the phone during a practice drill at the North America Aerospace Defense Command (NORAD) Cheyenne Mountain Complex in Colorado Springs, Colorado, 09 November, 1999. With the coming of the year 2000, many are worried about whether or not the complex missile tracking system will be operational after computers switch to the new year. Authorities at Cheyenne Mountain working on the Y2K bug are confident that there will be no problems. AFP PHOTO/Mark LEFFINGWELL (Photo by MARK LEFFINGWELL / AFP)

วิกฤตที่จุดชนวนวันสิ้นโลก Y2K ส่วนหนึ่งเริ่มที่ระบบคอมพิวเตอร์คำนวนปี 2000 เป็นปี 1900 ป่วนธุรกิจ ธนาคาร การแพทย์ การทหาร เขย่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบบส่งสัญญาณหยุดทำงาน

วันที่ 24 มกราคม 2566 กระแสแฟชั่นและการแต่งตัวในยุค 1999-2000 หรือยุค Y2K เริ่มกลับมาไวรัลอีกครั้ง พร้อมกับการเรียนรู้เรื่องราวช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษที่เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง ลัทธิความเชื่อ และทฤษฎีสมคบคิดมากมาย ที่ล้วนชี้นำไปสู่ความกังวลว่าโลกจะล่มสลายในปี 2000

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้หยิบยกเรื่องราว ความเชื่อ หรือทฤษฎีสมคบคิดจากความกังวลในยุค Y2K เรื่องหนึ่งที่เรียกว่าจุดชนวนความกังวลเรื่องวันสิ้นโลกได้อย่างดี โดยเรื่องราวนี้เริ่มในแวดวงไอที-คอมพิวเตอร์

ในยุค Y2K คอมพิวเตอร์ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้มีการปรับใช้ (Adoption) คอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ ในหลายแวดวงโดยเริ่มจากกองทัพ สถาบันการศึกษา การแพทย์ การธนาคาร ภาคธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ ตลอดจนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ราคาถูกลงอย่างมากทำให้ชีวิตผู้คนเริ่มผูกพันกับระบบไอทีอย่างแน่นแฟ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา

การเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษสู่ปี 2000 หรือ Y2K ได้ก่อให้เกิดปรากฎการณ์วิกฤตคอมพิวเตอร์ หรือที่มีชื่อเรียกกันหลากหลายว่า Millennium bug, Y2K bug หรือ ความผิดพลาดวายทูเค, Y2K glitch หรือ Y2K error เป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวจะเกิดกับระบบเอกสารและการบันทึกข้อมูลคริสต์ศักราชที่มีจำนวนสี่หลัก ที่นิยมย่อเหลือเพียงสองหลักท้าย โดยละตัวเลขสองหลักแรกคือ “19” ไว้ในฐานที่เข้าใจ การบันทึกดังกล่าวนิยมใช้ทั้งในแบบดิจิทัลหรือที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงระบบทะเบียนอนาล็อกบางส่วนที่ยังไม่ได้แก้ไขมาตลอด 100 ปี

การระบุเลขเพียงสองหลักท้ายจะเกิดปัญหาขึ้นเมื่ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ใช้งานเลยเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 เข้าสู่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ระบบพื้นฐานจะเข้าใจว่าวันปีใหม่นั้น คือ ปี ค.ศ. 1900 ซึ่งเป็นการหมุนย้อนเวลา ที่ทำให้การทำงานของระบบผิดเพี้ยน จึงสร้างความตื่นตัวในแวดวงธุรกิจ การธนาคาร การแพทย์ และการทหาร ว่าเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด อาจทำให้ระบบสาธารณูปโภค ที่มีการปรับใช้คอมพิวเตอร์ไปมากมายแล้วในทศวรรษที่ผ่านมาจะปั่นป่วน ถึงขั้นหยุดการทำงาน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็เห็นแย้งและถกเถียงกันร้อนแรงว่า ข้อผิดพลาดดังกล่าวอาจจะไม่ได้กระทบกับอะไรเลย แต่เมื่อมีบริบทของข่าวลือและกระแสวันสิ้นโลกต่างๆ ประโคมโหมโรงยิ่งทำให้ความกังวลเกี่ยวกับ Bugs Y2K ส่อเค้าความจริงขึ้น

ทำไมจึงต้องระบุเลขเพียง 2 หลัก

สารานุกรมออนไลน์ของ National Geographic บันทึกเหตุการณ์ความวิตกครั้งใหญ่ครั้งนั้นไว้ว่ามีสาเหตุจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 1960- 1980 วิศวกรคอมพิวเตอร์จึงใช้รหัสสองหลักสำหรับปีคริสตศักราช เลขหน้า คือ “19” ถูกละทิ้ง การอ่านวันที่ในปี 1970 จะอ่านเป็น 70 การที่วิศวกรย่อวันที่ให้สั้นลง เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้พื้นที่มาก

เมื่อใกล้ถึงปี 2000 โปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์ตระหนักว่าคอมพิวเตอร์อาจไม่ตีความ 00 เป็น 2000 แต่เป็นปี 1900 กิจกรรมที่ตั้งโปรแกรมในแต่ละวันหรือรายปีจะเสียหายหรือมีข้อบกพร่อง ในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 กลายเป็น 1 มกราคม 2000 คอมพิวเตอร์อาจตีความ กลายเป็น 1 มกราคม 1900 แทน

ความกังวลว่าระบบธนาคาร ไฟฟ้า และคมนาคมจะล่มสลาย

มีการยกตัวอย่างที่อาจส่งผลใหญ่หลวงจาก บั๊ก Y2K มากมาย เช่น ในระบบธนาคาร ที่ระบบคำนวณอัตราดอกเบี้ยเป็นรายวัน โดยเฉพาะการคำนวนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แทนที่จะคำนวณอัตราดอกเบี้ยในหนึ่งวัน คอมพิวเตอร์จะคำนวณอัตราดอกเบี้ยเป็นลบเกือบ 100 ปี

มีความกังวลต่อไปว่า ศูนย์กลางของเทคโนโลยี เช่น โรงไฟฟ้า ก็อาจถูกคุกคามจากบั๊ก Y2K ด้วย โรงไฟฟ้าถูกบำรุงรักษาด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ทั้งการใชข้คอมพิวเตอร์ควบคุมแรงดันน้ำหรือระดับรังสี ดังนั้นการระบุวันเวลาที่ถูกต้องจะทำให้การคำนวณเหล่านี้ล้มเหลว และอาจทำให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงตกอยู่ในความเสี่ยง

นอกจากนี้ ระบบการขนส่ง ต้องพึ่งพาวันและเวลาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่มีบันทึกเที่ยวบินตามกำหนดเวลาทั้งหมดจะถูกคุกคาม

ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกต่างเกิดปรากฎการณ์คนแห่ถอนเงินก่อนถึงช่วงวันปีใหม่ปี 2000 แน่นขนัดเนื่องจากความกังวลว่าระบบ ATM ของธนาคารจะขัดข้อง หลายบริษัทต้องพริ๊นท์ข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดออกมาเป็นกระดาษเพราะความกังวลว่าระบบไอทีจะล่ม

คนไทยเข้าคิวถอนเงินที่สาขาธนาคารกรุงเทพในกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ก่อนวันหยุดปีใหม่และความกลัว บั๊ก Y2K ทั้งๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยยืนยันว่าทั้งธนาคาร ระบบปลอดภัยจากบั๊ก Y2K (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ลงทุนหลายล้านแก้บั๊ก Y2K แต่ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

National Geographic ยังบันทึกอีกด้วยว่า “Bugs Y2K” เป็นทั้งปัญหาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์หมายถึงโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้บอกคอมพิวเตอร์ว่าต้องทำอะไร ฮาร์ดแวร์คือตัวเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์เอง

บริษัทซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่างเร่งแก้ไขข้อบกพร่องและจัดหาโปรแกรมที่ “เป็นไปตามมาตรฐาน Y2K”  วิธีที่ง่ายที่สุดคือวิธีที่ดีที่สุด คือการเปลี่ยนโปรแกรมคำนวนวันที่-ปี ค.ศ. ให้เป็นตัวเลขสี่หลัก

ดังนั้นจึงมีภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ใช้เงินหลายล้านเหรียญสหรัฐเตรียมรับมือกับปัญหาด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2000 มาถึง กลับมีปัญหาจริงน้อยมาก โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ในอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น มีอุปกรณ์ฉายรังสีบางส่วนขัดข้อง แต่อุปกรณ์สำรองทำให้มั่นใจว่าไม่มีภัยคุกคามต่อสาธารณะ

สหรัฐฯ ตรวจพบการยิงขีปนาวุธในรัสเซียและระบุว่าเป็นข้อบกพร่องของ บั๊ก Y2K แต่การยิงขีปนาวุธมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของรัสเซียในสาธารณรัฐเชชเนีย ไม่มีเรื่องที่ว่าคอมพิวเตอร์ทำงานผิดปกติ

ประเทศต่างๆ เช่น อิตาลี รัสเซีย และเกาหลีใต้ แทบไม่ได้เตรียมการสำหรับ Y2K เลย แต่พวกเขาก็ไม่มีปัญหาทางเทคโนโลยี ตรงข้ามกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ที่ใช้เงินหลายล้านเหรียญสหรัฐเพื่อต่อสู้กับปัญหาข้อผิดพลาด Y2K

ในช่วงนั้นรัสเซียแทบไม่ลงทุนอะไรเลย ทำให้ออสเตรเลียมีความกังวล จึงเรียกตัวเจ้าหน้าที่สถานทูตเกือบทั้งหมดออกจากรัสเซียก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาขึ้นหากเครือข่ายการสื่อสารหรือการขนส่งขัดข้อง

แต่…ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ดังนั้น เมื่อไม่มีผลลัพธ์ที่ประจักษ์ชัด หลายคนมองว่าบั๊ก Y2K เป็นเรื่องหลอกลวงหรือลัทธิวันสิ้นโลก