นักวิชาการจี้คุมเข้ม “ทรูควบดีแทค” หวั่นตลาดผูกขาด 2 รายถาวร

ทรูดีแทค

นักวิชาการจี้คุมเข้ม “ทรูควบดีแทค” หลังเอกชนเดินหน้าฉลุย ระบุจับตาไส้ใน “บอร์ด”บริษัทใหม่ ยันการลดผู้เล่นเหลือ 2 รายถาวรทำอนาคตคนไทยเจอสภาวะผูกขาดเต็มตัว

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB-101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงกล่าวว่า

จากที่มีกระแสข่าวในสัปดาห์นี้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จะเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนควบรวมบริษัทใหม่กับกระทรวงพาณิชย์ และบริษัทใหม่จะเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯในทันทีนั้น จากการศึกษาพบว่า แม้ปัจจุบันเรื่องการดำเนินการของเอกชนมีความคืบหน้าไปมาก หลังจากเลยจุดที่สำนักงาน กสทช. และบอร์ด กสทช.พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่เป็นเพียงการ “รับทราบ” การควบรวมครั้งนี้เท่านี้

นักวิชาการ

สิ่งที่ต้องจับตาและตั้งความหวังว่าจะช่วยให้การแข่งขันและประชาชนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบคือ มาตรการกำกับดูแลจากสำนักงาน กสทช.ที่ต้องมีการบังคับใช้อย่างเข้มข้น เพราะหากนับดูก็จะพบว่าหลังจากที่บอร์ด กสทช.มีมติรับทราบการควบรวมไปตั้งแต่ 20 ต.ค. 2565 ขณะนี้ก็ผ่านเวลามาหลายเดือน แต่สังคมก็ยังไม่เห็นการดำเนินการในเชิงกำกับดูแลแต่อย่างใด กระทั่งเอกชนทั้ง 2 รายดำเนินการควบรวมตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ทั้งหมดแล้ว

ส่วนกรณีที่มีกระแสสังคมมองว่า การควบรวมทรูและดีแทค แต่เป็นบริษัทใหม่ในชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น นั้น ส่วนตัวมองว่าก็เป็นเรื่องที่แปลกในโมเดลที่ A+B=A ไม่ใช่ A+B=C ในสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชื่อของบริษัทใหม่ แต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจในการบริหาร หรือคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่กำกับดูแลมากกว่า หากรายชื่อกรรมการในบริษัทใหม่ยังเป็นคนเดียวกับชื่อบริษัทเดิม ก็เท่ากับว่า การดำเนินงาน การบริหาร การออกโปรโมชั่นเข้าหาลูกค้าก็จะมาจากกลุ่มคน ๆ เดียว การคุยกับซัพพลายเออร์หรือพาร์ตเนอร์ก็ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งคนอื่น เพราะมีอำนาจการต่อรองที่มากกว่า

“ในช่วงที่เรื่องนี้ยังอยู่ในความสนใจของสังคมช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ ผมมองว่าภาพของอุตสาหกรรมยังไม่เปลี่ยนมาก แต่หลังจากนั้น เมื่อต้นทุนเริ่มคงที่ การปรับราคาที่แพงขึ้นจะเริ่มเห็นชัด และถึงตอนนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้แล้ว”

นายฉัตรกล่าวอีกว่า จริง ๆ แล้ว สำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาด ไม่ควรดำเนินการใด ๆ ที่จะเป็นการลดการแข่งขัน ด้วยการลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด จาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย ก่อให้เกิดสภาวะตลาดผูกขาดแบบ Duopoly ที่มีรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเหลืออยู่เพียงสองรายอย่างถาวร ซึ่งในอนาคตแพ็กเก็จจากฝั่งเจ้าตลาดคือ AIS หรือบริษัทใหม่ที่เกิดหลังจากควบรวมก็จะดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดโทรคมนาคมสูงอย่างมาก และก็จะเป็นเหมือนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ทุกแบรนด์เป็นเจ้าของเดียวกันหมด หรือมีคู่แข่งเพียง 2 รายเท่านั้น

โดยมาร์เก็ตแชร์ของค่ายมือถือรายใหญ่ที่เหลืออยู่เพียง 2 รายคือ ทรูและดีแทค อยู่ที่ 54.2%, เอไอเอส 45.5% ส่วน NT มีส่วนแบ่งเพียง 0.3%

ทั้งนี้ 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่ผู้บริโภคจะได้รับการควบรวม TRUE และ DTAC พบว่าผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 7-23% หรือ 15-50 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่าการประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการควบรวม โดยกรณีที่มีการควบรวมและรายใหญ่แข่งขันกันรุนแรง ค่าบริการในตลาดจะเพิ่มขึ้น 7-10% แต่หากแข่งขันตามปกติ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23% อย่างไรก็ตาม หากผู้เล่นรายใหญ่มีการฮั้วกัน ค่าบริการในตลาดจะเพิ่มขึ้น 66-120%