
“ทรูและดีแทค” ใช้เวลาปีกว่าในการเดินหน้าความร่วมมือทางธุรกิจ ในแบบที่เรียกว่า “equal partnership” หลังผ่านด่าน “กสทช.” มาได้เมื่อปลายปี 2565 ล่าสุดทั้ง 2 บริษัทได้ดำเนินการควบรวมกิจการ และปรับโครงสร้างองค์กรให้มาอยู่ภายใต้บริษัทใหม่เดียวกัน ในชื่อเดิมว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น”
พร้อมทั้งดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2566 เรียบร้อยแล้ว อันเป็นการนับหนึ่งในบริบทของบริษัทใหม่กับเป้าหมายที่ต้องการเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี (เทคคอมปะนี) ในระดับภูมิภาค
โดยมี “มนัสส์ มานะวุฒิเวช” (โคซีอีโอกลุ่มทรูเดิม) มานั่งเป็นประธานคณะผู้บริหารบริษัทใหม่ และมี “ชารัด เมห์โรทรา” เป็นรองประธานคณะผู้บริหาร ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงทั้งของดีแทคและทรูเดิม อีก 11 ตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิ
ฐานพล มานะวุฒิเวชช์ เป็น CMO-Chief Marketing Office, ประเทศ ตันกุรานันท์ CTO-Chief Technology Office, จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ CCAO-Chief CorporateAffairs Officer, อมาเรช คูมาร์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการขาย, ทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการจัดการระดับภูมิภาค เป็นต้น
พลิก ปวศ.ธุรกิจสื่อสาร
“เยอเกน โร้สทริป” EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นานกว่า 25 ปี กับการรวมกันของทรูและดีแทค ในครั้งนี้ยังถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มเทเลนอร์ ที่มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการรวมกันที่เท่าเทียมและจะนำไปสู่การพัฒนาอีกมากมายในอนาคตที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย สังคม และผู้บริโภคได้อีกมาก
“ไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีความสำคัญมากที่สุดของเทเลนอร์ เราสามารถใช้องค์ความรู้ที่มี สนับสนุนการทำให้สังคมเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ลดช่องว่าง และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในด้านต่าง ๆ ส่งเสริมการแข่งขันที่มากขึ้น สนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีบทบาทในบริษัทที่แท้จริงเพื่อก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน”
ด้าน “อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข” กรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การควบรวมกันระหว่างทรูและดีแทคเป็นบริษัทใหม่ได้สำเร็จ ถือได้ว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย ที่องค์กรขนาดใหญ่อย่างเทเลนอร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) จะมีวิสัยทัศน์ในการจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี (เทคคอมปะนี) ร่วมกัน
ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ช่วยให้การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างประโยชน์อย่างก้าวกระโดดได้ และจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และประเทศให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น ด้วยความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กร เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันที่ใหญ่ และมากพอที่จะปลดล็อกศักยภาพธุรกิจของคนไทยและผู้บริโภค ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
1+1=ไม่สิ้นสุดพลิกเกมขึ้นผู้นำ
“บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะดึงดูดทรัพยากร ทั้งคนเก่งและนักลงทุนเข้ามา การผนึกกำลังของดีแทคและทรู จะทำให้คุณภาพโครงข่ายดีขึ้น ทั้งในแง่ความครอบคลุม ความเร็ว ความแรงของสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต
รวมถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ ทำให้เกิดความหลากหลาย และการพัฒนาที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น เกิดสิ่งใหม่ ๆ เช่น ลดช่องว่างเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเรื่องโอกาส การเรียน การแพทย์และการประกอบธุรกิจ รวมถึงการนำองค์ความรู้ของบุคลากรจากยุโรปและเอเชีย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้เกิดการหล่อหลอม ต่อยอด และทำให้ผู้ถือหุ้นได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ยั่งยืนและยาวนานด้วย”
“มนัสส์ มานะวุฒิเวช” ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ความร่วมมือของทรูและดีแทค อยู่บนหลักการความเท่าเทียม ซึ่งหมายถึงการเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน สนับสนุนเคียงบ่าเคียงไหล่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน โดยดึงศักยภาพและจุดแข็งของทั้งคู่มาร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยี ภายใต้แนวคิด Better Together (ดีกว่าเมื่อมีกันและกัน) ทำให้ 1+1 เท่ากับ “อินฟินิตี้”หรือไม่รู้จบ
นอกจากนี้ ภายใต้บริษัทใหม่จะมีบริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 แบรนด์ คือทรูมูฟ เอช ที่มีฐานลูกค้า 33.8 ล้านราย ดีแทค 21.2 ล้านราย รวมกันเป็นกว่า 50 ล้านราย มากกว่าเอไอเอส ที่มีฐานลูกค้า 46 ล้านราย จึงขยับขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในแง่ฐานลูกค้ามือถือ และมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย
ย้ำไม่ผูกขาด-ลูกค้าได้ประโยชน์
“มนัสส์” ย้ำว่า การผนึกกำลังกันของดีแทคและทรู มีเจตนาที่จะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพการบริการและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่จะมีเพิ่มเติมตามมาอีกมาก ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เป็นไปตามข้อกังวลต่าง ๆ ทั้งเรื่องการผูกขาด หรือบริการที่จะแย่ลง แต่เป็นการดึงศักยภาพและความสามารถที่่ต่างฝ่ายต่างมีมาพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งในแง่บริการภายใต้แบรนด์ของทั้งคู่ก็จะยังคงอยู่
“เราเริ่มต้นด้วยการโรมมิ่งเครือข่าย ภายใต้กฎการกำกับดูแลของ กสทช. ทำให้เราสามารถที่จะดูแลลูกค้าได้มากกว่าเดิม เช่น ลูกค้าดีแทค สามารถใช้คลื่น 2600 MHz ของทรูได้ ขณะที่ทรูก็ใช้คลื่น 700 MHz ของดีแทคได้ ทำให้ได้รับบริการที่ครอบคลุม และมีคุณภาพยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมรับทั่วประเทศ ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ มีเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งที่เป็นผู้นำในตลาด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า ดังนั้น เมื่อเราร่วมกัน ลูกค้าทรูและดีแทค จะใช้ไวไฟได้มากกว่า 1 แสนจุด และมีอินเตอร์เนชั่นแนลเกตเวย์ และสายเคเบิลใต้น้ำที่ส่งข้อมูลไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”
ปักธง 5G เดินหน้า 7 กลยุทธ์
“มนัสส์” กล่าวด้วยว่า บริษัทยังตั้งเป้าที่จะขยายบริการ 5G ให้ครอบคลุม 98% ของพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ทั่วประเทศให้ได้ภายในปี 2569 และมุ่งผสานพลังด้วยกลยุทธ์ 7 ด้าน ได้แก่
1.ต้องเป็นผู้นำด้านโครงข่าย และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างแท้จริง
2.เดินหน้าขยายธุรกิจให้ครอบคลุมมากกว่าบริการพื้นฐาน เน้นนวัตกรรมและโซลูชั่นใหม่ ๆ
3.สร้างมาตรฐานและประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ด้วยการนำข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ เพื่อให้บริการที่ถูกใจตรงใจ และไร้รอยต่อ
4.ส่งมอบชีวิตอัจฉริยะ เพิ่มความสะดวกและปลอดภัย
5.เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ลูกค้าองค์กร
6.สร้างองค์กรที่น่าทำงาน
7.ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว
ส่วนสาเหตุที่บริษัทใหม่ใช้ชื่อ “ทรู” เนื่องจากแบรนด์ทรูมีบริการที่หลากหลายและชัดเจนเรื่องการเป็น digital innovation
“แบรนด์ไม่ได้หายไป ทรูมูฟ เอชและดีแทคยังอยู่ในตลาด แม้ชื่อบริษัทจะเปลี่ยน เราเชื่อด้วยว่า ยิ่งพวกเราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็จะสร้างทั้ง 2 แบรนด์ให้แข็งแกร่งไปด้วยกันได้”
ไม่ขึ้นราคา-แข่งเพิ่มคุณค่า
“มนัสส์” กล่าวถึงเรื่องราคาด้วยว่า ราคาค่าบริการจะไม่ขึ้นแน่นอน และจะดำเนินการตามเงื่อนไขของ กสทช. ซึ่งไม่สามารถทำให้ขึ้นราคาได้ และยืนยันว่าการบริการจะดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมีความตั้งใจที่จะทำให้คนไทยมีความภาคภูมิใจได้ว่าเป็นเครือข่ายระดับต้น ๆ ของโลก จึงจะไม่ลดคุณภาพ และมีการขยายบริการต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะไม่โฟกัสไปที่การแข่งขันด้านราคา เพราะการควบรวมของ 2 บริษัททำให้มีพาร์ตเนอร์ ตลอดจนบริการต่าง ๆ จำนวนมากที่สามารถนำไปสร้างคุณค่าเพิ่ม (value added) ให้กับลูกค้า โดยเฉพาะส่วนลดหรือสิทธิประโยชน์ ไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ชมภาพยนตร์ เป็นต้น