
ทรู ผงาดเบอร์ 1 ยักษ์มือถือ ผนึกดีแทคสานฝันเทคคอมปะนี
วันที่ 2 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทใหม่หลังการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และดีแทค ได้จัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าจะรวมศักยภาพและจุดแข็งของทั้งคู่ ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของไทย ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together)
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
พร้อมทั้งย้ำว่าการผสานพลังรวมกัน 1+1 เท่ากับ ‘อินฟินิตี้’ สร้างศักยภาพความเป็นไปได้ใหม่ที่ไม่รู้จบ พร้อมนำ 7 กลยุทธ์หลักสู่การเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวขึ้นสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล
พร้อมไปกับภารกิจในการดูแลผู้ใช้งานมือถือทั้งสองแบรนด์ในวันนี้ คือทรูมูฟ เอช 33.8 ล้านเลขหมาย และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย กับผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย
และเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ โดยมูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท (ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566) ก่อนที่จะขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว เพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้งสองบริษัท และการดำเนินการอื่น ๆ
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคม ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย และปูทางให้ประเทศไทยก้าวสู่ตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในโลกดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
‘การสร้างบริษัทโทรคมนาคมเทคโนโลยีใหม่ครั้งนี้ จะนำสิ่งที่ดีที่สุดของทั้งทรูและดีแทคมาผนึกรวมกัน เพื่อขยายขนาด และส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้น ให้ทั้งกับประเทศ ลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น ด้วยความแข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งจากองค์กรไทย คือเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเทเลนอร์ กรุ๊ป’
นอกจากนี้ บริษัทใหม่จะได้ประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) ทั้งด้านการลงทุนและรายได้ อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เครือข่ายไอที การจัดซื้อ การขาย การตลาด ช่องทางการค้าปลีก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่จะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดของลูกค้า
นายมนัสส์กล่าวด้วยว่า ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น” จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับดิจิทัลสตาร์ตอัพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ บริษัทใหม่จะร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัล
ด้านนายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ภายในปี 2569 พร้อมพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตามรายงานโดยการวิจัยของ GSMA คาดว่า 5G จะช่วยผลักดันการเติบโตของ GDP ในประเทศไทยที่มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท) ในปี 2573
ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะให้บริการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ “ทรู” และ “ดีแทค” โดยลูกค้าสามารถใช้สัญญาณคุณภาพดีขึ้นทันทีจากสัญลักษณ์เครือข่าย dtac-True และ True-dtac บนหน้าจอมือถือ
เป็นก้าวแรกในการพัฒนาคุณภาพสัญญาณโมบายล์อินเทอร์เน็ตด้วยการ “โรมมิ่ง” สัญญาณข้ามโครงข่าย เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยลูกค้าดีแทคจะใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 MHz และลูกค้าทรูใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 MHz
นายมนัสส์กล่าวด้วยว่า จะมุ่งเน้น 7 กลยุทธ์หลักคือ
1.ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง
2.เดินหน้าขยายธุรกิจให้ครอบคลุมมากกว่าบริการพื้นฐาน เน้นการพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชั่น รวมถึงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน
3.สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการวิเคราะห์ เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น
4.ส่งมอบชีวิตอัจฉริยะยิ่งขึ้นเพื่อทุกสไตล์ลูกค้าชาวไทย
5.ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร เพื่อสร้างความต่างและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายในทุกภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร สาธารณสุข และค้าปลีก
6.สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลาย เป็นที่ทำงานที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีความสามารถ (Talent) ทุกเจเนอเรชั่น มีสวัสดิการและสุขภาวะที่ดี (Well Being) เช่น ลาคลอดได้ 6 เดือน, กลุ่มที่มีความหลากหลายสามารถลาแต่งงานได้ เป็นต้น
7.การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว
นายมนัสส์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งเป้าจะก้าวไปเป็นหนึ่งในองค์กรนายจ้างที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนในแนวทาง ESG (Environment, Social, and Governance) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
โดยด้านสิ่งแวดล้อมได้กำหนดเป้าหมายก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutral ในปี 2573 และ Net zero ภายในปี 2593 รวมทั้งการลดปริมาณขยะฝังกลบ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี 2573