บทใหม่ ทรู นับหนึ่ง เทคคอมปะนี

ทรู
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ชื่อบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคจะหายไป (แต่แบรนด์บริการจะยังอยู่ต่ออีกอย่างน้อย 3 ปี ตามข้อกำหนดของ กสทช.) กลายมาเป็น บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น เพราะทั้งสองบริษัทตัดสินใจร่วมกันว่า หลังการควบรวมกิจการ “ทรู และดีแทค” เป็นองค์กรเดียวกัน ภายใต้โครงสร้างบริษัทใหม่แล้วนั้นก็จะยังคงเลือกใช้ชื่อ “ทรูคอร์ปอเรชั่น”

มีแต่ชื่อที่คงเดิม แต่หลายสิ่งจะไม่เหมือนเดิมตั้งแต่โครงสร้างองค์กร โครงสร้างธุรกิจ การทำตลาด การขาย การบริการ การโปรโมตแบรนด์ ภายใต้ภาพลักษณ์ใหม่ และอื่น ๆ

ในแง่โครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทใหม่จะประกอบไปด้วย ผู้บริหารของทั้ง “ทรู และดีแทค” เดิม ขึ้นมาเป็นหลักในแต่ละส่วนงาน

แต่ที่แน่ ๆ แบบโผไม่พลิกตั้งแต่แรก เห็นจะเป็นตำแหน่ง “ซีอีโอ-CEO” แม่ทัพเบอร์หนึ่งของบริษัทใหม่ ที่มาจากฝั่งของทรู ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น 1 ในกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม (Co-CEO) กลุ่มทรู “มนัสส์ มานะวุฒิเวช”

“มนัสส์” ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในลูกหม้อตัวจริงที่อยู่กับกลุ่มทรูมานานกว่า 20 ปี เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานมาแล้วในหลายส่วนที่มีบทบาทสำคัญ ๆ ในองค์กร

เคยดูแลธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจมีเดีย ระบบงานปฏิบัติการ และเครือข่าย และการบริหารจัดการระดับภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “คอนเวอร์เจนซ์” วางแผนกลยุทธ์ในการออกไปรุกตลาดทั่วประเทศ มีส่วนในการเพิ่มทั้งยอดขายในธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ของกลุ่มทรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง

เรียกได้ว่าลุยมาหมด ตั้งแต่ร่วมสร้างโครงข่ายสื่อสารไร้สาย อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจหลักของกลุ่มทรู ด้านการตลาดธุรกิจมือถือ, ออนไลน์ และทรูวิชั่นส์

ถือได้ว่าครบเครื่องเป็นอย่างยิ่งในการขึ้นมานั่งเป็นแม่ทัพในบริษัทใหม่ที่ต้องผลักดันองค์กรไปสู่บริบทใหม่ ในฐานะบริษัทด้านเทคโนโลยี (เทคคอมปะนี) ในระดับภูมิภาค

ดังที่ 2 แม่ทัพเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) และเทเลนอร์กรุ๊ป “ศุภชัย เจียรวนนท์ และซิคเว่ เบรกเก้” ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ที่ทั้งคู่ออกมายอมรับว่าจะมีความร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบ “equal partnership”

ถัดจาก “มนัสส์” ตำแหน่งในระดับสำคัญ ๆ อื่น ๆ ก็จะผสมผสานกันระหว่างทรู และดีแทค เช่น “ชารัด เมห์โรทรา” ซีอีโอ ดีแทค เดิม นั่งในตำแหน่ง Deputy CEO (รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร), ประเทศ ตันกุรานนท์” เป็น CTO-Chief Technology Officer, “ฐานพล มานะวุฒิเวช” เป็นแม่ทัพด้านการตลาดในตำแหน่ง CMO-Chief Marketing Officer เป็นต้น

เรียกได้ว่ารวบตึงผู้บริหารระดับสูงของแต่ละบริษัทในแต่ละด้านมาร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันบริษัทใหม่อย่างเต็มที่

ในสังเวียนธุรกิจโทรศัพท์มือถือในอดีต “กลุ่มทรู” โดย “ทรูมูฟเอช” เป็นน้องใหม่ที่มาแรงมาก จนสามารถขยับตำแหน่งทางการตลาดจากเบอร์ 3 ในแง่ฐานลูกค้าขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 แซงหน้า “ดีแทค” ได้ในที่สุด แต่ก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าที่จะขึ้นมาได้

และถ้าคิดจะขยับขึ้นมาเป็นผู้นำ แทนที่เบอร์หนึ่งอย่าง “เอไอเอส” ย่อมไม่ง่าย และอาจต้องใช้เวลาอีกมาก

ท่ามกลางบริบทธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก และรวดเร็วจากกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ที่สามารถแปลงกายมาเป็น “คู่แข่ง” สำคัญได้ตลอดเวลา

ไม่เฉพาะแค่ยักษ์ดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหลายที่ปรากฏตัวให้เห็นแล้วเท่านั้น แต่ในอนาคตอาจจะเป็น “ใครอีกก็ได้”

ความร่วมมือในระดับที่ลึกดังเช่น การรวมธุรกิจของ “ทรู-ดีแทค” ภายใต้บริษัทใหม่ “ทรูคอร์ปอเรชั่น” จึงเป็นการปรับตัวให้ทันกับบริบทธุรกิจ และการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

จริงอยู่ที่ในแง่องค์กรอาจสมเหตุสมผลในแง่ความอยู่รอด และเติบโตของธุรกิจ แต่คำถามที่ “ทั้งคู่”จะต้องตอบ และแสดงให้เห็นด้วยว่า ตลอดการเดินทางไปสู่การเป็น “เทค คอมปะนี”ในภูมิภาคที่น่าจะดีกับผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น “ลูกค้า/ผู้บริโภค” สังคม และประเทศจะได้ประโยชน์อย่างไร