ไทยคม จ่อยิงดาวเทียม 4 ดวง ลุยธุรกิจบรอดแบรนด์

ปฐมภพ สุวรรณศิริ-ไทยคม
ปฐมภพ สุวรรณศิริ

ไทยคมเตรียมเสนอแผนขออนุมัติวงเงิน 15,000 ล้านบาทต่อผู้ถือหุ้น เม.ย.2566 ใช้ส่งดาวเทียมค้างฟ้า 3 ดวงสำหรับวงโคจร 119.5 ที่เพิ่งประมูลได้ ภายในปี 2570 วงโคจร 78.5 อีก 1 ดวงยังอยู่พิจารณาตามความเหมาะสม 

วันที่ 3 มีนาคม 2566 นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำนวน 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 ตำแหน่ง 119.5-120องศาตะวันออก และ ชุดที่ 2 ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยวิธีการประมูลในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีความพร้อมที่จะเดินหน้าทำธุรกิจ เนื่องจากได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ซึ่งหลายรายจะเห็นความชัดเจนในใช้บริการดาวเทียมจากไทยคมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำข้อตกลงทางธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต

นายปฐมภพ กล่าวด้วยว่า จากความชัดเจนที่ไทยคมได้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเดิมที่มี ทำให้มีลูกค้ารายเก่าและลูกค้าที่กำลังตัดสินใจใช้บริการดาวเทียมมีความชัดเจนขึ้น ยอดขายจะกลับมาเมื่ออายุดาวเทียมชัดเจนขึ้น ดังนั้นการทำธุรกิจบนวงโคจรทั้งสองไม่ได้เริ่มจากศูนย์

นอกจากนี้ ในวงโคจรตำแหน่ง 119.5 ซึ่งดาวเทียไทยคม 4 ก็กำลังจะหมดอายุทางวิศวกรรมในปี 2567 ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเนื่องจากยังไม่มีแผนการทดแทน เพราะประจวบเหมาะกับการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานมาสู่การประมูลทำให้ลูกค้าของไทยคมหลายรายไม่เห็นความชัดเจนในการใช้บริการดาวเทียมในระยะยาว ดังนั้นใบอนุญาตล่าสุดจะเบิกทางให้ไทยคมพูดคุยกับลูกค้าได้ชัดเจนขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า

นายปฐมภพ เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้จะมีการเสนอแผนเพื่อขออนุมัติวงเงินในการลงทุนจำนวน 15,000 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 เมษายน 2566 จากนั้นจะจัดทำรายละเอียดเรื่องการส่งดาวเทียมค้างฟ้าขึ้นสู่วงโคจรเพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 4 จำนวน 3 ดวง แบ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวง (ราคาตลาดอยู่ที่ราว 2พันล้านบาท) ภายในปี 2567-2568 และขนาดใหญ่ 1 ดวง (ราคาตลาดราว 8พันล้านบาท) ภายในปี 2570 ซึ่งทั้งหมดจะมี Capacity มากกว่า ไทยคม 4 ถึง 3 เท่า

“ไทยคม 4 จะหมดอายุในปี 2567 เราต้องยิงดาวเทียมทดแทน ซึ่งดาวเทียมขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาสร้างถึง 4 ปี จึงต้องยิงดวงเล็กที่ใช้เวลา 18 เดือนก่อน เพื่อทดแทนและเคลื่อนย้ายลูกค้าเดิมของเรา คาดว่าแม้จะเป็นดาวเทียมดวงเล็กดวงใหม่ก็จะสามารถมีลูกค้าใช้งานเกิน 50% ได้แทบจะทันที”

ทั้งนี้ วงโคจรในตำแหน่ง 78.5องศาตะวันออก ก็มีแผนว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นไปอีกหนึ่งดวง แต่ช่วงนี้กำลังหารือว่าจะทำธุรกิจแบบใด เนื่องจากวงโคจรนี้เป็นวงโคจรที่สวยมาก เห็นทั้งอินเดีย ตะวันออกกลางถึงยุโรปตะวันออก โดยจะใช้เวลา 12 เดือนเพื่อตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจแบบใด

นายปฐมภพ เน้นย้ำว่า ถึงอย่างไรก็จะดูที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ว่าลูกค้าในโซนนั้นต้องการอะไร แล้วไทยคมสามารถตอบสนองอะไรได้บ้าง ซึ่งจะลงทุนส่งดาวเทียมดวงเล็กหรือดวงใหญ่ต้องพิจารณาจากตรงนี้เป็นหลัก

นายปฐมภพ กล่าวเสริมด้วยว่า การออกแบบและสร้างดาวเทียมจะมุ่งเน้นการทำดาวเทียมบรอดแบรนด์เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่ไทยคมกินส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่ง และสร้างรายได้กว่า 1ใน3 ให้ไทยคมในปัจจุบัน

“อุตสาหกรรมบรอดคาสต์ (โทรทัศน์ดาวเทียม) ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ใน 5 ปีนี้ก็ไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพราะเรามี Capacity ที่เพียงพอต่อการให้บริการบรอดคาสต์แล้ว ในอีก 10 ปี บรอดแบรนด์เป็นพื้นที่ที่ต้องไปต่อ”