TKC ปักหมุดพัฒนายานยนต์ไร้คนขับขนาดใหญ่ด้วย 5G

TKC ผนึก 4 หน่วยงานด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ – ยานยนต์ – มจธ. ลงนามร่วมวิจัยพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติขนาดใหญ่ นำร่องอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา 

วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายปิยะ จิราภาพงศา รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ MOU กับ 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้ผลิตและประกอบยานยนต์ขนาดใหญ่, นางสาววรีมน ปุรผาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถ AGV สำหรับอุตสาหกรรมและหุ่นยนต์ขนส่งและ นายคมสหัสภพ นุตยกุล กรรมการบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตโดยสารเชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า

การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปเพื่อศึกษาวิจัยเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับที่มีขนาดใหญ่ และสามารถใช้ประโยชน์เชิงพานิช ประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนการต่อยอดไปสู่การพัฒนายานยนต์ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

โดย TKC เป็นผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่สามารถวางระบบส่งสัญญาณ 5G ให้เเพลตฟอร์มของรถโดยสาร ด้าน เจนเซิร์ฟ มีซอฟแวร์และแพลตฟอร์มด้านหุ่นยนต์ขนส่งเพื่อช่วยว่างระบบ ในขณะที่พนัสแอสเซมบลีย์ มีความชำนาญในการประกอบสร้างรถบรรทุก รถขนส่งขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงยานเกราะล้อยางที่ใช้ในกองทัพ เช่นเดียวกับเน็กพ็อยท์ ที่ชำนาญการสร้างรถโดยสารที่ส่งกำลังโดยกระแสไฟฟ้า

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกฝ่ายจะได้แบ่งปันองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนบุคลากร ในการดำเนินโครงการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติร่วมกัน เพื่อพัฒนางานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริงและยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล  ในฐานะสถาบันการศึกษาจะได้สร้างและพัฒนาบุคลากรคุณภาพให้รองรับอุตสาหกรรมนี้ด้วย

นายปิยะ กล่าวว่า 4 องค์กรนี้ ได้ตัดสินใจที่จะมาช่วยกันทั้งในด้านการวิจัย และความร่วมมือกันเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีด้านรถไร้คนขับให้เป็นรูปธรรมในประเทศไทย

“สำหรับทีเคซีนั้นนอกจากเราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับแล้ว ระบบการสื่อสารที่เกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น  เทคโนโลยี C-V2X หรือ Cellular Vehicle-to-Everything ภายใต้เทคโนโลยี 5G จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบยานยนต์ไร้คนขับ ให้มีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย สร้างความสะดวกสบาย และเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่และแก่ผู้โดยสาร

รวมถึงผู้สัญจรอื่นบนท้องถนนร่วมกัน ทีเคซีซึ่งอยู่ในแวดงวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการสื่อสาร จะนำความเชี่ยวชาญที่มีมาดำเนินการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวร่วมกับงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือนี้” นายปิยะ กล่าว

ขณะที่นายพนัส กล่าวว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ ถือเป็นโครงการแรก ๆ ของประเทศในการพัฒนารถไร้คนขับ  และเชื่อว่ารถไฟฟ้าไร้คนขับ จะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความร่วมมือนี้จะนำมาสู่การพัฒนาร่วมกันและต่อยอดได้ในอนาคต เป้าหมายเพื่อสร้างรถที่ช่วยลดอุบัติเหตุ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ด้านน.ส.วรีมน กล่าวว่า การสร้างยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้าน เพื่อสร้างรถที่ปลอดภัยระดับสูง มีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญ

ขณะที่ นายคมสหัสภพ กล่าวว่า เชื่อว่ารถไร้คนขับจะมีบทบาทมาในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่นำไปสู่การใช้งานจริง เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สามารถทัดเทียมต่างชาติได้

โดยขณะนี้ TKC และ มจธ. กำลังดำเนินโครงการทดสอบรถโดยสารไร้คนขับภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 27 ล้านบาท ระยะเวลาสิ้นสุดโครงฃการในปี 2567 ชื่อ “โครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชั่นระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน”

สำหรับโครงการฯ นี้ เพื่อสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ อย่างน้อยระดับที่ 3 มีขนาดไม่น้อยกว่า 20 ที่นั่ง สื่อสารร่วมกับโมบายแอปพลิเคชันระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน

เพื่อศึกษาทดลองการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบที่วิ่งร่วมกับรถทั่วไปในท้องถนนจริง ศึกษาข้อมูลทางกายภาพในเขตพื้นที่เป้าหมาย ข้อมูลทางเทคนิค ข้อจำกัด และปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจหรือการควบคุมรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับได้ เพื่อทดสอบการนำเอาระบบสื่อสารภายใต้โครงข่าย 5G มาใช้งานระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับระบบอื่นๆ ในรูปแบบการติดต่อสื่อสาร C-V2X (Cellular-Vehicle-to-Everything) เพื่อนำข้อมูลจากการทดสอบมาใช้ในการกำหนดแผนและแนวทางข้อกำหนดเบื้องต้นของการใช้รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวในเขตโบราณสถานรวมถึงระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้

ทั้ง 4 องค์กรเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้ และการร่วมทำโครงการวิจัยดังกล่าวจะเป็นการนำร่องหรือจุดเริ่มต้นในการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องรถไฟฟ้าไร้คนขับ ทั้งด้านระบบและแพลตฟอร์ม (Software) พัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม (People Ware) ตลอดจนการออกแบบและผลิต (Hardware) เพื่อร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับไทยให้เติบโตต่อไป