“อุ๊คบี” ในวันที่ไม่ได้มีแค่ “อีบุ๊ก” จัดทัพธุรกิจใหม่ปั๊มรายได้ทะลุพันล้าน

สัมภาษณ์

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิสรัปต์ธุรกิจหนังสือน่าจะเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลจากหนังสือเล่ม ๆ สู่ “อีบุ๊ก” ที่ผลิตงานโดยนักเขียนมืออาชีพ มาสู่นักอ่านที่ผันตนเองมาเป็นนักเขียนนักเล่าเรื่องราวบนแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบ User Generated Contents (UGC) ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การอ่าน และเขียนอีกต่อไป

เช่นกันกับการขยับขยายธุรกิจของ “อุ๊คบี” (Ookbee) แพลตฟอร์ม “อีบุ๊ก” สัญชาติไทยที่เริ่มต้นจากอีบุ๊ก แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่หนังสือหรือการอ่าน ขยับขยายผลิตภัณฑ์ และบริการออกไปอีกมากให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เป็นอีกตัวอย่างของสตาร์ตอัพไทยที่คิด-ทำก่อนใครไม่หยุดพัฒนาตนเอง ที่ผ่านมาแม้เคยผิดพลาดล้มเหลวมาแล้วไม่ใช่น้อย ที่สเกลใหญ่หน่อยก็กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ “อุ๊คบีมอลล์” หมดเงินไปนับร้อยล้านภายในไม่กี่ปี แต่ยึดแนวคิดแบบสตาร์ตอัพ ที่ “ล้มเร็วลุกเร็ว” และมองว่าล้มเหลวดีกว่าไม่ทำจึงผ่านมาได้

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ อุ๊คบี (Ookbee) เกี่ยวกับทิศทางธุรกิจของอุ๊คบีที่ไม่ได้มีแค่ “อีบุ๊ก”

รื้อโครงสร้างปรับโฟกัสธุรกิจ

“ณัฐวุฒิ” กล่าวว่า อุ๊คบีเริ่มต้นจากโมเดลการขาย “อีบุ๊ก” เป็นเล่ม ๆ มาสู่โมเดลที่ผู้ใช้งานสร้างคอนเทนต์แล้วแบ่งรายได้กับแพลตฟอร์ม หรือที่เรียกว่า “UGC” ซึ่งมีคอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีความหลากหลายตามกลุ่มผู้ใช้ เช่น “ธัญวลัย” เป็นคอมมิวนิตี้ของผู้ที่ชื่นชอบนิยายโรแมนซ์, จอยลดา คอมมิวนิตี้ของคนที่ชื่นชอบนิยายแชต, “ฟังใจ” แพลตฟอร์มสตรีมเพลง, อะดวงแพลตฟอร์มดูดวง เป็นต้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งปรับโครงสร้างองค์กรจัดกลุ่มธุรกิจใหม่ แยก 3 กลุ่ม คือ 1. Reading Group เพิ่มโฟกัสแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการอ่านมากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งบริษัท

“แอปเกี่ยวกับการอ่านของเรากระจัดกระจาย มีตั้งแต่อุ๊คบีตัวเก่ามีธัญวลัย มีฟิกชันล็อก มีนิยายแชต จอยลดา ล่าสุดมีแอปอีบุ๊คใหม่ ชื่อ “ปิ่นโต” เพราะอุ๊คบีเดิมเริ่มมาจากแอปขายนิตยสาร หรือหนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ แล้วกระโดดไปทำแพลตฟอร์ม UGC หลายคนเขียนนิยาย มีคนติดตามบนแอปเราแล้วรวมเล่มไปขายบนแอปอื่น จึงเป็นช่องว่างที่ต้องทำแอปปิ่นโตมาเติมอีโคซิสเต็มส์”

2.Digital Contents ที่เป็นแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น ฟังใจทำเรื่องดนตรี, อะดวง (แพลตฟอร์มดูดวง) และ 3.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเกี่ยวกับบล็อกเชน โดยเข้าไปลงทุนใน Six Network บล็อกเชนสัญชาติเกาหลี เพื่อทดสอบแนวคิดเกี่ยวกับ WEB 3 ในอนาคตว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร

“ถ้าพูดในภาพรวมคริปโตหรืออะไรพวกนี้ ราคาไปไกลกว่าการใช้งานจริง เรามองว่าสิ่งที่จับต้องได้เยอะหน่อยจะเป็น NFT ดังนั้น SIX จึงเริ่มทำโปรเจ็กต์ NFT อาจเหมือนการเก็งกำไร แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่าการที่ NFT ราคาแพงขนาดนั้นได้ แสดงว่าเทคโนโลยีเวิร์กมาก ถ้าไม่เวิร์กใครจะกล้าซื้อเป็นสิบล้าน ในระยะยาว ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็น NFT ไม่จำเป็นต้องแค่รูปภาพตั๋วหนังตั๋วคอนเสิร์ต มีกระเป๋าคริปโตเก็บไว้ ก็จะรู้ด้วยว่าเคยดูหนังเรื่องอะไรมา และเจ้าของหนังก็รู้ว่าใครเคยดูหนังของเขาบ้าง สมมุติ อวาตาร์ออกภาคใหม่ก็อาจให้ส่วนลดพิเศษสำหรับแฟนพันธุ์แท้ที่ดูมาแล้วกี่รอบในช่วงกี่ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จับต้องได้ ตรงไปตรงมา”

ตั้งหลักหารายได้

เมื่อพูดถึงตัวเลขรายได้ “ณัฐวุฒิ” บอกว่า ที่ผ่านมาอุ๊คบีสร้างรายได้รวมได้กว่า 700 ล้านบาท กว่า 50% มาจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการอ่าน ซึ่งในแง่แพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ใช้รวมกันกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน ถือว่าเยอะมาก หากเทียบกับแอปพลิเคชั่นยอดฮิตอย่างไลน์ที่มีผู้ใช้กว่า 40 ล้านคน จึงเป็นโอกาสในการขยับขยายหารายได้เพิ่มเติมได้ โดยตั้งเป้าขยับให้ถึง 1,000 ล้านบาท เร็ว ๆ นี้ แม้ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เจน Z อายุเฉลี่ย 15-25 ปี ชอบอ่านนิยาย แต่อาจยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก เน้นอ่านฟรี เขียนฟรี บนแพลตฟอร์ม UGC

“คนรุ่นใหม่แอ็กทีฟเรื่องการสร้างคอนเทนต์ ถ้าคนกลุ่มนี้อ่านนิยายในแอปพลิเคชั่นของเรา วันหนึ่งก็อยากจะเขียน คนอ่าน คนเขียนเป็นพวกเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างแยกเป็นกลุ่ม Reading Group เพื่อหาทางสร้างรายได้ และตอบสนองคนให้ครบทุกวัยในแต่ละแอป อย่างธัญวลัยจะเป็นนิยายผู้ใหญ่หน่อย กลุ่มหนังสือพรีเมี่ยมอาจไม่ใหญ่เท่ากลุ่มวัยรุ่น แต่เป็น กลุ่มที่จ่ายหนัก อายุ 35 ปีขึ้นไป และรักการอ่าน แต่ละเดือนอ่านอีบุ๊กหลายเล่ม และใช้จ่ายเป็นพันบาท ขณะที่กลุ่มเด็ก เดือนหนึ่งอาจไม่กี่ร้อย ในโซเชียลจะเป็นกลุ่มที่เล่นทวิตเตอร์หรือเล่น TikTok ฐานลูกค้าเหล่านี้จะเด็กลง แต่แอ็กทีฟมากขึ้น”

สอดคล้องกับโมเดล UGC ที่เป็นคอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้เหมือนเล่น TikTok, อินสตาแกรม เมื่อดูคนอื่นโพสต์ก็อยากโพสต์บ้าง มีคลิปเต้นออกมา แรก ๆ อาจดูเฉย ๆ แต่สักพักก็จะเต้นตาม และอัดคลิปโพสต์ได้ ต่างจากวัยเราจะชอบดูเฉย ๆ

“จริง ๆ ต้องบอกว่า ตลาดอีบุ๊กเมืองไทย สำหรับคนที่จ่ายเงินเป็นเล่มก็ยังจ่ายเป็นเล่มอีบุ๊คอยู่ เราเห็นตัวอย่างในตลาดอย่าง MEB (แพลตฟอร์มขายอีบุ๊ก) ที่โฟกัสการขายหนังสือเป็นเล่ม เราก็มีเป็นเล่ม แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ของเราไม่ได้ซื้อเป็นเล่ม ๆ แบบนั้น”

ปัจจุบันมีผู้ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมกันเฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านคน แต่มีราว 10% ที่จ่ายเงิน เช่น ซื้อคอยน์จ่ายให้นักเขียนที่ชอบเพื่ออ่านนิยายตอนต่อไป ถือว่ายังมีผู้ใช้ที่จ่ายเงินน้อย แต่มีรายได้ทางอื่นเพิ่มได้ เช่น รายได้จากการโฆษณา และการบู๊ตโพสต์ให้กับเจ้าของคอนเทนต์ที่ต้องการให้คอนเทนต์ของตนเองติดอยู่ในอันดับต้น ๆ เป็นต้น

“โมเดลรายได้สำหรับลูกค้ากลุ่มใหญ่จะเปลี่ยนไปจากการขายเป็นเล่ม มาขายเป็นตอนสั้น ๆ การซื้อแต่ละตอนจะเหมือนเติมเหรียญเล่นเกม ตอนหนึ่งอาจแค่สามบาท ซื้อวันละ1-2 ตอน นักเขียนเก็บเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในแอปบางคนอาจมีรายได้หลายแสนบาทต่อเดือนเลย สมมติมีคนอ่านสักพันคน คนละสามบาทวันหนึ่งก็ได้สามพัน แม้เป็นกลุ่มที่กำลังซื้อไม่สูง แต่มีจำนวนมาก โดยนักเขียนจะได้ส่วนแบ่ง 70% จากเหรียญที่นักอ่านเติมเงินซื้อเพื่อปลดล็อกตอนใหม่ ๆ”

คนรุ่นใหม่เล่าเรื่องแบบใหม่

“พูดถึงตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เกมถือว่าใหญ่สุด หรือบริการ โอทีทีอย่าง เน็ตฟลิกซ์ หรือ วิว หรือโซเชียลมีเดีย ก็ถือว่าเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ แต่หลายอย่างพบว่าเส้นแบ่งประเภทบางลง พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่มีวิธีการเล่าเรื่องทำคอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้นอย่างแอปจอยลดาของเราก็เกิดจากการแชตในโซเชียลมีเดียที่อ่านบทยาว ๆ ไม่ไหวแล้ว เด็กเริ่มเขียนยาว ๆ ไม่ไหว ก็เขียนสั้น ๆ มีตัวละครคุยกันกลายมาเป็นนิยายแชต ตอนนี้ก็ทดลองไปถึงเมตาเวิร์ส มีตัวปั้น 3 มิติ”

มีการเล่าเรื่องแบบใหม่ ๆ เช่น การเปิดห้องออนไลน์ไลฟ์สตรีมแล้วพูดคุยเล่าเรื่องโต้ตอบกัน ทำให้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไปสู่การให้ของขวัญหรือให้กิฟต์ แต่สำหรับ “อุ๊คบี” แม้้เน้นเรื่อง “การอ่าน”โดยหาคอนเทนต์ดี ๆ ให้คนจ่ายตังค์ซื้อ เพื่อหารายได้แบบตรงไปตรงมา แต่การเล่าเรื่องในอนาคตอาจไม่ใช่แค่การอ่านหรือเขียนเป็นหลักอีกแล้ว

“สมัยนี้เวลาเด็กค้นหาอะไรก็ค้นหาใน TikTok เพื่อดูเร็ว ๆ คนก็พูดสั้น ๆ แค่ 10-20 วิ ก็เข้าใจ การเล่าเรื่องในปัจจุบันกระชับขึ้น เร็วขึ้น เราก็มองว่า ถ้าไม่ใช่ Reading อาจต้องลองมองเรื่องอื่นเป็นการเล่าเรื่องที่ไม่ได้เป็นการอ่านแบบเดิม ๆ เช่น แอป “อะดวง” ที่ให้คนเข้ามาดูดวง มีไลฟ์สตรีมดูดวงเป็นดิจิทัลคอนเทนต์นอกจาก Reading”

แม่ทัพ “อุ๊คบี” บอกว่า การทดลองหาวิธีเล่าเรื่องใหม่ ๆ เป็นปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้อ่าน/ผู้ฟังที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว