ชัดเจนว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ท้าทายสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเงิน (fintech) ทั่วโลก จากสารพัดปัจจัย ยิ่งเมื่อดูรายงาน Pulse of Fintech H2’22 ที่จัดทำขึ้นปีละสองครั้ง ของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก KPMG เกี่ยวกับเทรนด์การลงทุนก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น โดยจะพบว่าการลงทุนในฟินเทคทั่วโลกผ่านการควบรวมกิจการ (merger & acquisition-M&A)
การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (private equity-PE) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital-VC) ลดลงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 164.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการทำดีล 6,006 รายการ หลังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 238.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 7,321 ดีลในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ไม่ใช่ปีที่ย่ำแย่ แต่เป็นปีที่ดีที่สุดอันดับสามสำหรับการลงทุนด้านฟินเทค และเป็นปีที่แข็งแกร่งเป็นอันดับสองด้านปริมาณการซื้อขาย ซึ่งการลดลงอย่างรวดเร็วของการลงทุนฟินเทคระหว่างครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลังปี 2565 จาก 119.2 สู่ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตอกย้ำให้เห็นถึงสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยในครึ่งปีแรกมีดีลมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน M&A 8 รายการ รวมถึงการที่บริษัท Block ในสหรัฐอเมริกาซื้อกิจการบริษัท Afterpay ในออสเตรเลีย มูลค่า 27.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการเพิ่ม VC 2 รายการคือ trade republic ในเยอรมนี และ checkout.com ในสหราชอาณาจักร และข้อตกลง PE อีก 1 รายการในบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัล Genesis ในสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ในครึ่งปีหลังมีข้อตกลง M&A เพียง 3 รายการ ที่มูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งหมดอยู่ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการซื้อกิจการบริษัท Avalara มูลค่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ การซื้อกิจการบริษัท Billtrust มูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการซื้อกิจการบริษัท Computer Services Inc. มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
และการระดมทุน VC ที่ใหญ่ที่สุดในครึ่งปีหลังมีมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัท Klarna ในสวีเดน และเป็นการปรับลดราคาลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนข้อตกลง PE ที่ใหญ่ที่สุด คือการระดมทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐโดยบริษัท Avant ในสหรัฐอเมริกา โดยทวีปอเมริกายังมีอิทธิพลในตลาดโลก คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 68.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 50.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ดึงดูดเงินได้ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เปย์เมนต์แรง-เร็กเทคดาวเด่น
เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดยังพบว่า “การชำระเงิน” (เปย์เมนต์) ยังเป็นหมวดธุรกิจที่ดึงดูดส่วนแบ่งเงินทุนด้านฟินเทคมากที่สุด (53.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ “เร็กเทค” หรือเทคโนโลยีด้านการกำกับดูแล (regulatory technology : RegTech) ถือได้ว่าร้อนแรงที่สุด โดยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 เป็น 18.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในปี 2565 ขณะที่การลงทุนในคริปโต และบล็อกเชนลดลงเหลือ 23.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 อันเป็นผลมาจากการลดลงของมูลค่า Terra (Luna) ในเดือน พ.ค. และการล้มละลายของ FTX เดือน พ.ย.
มูลค่าข้อตกลง M&A ทั่วโลกลดลงจาก 105.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564เป็น 73.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2565 การลงทุน VC ทั่วโลกลดลงจาก 122.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 80.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบปีต่อปี
ส่วนการลงทุนเพื่อการเติบโตของ PE ลดลงจาก 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 เป็น 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565
ส่วนการลงทุน VC ขององค์กรทั่วโลกลดลง จาก 62.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 39.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 แต่ขนาดของข้อตกลงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
สำหรับทั้งข้อตกลงกับนักลงทุนภายนอกกลุ่มแรก ในช่วงสตาร์ตอัพระยะเริ่มต้น หรือ angel & seed-stage จาก 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 เป็น 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 และข้อตกลง VC ระยะเริ่มต้น (จาก 5.75 เป็น 6 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ขนาดข้อตกลงเฉลี่ยลดลงสำหรับข้อตกลง VC ระยะหลัง (จาก 15 เป็น 13.9 ล้านเหรียญสหรัฐ)
สแกนตลาดเอเชียลงทุนพุ่ง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านฟินเทคในเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นจาก 50.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 เป็น 50.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 การที่บริษัท Block เข้าซื้อกิจการบริษัท Afterpay ซึ่งให้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (buy now, pay later) ในออสเตรเลีย มูลค่า 27.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในครึ่งแรกปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการลงทุนทั้งหมด
ผลกระทบของเมกะดีลนี้เห็นได้ชัด เมื่อพิจารณาผลลัพธ์ในครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลังปี 2565 แยกจากกัน โดยการลงทุนด้านฟินเทคครึ่งปีหลังมีเพียง 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 44.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในครึ่งปีแรกปี 2565
ผลจากการซื้อกิจการบริษัท Afterpay ทำให้ออสเตรเลียเป็นผู้นำการลงทุนด้านฟินเทคในภูมิเอเชีย-แปซิฟิกด้วยเงินลงทุน 30.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในอินเดีย แม้ยอดเงินจะลดลงจาก 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 แต่การลงทุนยังแข็งแกร่งที่ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในสิงคโปร์ เทียบปีต่อปี มีการลงทุนด้านฟินเทคเพิ่มขึ้นจาก 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการลงทุนในจีนยังอ่อนแอมาก มีเพียง 770 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่นกันกับในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่ลดลงอย่างมาก จาก 79 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 2,379 ดีล ปี 2564 เป็น 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก 1,977 ดีล ในปี 2565
ซึ่งในครึ่งแรกของปี 2565 แข็งแกร่งกว่าครึ่งปีหลังมาก คิดเป็นการลงทุน 32.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับ 12.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การไม่มีข้อตกลงด้านฟินเทคมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในครึ่งปีหลัง ทำให้ยอดเงินลงทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดในครึ่งปีแรก 2565 คือการซื้อกิจการบริษัท SIA ในอิตาลี มูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับการซื้อกิจการ Nucleus Financial Group ในสหราชอาณาจักร ที่มีมูลค่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐ ในครึ่งหลังของปี 2565
แนวโน้มการลงทุนปี 2566
เมื่อหันมามองแนวโน้มการลงทุนในปี 2566 “คริสโตเฟอร์ ซาวน์เดอร์ส” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจบริการด้านการเงิน กรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกคาดว่าจะยังชะลอตัว แม้เมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 2565 ขณะที่กิจกรรม M&A เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ขนาดข้อตกลงน่าจะเล็กลงมาก เนื่องจากนักลงทุนรอการประเมินมูลค่าของบริษัทระยะสุดท้าย
โดยเร็กเทคมีแนวโน้มที่จะยังเป็นภาคส่วนธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุด นอกเหนือจากโซลูชั่น B2B ในกลุ่มฟินเทคทั้งหมด ขณะที่การลงทุนคริปโตจะยังอ่อนแอเป็นพิเศษในครึ่งปีแรก เนื่องจากนักลงทุนพิจารณากระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (due diligence) ของตนอีกครั้ง และหน่วยงานกำกับดูแลพิจารณากฎระเบียบด้านคริปโตเข้มงวดขึ้น
ขณะเดียวกัน การใช้โซลูชั่นบล็อกเชนในขอบเขตการใช้งานที่กว้างขวางขึ้น รวมถึงกรณีการใช้งานกับสถาบัน การชำระเงินข้ามพรมแดน การเล่นเกม และสินทรัพย์ดิจิทัลที่แต่ละโทเค็นมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถแทนที่กันได้ (NFT) น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น แม้ตลาดฟินเทคทั่วโลกจะอ่อนแอในระยะสั้น แต่แนวโน้มระยะยาวยังเป็นบวก
โดยเฉพาะการเติบโตต่อเนื่องในเอเชีย-แปซิฟิก จากความต้องการบริการทางการเงินแบบฝังตัว (embedded finance) โซลูชั่นการให้บริการด้านซอฟต์แวร์ที่ช่วยธุรกิจต่าง ๆ (software-as-a-service-SaaS) เทคโนโลยีบล็อกเชน การขยายธนาคารเสมือนจริง (virtual banking)
ซึ่งประเทศไทยเตรียมประกาศใบอนุญาตใหม่ เพื่อสนับสนุนการขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจเข้าถึงแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ (underbanked) และการเปิดประเทศของจีน
“โซลูชั่นฟินเทคที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้ AI ประเมินความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ และการมีส่วนร่วมของลูกค้า รวมถึงฟินเทคที่เน้นแนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG จะเห็นการเติบโตด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
“ซึ่งรัฐบาล ธุรกิจ และผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ความสนใจและการลงทุนในโซลูชั่นฟินเทคที่สอดคล้องกับ ESG จึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก และมีความหลากหลาย ตั้งแต่แพลตฟอร์มทางการเงินสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงโซลูชั่นเร็กเทคที่เน้น ESG”