หลุมดำ “ทวิตเตอร์” ที่ซีอีโอใหม่หนีไม่พ้น !?

อีลอน มัสต์
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

อีลอน มัสก์ มีความโดดเด่นหลายด้าน และหนึ่งในนั้นคือการทำให้ทวิตเตอร์เละเป็นโจ๊กภายในเวลาแค่ครึ่งปี

หลังทุ่มเงินกว่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญเข้าเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ไปเมื่อปลายปีก่อน วันนี้ อีลอน มัสก์ ประกาศส่งมอบตำแหน่ง “ซีอีโอ” ให้กับผู้บริหารมือดีคนใหม่มารับหน้าเสื่อแทน หลังจากที่เจ้าตัวโชว์สกิลการบริหารขั้นเทพจนลูกค้าหด รายได้หาย

หากยังจำได้ สิ่งแรกที่อีลอน มัสก์ ทำหลังสวมหมวก “Chief Twit” คือการไล่พนักงานออกไปกว่าครึ่ง พร้อมปลดล็อกบัญชีผู้ใช้งานที่เคยโดนแบนจากการทวิตเฟกนิวส์ หรือข้อความที่สร้างความแตกแยกในสังคม

ผลที่ตามมาคือ ลูกค้าที่เคยซื้อโฆษณาพากันหวาดกลัวว่าภาพลักษณ์ของตนจะได้รับความเสียหาย เลยพากันถอนโฆษณากันยกใหญ่ จนวันนี้มีลูกค้าเหลืออยู่แค่ 43% จากลูกค้า 1,000 บริษัท (ข้อมูลจาก Sensor Tower)

แม้อีลอน มัสก์ จะหาทางแก้ปัญหาด้วยการขาย Blue mark แต่ก็ดูจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก

สุดท้ายเลยต้องหามืออาชีพมารับช่วงต่อ โดยเน้นไปที่คนที่จะมาช่วยเพิ่มรายได้จากการขายโฆษณาเป็นหลัก

ผู้โชคดีได้แก่หญิงแกร่งแห่งวงการสื่ออย่าง ลินดา ยัคคาริโน่ ผู้มีตำแหน่งล่าสุดเป็นถึงประธานฝ่ายโฆษณาของบริษัทสื่อใหญ่ NBCUniversal

หลังจากมีการประกาศออกไป ยัคคาริโน่ ดูจะถนอมถ้อยคำและไม่ได้ให้ความเห็นมากนัก เพียงแค่บอกว่าตื่นเต้นกับการที่จะได้เข้ามา transform ธุรกิจของทวิตเตอร์ร่วมกัน

สื่อพากันวิเคราะห์ว่า โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับ ยัคคาริโน่ อาจไม่ใช่การหารายได้ แต่คือการที่ต้องทำงานภายใต้ร่มเงาของ อีลอน มัสก์ ต่างหาก

นอกจากเป็นทั้งเจ้าของและประธานบริหารด้านเทคโนโลยีของบริษัทแล้ว อีลอน มัสก์ ยังควบตำแหน่งเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลกโดยมีสาวกติดตามกว่า 140 ล้านคน ซึ่งหมายความว่า หากเขายังทวีตข้อความวายป่วงออกมาเป็นระยะเหมือนที่ผ่านมา ย่อมมีกระแสตีกลับมายังบริษัทและ ยัคคาริโน่ ในฐานะซีอีโอคนใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่น ล่าสุดอีลอน มัสก์ ทวีตด่าจอร์จ โซรอส ว่าเป็นคนรังเกียจมนุษยชาติหลังจากมหาเศรษฐีเชื้อสายยิวเทขายหุ้นเทสลา ซึ่งทวีตนี้ของอีลอน มัสก์ สร้างความไม่พอใจในกลุ่มคนยิวอย่างมาก นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังผู้ใช้งานพบว่ามีการลบทวีตและบัญชีของผู้ใช้งานบางคนตามคำสั่งของรัฐบาลตุรกี ระหว่างที่กำลังมีการจัดการเลือกตั้ง

แต่อีลอน มัสก์ หาได้นำพา แถมยังให้สัมภาษณ์ CNBC ว่า เขาจะยังคงพูดในสิ่งที่อยากพูดต่อไป แม้ว่าจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทก็ตาม

ความมั่นใจของอีลอน มัสก์ ในการแสดงความเห็นต่อไปจึงอาจเป็นระเบิดเวลาสำหรับยัคคาริโน่ ที่นอกจากจะต้องง้อให้ลูกค้ากลับมาซื้อโฆษณาแล้ว ยังต้องหาทางรับมือกับเจ้าของบริษัทด้วย

ทิม ฮับบาร์ด นักวิชาการจาก University of Notre Dame’s Mendoza College of Business ถึงกับเอ่ยปากกับ CNN ว่า การเปลี่ยนตัวผู้บริหารคงไม่มีผลต่อทวิตเตอร์มากนัก ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังไม่แน่ชัดว่ายัคคาริโน่ มีอำนาจในการฟอร์มทีมและจ้างมือดีมาช่วยงานมากแค่ไหน

การสร้างทีมโฆษณาขึ้นมาใหม่ (หลังโดนอีลอน มัสก์ ยุบไปพร้อมกับทีมอื่น ๆ เช่น ทีมตรวจสอบคอนเทนต์) มีความสำคัญต่อการปฏิบัติภารกิจพลิกฟื้นทวิตเตอร์ของ ยัคคาริโน่ อย่างมาก และถึงแม้ว่าเธอจะได้รับสิทธิในการคัดคนเข้าทำงาน แต่ ทิม ฮับบาร์ด ก็มองว่า ปัญหาไม่น่าจะหมดไป เพราะวันนี้คนเก่ง ๆ ที่อยากมีอนาคตที่มั่นคงก็คงไม่กล้าเข้าร่วมงานกับทวิตเตอร์

ขณะที่ เจสสิก้า กอนซาเลซ จาก Free Press ชี้ให้เห็นว่า การพลิกฟื้นทวิตเตอร์จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนนโยบายสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่มัสก์นำมาใช้ พร้อมเดินหน้าลงทุนจัดตั้งทีมตรวจสอบคอนเทนต์และสร้างธรรมาภิบาลขึ้นมาใหม่

หากไม่ทำแบบนี้ ลินดาฟันธงว่า อนาคตของยัคคาริโน่ถูกอีลอน มัสก์ กำหนดให้ต้องล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น เพราะตราบใดที่อีลอน มัสก์ ยังคงทำให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ “toxic” อยู่แบบนี้ต่อไป ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ซีอีโอคนใหม่จะสร้างความมั่นใจและดึงลูกค้าให้กลับมาซื้อโฆษณาได้อีกครั้ง