แบงก์ชะลอปล่อยสินเชื่อ “อินเวสทรี” สบช่อง จุดพลุคราวด์ฟันดิง

อินเวสทรี ผนึกกำลัง ที โบรคเกอร์ ขยายฐานลูกค้ากลุ่ม SMEs มุ่งเสริมสภาพคล่อง ป้องกันความเสี่ยง เพิ่มโอกาสรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ท่ามกลางสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจตึงตัว คนต้องการเงินหมุนแต่แบงก์เข้มงวดขึ้น

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นางสาวณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมแนวโน้มสินเชื่อภาคธุรกิจในประเทศไทย อยู่ในภาวะตึงตัว โดยภาคธุรกิจยังมีแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ขณะที่แบงก์ไม่อยากปล่อย หรือการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินมีความเข้มงวดขึ้น

ทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยรวม 6 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และการลงทุนในการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวจากการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นับแต่ได้ใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. Investree Funding Portal ได้ระดมทุนออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงให้ SMEs ไปแล้ว 81 ราย คิดเป็นมูลค่าการออกหุ้นกู้กว่า 1,500 ล้านบาท โดยในปี 2565 มูลค่าการระดมทุนให้ SMEs โตขึ้นสามเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2566 บริษัทมีอัตราการเติบโตเกือบสามเท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทยังมุ่งขยายเครือข่ายพันธมิตรทั้งฝั่งนักลงทุนและฝั่งผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

นางสาวณัทสุดากล่าวด้วยว่า ในการดำเนินเป็นตัวกลางระดมหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงตลอดทั้งปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ เริ่มเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักในธุรกิจก่อสร้างหรือผู้รับเหมา

“ปีนี้น่ากลัวกว่าช่วงโควิด-19 ตอนนั้นคนต้องการเงิน แต่ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ปีนี้ภาคธุรกิจรายย่อยก็ยังต้องการเงินหมุนเวียนทำธุรกิจหลังโควิด แต่แบงก์เริ่มไม่อยากปล่อยกู้แล้ว เราเจอปัญหาในเซ็กเมนต์ผู้รับเหมาก่อสร้างที่เริ่มส่งสัญญาณการชำระหนี้ที่ช้าขึ้น และมีความถี่ในการชำระช้ามากขึ้น แม้การท่องเที่ยวบริการของเราจะกลับมา แต่ภาคการผลิตยังหดตัว

Advertisment

“โดยเฉพาะ SMEs ต้องการสินเชื่อมากขึ้นเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคผลิต การส่งออกชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก แต่ปัญหาคือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อยมีปัญหาสภาพคล่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง”

“อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างก็เป็นโอกาสของเรา ในเมื่อสถาบันทางการเงินขนาดใหญ่เขาปล่อยสินเชื่อให้ยากขึ้น เราใช้ช่องว่างนี้ช่วยเขาระดมทุนหาคนที่อยากจะให้เงินทุนได้ โดยเรามีวิธีการจัดการความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการช่วยผู้รับเหมาที่มีโครงการกับบริษัทใหญ่ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์เราอยู่แล้ว เช่น มีผู้รับเหมากำลังมีโปรเจ็กต์ก่อสร้างให้กับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา เราก็จะรู้ว่าเขาจะได้เงินภายในกี่เดือน และหากเขาต้องการเงินทุนหมุนเวียนก่อนเราจะไปเสนอให้ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มเรา และนักลงทุนก็จะเห็นว่าไม่มีความเสี่ยง ทำให้ NPL ของเราในขณะนี้เป็น 0 ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 11.5%/ปี”

Advertisment

ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 เม.ย. 2566 มีการระดมทุนคราวด์ฟันดิงบนแพลตฟอร์ม อินเวสทรี จำนวน 429 บริษัท มูลค่ารวม 2.1 พันล้านบาท มียอดสะสมรวมทั้งสิ้น 831 ราย มูลค่า 7.7 พันล้านบาท ยอดการระดมทุนของบริษัท-เอสเอ็มอีมีตั้งแต่ 58,000-58,000,000 บาท เฉลี่ยแล้วอยู่ที่รายละ 2,000,000 บาท โดยอินเวสทรีมีส่วนแบ่งตลาดแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง 20% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งตลาด 16%

โดยมีนักลงทุนบนแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 610 ราย และมีรายใหญ่ถึงใหญ่มาก (ไม่จำกัดวงเงินในการลงทุน) ราว 10% ที่เหลือเป็นรายย่อย โดยมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000-1,000,000 บาท อัตราเฉลี่ยของผลตอบแทนการลงทุนที่ได้รับคือ 11.5% ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องขยับสัดส่วนนักลงทุนรายใหญ่-ใหญ่มากให้ได้ 50-50 กับรายย่อย เพื่อขยายกรอบวงเงินการระดมหุ้นกู้

จับมือโบรกเกอร์แบงก์เจาะลูกค้าองค์กร

นายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและ ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า อินเวสทรี ได้ร่วมมือกับบริษัท ที โบรคเกอร์ จำกัด กลุ่มธุรกิจการเงินในเครือบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการระดมทุนคราวด์ฟันดิง เสริมสภาพคล่องและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เราต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของอินเวสทรีและที โบรคเกอร์มีโอกาสเดินหน้าต่อยอดธุรกิจแม้ในภาวะสินเชื่อตึงตัว

ด้านนางสาวสุวิมล บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที โบรคเกอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทอยู่ในกลุ่มธนชาต ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินมายาวนาน มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจนายหน้าการจัดหาผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ ประกันวินาศภัย ประกันชีวิต สินเชื่อ และผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนต่าง ๆ ที่เหมาะสม และตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ผ่านการแนะนำและดูแลโดยทีมงานเครือข่าย T-Advisor ของบริษัท ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน

“สำหรับการจับมือกับ อินเวสทรี ในครั้งนี้เป็นโอกาสของบริษัทฯในการขยายฐานการทำธุรกิจจากกลุ่มลูกค้าบุคคล (Personal Line) ไปสู่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (Corporate Line)โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและรายย่อย (SMEs) ได้เพิ่มขึ้น โดยบริษัทจะทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำลูกค้าที่ปกติใช้สินเชื่อให้รู้จักแหล่งเงินทุนใหม่ผ่านการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงกับ อินเวสทรี เพื่อดำเนินการต่อในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติและกระบวนการออกหุ้นกู้กับลูกค้าโดยตรง”

ด้านนางสาวชนิตา ขยันตรวจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที โบรคเกอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “T Broker สามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจได้กว้างขึ้นจากการมีผลิตภัณฑ์นำร่องในการเสนอให้กับลูกค้าที่ใช้สินเชื่ออยู่แล้ว รวมทั้งสามารถต่อยอด เติมเต็มความต้องการด้านเงินทุนให้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจเดิมที่ใช้บริการผลิตภัณฑ์ประกันภัยกับบริษัทอยู่แล้ว การร่วมมือกับอินเวสทรี ครั้งนี้ จะทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ครอบคลุม และตอบโจทย์ความต้องการยิ่งขึ้น”

“สำหรับแนวโน้มธุรกิจ SMEs ช่วงครึ่งปีหลัง มีหลายธุรกิจกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่ชัดเจนจากนโยบายและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข” นางสาวณัทสุดา กล่าวและสรุปว่า

“เรามุ่งมั่นที่จะเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกให้กับ SMEs ที่จดทะเบียนนิติบุคคล แต่เรายืนเดี่ยวไม่ได้ หากสภาพคล่องจากท่อน้ำใหญ่ เช่น ระบบธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง ในขณะที่ตลาดสินเชื่อและการขอออกหู้นกู้ SMEs มีดีมานด์สูงเช่นเดียวกันกับระดับความเสี่ยงด้านการเงินสูง เราเองก็ต้องคัดกรองผู้ออกหุ้นกู้ที่มีศักยภาพด้วยเช่นกัน”

อินเวสทรี (Investree) เป็น Fintech Startup ที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศอินโดนีเซีย เปิดตัวเมื่อปี 2015 ก่อนจะขยายธุรกิจไปประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย อินเวสทรีเป็นผู้ให้บริการ Peer-to-Peer Lending Platform (P2P)

โดยมีหน้าที่หลักคือวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ขอกู้และบริหารจัดการการกู้ยืมตั้งแต่การทำสัญญาไปจนถึงการชำระคืนเงินกู้ ล่าสุด บริษัท อินเวสทรี อินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จจากการระดมทุน ระดับซีรีส์ ซี (Series C) จำนวน 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 753 ล้านบาท จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันชั้นนำของญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย เอ็มยูไอพี (MUIP) ของ บริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc.-MUFG) และ บีอาร์ไอ เวนเจอร์ (BRI Ventures)

อินเวสทรี ประเทศไทย เปิดตัวในปี 2561 และได้รับอนุญาตให้บริการระบบ Funding Portal หรือคราวด์ฟันดิง สำหรับ SMEs จาก ก.ล.ต. ในเดือน กุมภาพันธ์ 2564