พลิกประวัติศาสตร์ตลาดทุน 4 บิ๊กเนม นำร่องขายหุ้นกู้บนดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ

หุ้น มือถือ

ก.ล.ต. ผนึก 36 องค์กรตลาดทุน พลิกประวัติศาสตร์ตลาดทุนสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นำร่องโครงการ DIF Web Portal ระบบให้บริการออกขายหุ้นกู้ในตลาดแรก รูปแบบดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ ด้าน 4 ยักษ์บริษัทใหญ่ ทดลองนำร่องเฟสแรก ขายหุ้นกู้มูลค่ารวม 6.7 พันล้านบาท ให้กับสถาบันรายใหญ่ ตั้งบริษัท “ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล” เป็นผู้ให้บริการระบบ

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทยเมื่อปลายปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และโครงการดังกล่าวได้ถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) เรื่องการพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล (Digital transformation)

นำร่อง DIF Web Portal โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตลาดทุน

โดย ก.ล.ต. มีความตั้งใจในการผลักดันการพัฒนาระบบ DIF Web Portal ให้เติบโตไปสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งความสำเร็จในวันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดทุนในการเชื่อมโยงการทำงานของผู้ร่วมตลาดที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการในตลาดทุนเป็นดิจิทัล 100% เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดทุนไทย และส่งเสริมให้ตลาดทุนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“โดย ก.ล.ต.จะร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายการพัฒนาโครงการ การผลักดันการแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรม การส่งเสริมการใช้งานระบบ และการนำข้อมูลมาต่อยอดในการพัฒนาตลาดทุน” นายธวัชชัย กล่าว

ตั้งบริษัท “ซีเอ็มดีเอฟ” เป็นผู้ให้บริการระบบ

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองประธานกรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า CMDF เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 218/2 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีวัตถุประสงค์หลักคือ 1.เน้นส่งเสริมและพัฒนาองค์กรและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุน

2.เน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในตลาดทุน 3.เน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุนให้กับผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป และ 4.เน้นสนับสนุนงานวิจัยที่เป็นประโยชน์กับตลาดทุน โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้อนุมัติทุนสนับสนุนกว่า 100 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท

Advertisment

“โดยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตลาดทุน (Digital Infrastructure for Capital Market) เป็นโครงการตามวัตถุประสงค์ข้อแรก ซึ่งกองทุน CMDF ค่อนข้างให้ความสำคัญมาก เพราะทุนของ CMDF ที่จัดสรรไปกว่า 40% เพื่อเป้าหมายของวัตถุประสงค์ตรงนั้น โครงการนี้จึงได้รับอนุมัติจาก CMDF และได้ทุนมาตั้งแต่ปี 2564 ผ่านการจัดตั้งบริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด หรือว่า CMDF-DIF ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบ (Main Operator) และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นหน่วยงานปฏิบัติการของระบบ” นางสาวจอมขวัญ กล่าว

เฟสแรกเปิดขายหุ้นกู้เฉพาะสถาบันรายใหญ่

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทน Main Operator กล่าวว่า โครงการ DIF Web Portal เป็นระบบให้บริการออกเสนอขายหุ้นกู้ในตลาดแรกในรูปแบบดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขาย ซื้อขาย ตลอดจนการชำระราคาและส่งมอบหุ้นกู้ในรูปแบบไร้ใบ (Scripless)

Advertisment

โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกว่า 36 องค์กร เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน โดยการทำงานในตลาดหุ้นกู้ในปัจจุบันยังมีการใช้กระดาษในหลายส่วน ซึ่งสามารถปรับแก้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อีกหลายจุด

ทั้งนี้จากการประชุมปฏิบัติการตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกในปี 2562 โดยมีการประชุมร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงปรับกระบวนการทำงานแบบดิจิทัลให้ได้มากที่สุด ให้มีมาตรฐานการรับส่งข้อมูลโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำข้อมูลเข้าระบบด้วยตนเอง ทำให้มีผู้ส่วนได้เสียติดต่อกันได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางถูกต้อง ทั้งหน่วยกำกับดูแล ผู้รับประกันการขายหุ้นกู้ ผู้ออกหุ้นกู้ นายทะเบียนหุ้นกู้ ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ และสมาคมตลาตราสารหนี้ไทย

“หลักการสำคัญคือ การใช้สถาปัตยกรรมแบบเปิด ซึ่งจะเปิดกว้างทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยต้นทุนที่เหมาะสม มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ส่งเสริมให้การทำงานระหว่างระบบต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างคล่องตัวและไร้รอยต่อ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเรียกการลงทุนในหุ้นกู้ได้จากผู้ให้บริการอย่างครบถ้วน”

ในระยะแรกนี้ ได้เริ่มให้บริการในตลาดแรก ตั้งแต่การออกเสนอขาย กระบวนการจองซื้อหุ้นกู้ การฝากหุ้นกู้เข้าศูนย์รับฝากหลักทรัพย์โดยเป็นตราสารแบบตราสารหนี้ที่ไม่มีความซับซ้อน (Plain Vanilla Bond) ที่เสนอขายให้ผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่ ก่อนจะขยายขอบเขตการให้บริการทั้งในด้านผู้ลงทุนและความซับซ้อนตราสารหนี้ให้เพิ่มขึ้น

4 ยักษ์ บจ.นำร่องขายหุ้นกู้ มูลค่า 6.7 พันล้าน

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในฐานะฝ่ายปฏิบัติการของโครงการ DIF กล่าวว่า สมาคมฯมีส่วนร่วมในโครงการ DIF ใน 2 บทบาทคือ ในฐานะผู้รับขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสมาคมอยู่แล้ว และที่สำคัญยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติการธุรกิจของโครงการ DIF เพื่อทำหน้าที่รับสมัครผู้ใช้งาน ตรวจสอบคุณสมบัติ เปิดสิทธิการใช้งานระบบ รับแจ้งและวิเคราะห์ในการใช้งาน รวมถึงประสานงานกับ It support เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้ใช้งานพบใน DIF Web Portal

โดยโครงการนี้ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการภายใต้โครงการ Sandbox ของสำนักงาน ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 มีผู้ใช้งานลงทะเบียนในระบบกว่า 300 ราย รวมทั้งได้ประสานงานกับองค์กรที่เชื่อมต่อกับ DIF Web Portal ผ่านทาง API ได้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต. สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และไอเอสไอเอ็นเอเจนซี่ เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานได้อย่างราบรื่น ตั้งแต่กระบวนการยื่นร่างแบบเสนอหุ้นกู้ การจองซื้อหุ้นกู้ การขึ้นทะเบียนหุ้นกู้กับสมาคมฯ ไปจนถึงการรายงานผลการขายให้แก่ ก.ล.ต.

และเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 มีบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ 4 ราย ที่ยื่นแบบเสนอขายหุ้นกู้ผ่านระบบ DIF Web Portal เป็นกลุ่มแรกคือ 1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ 4.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.7 พันล้านบาท

และยังมีผู้เข้าร่วม Sandbox ที่ร่วมทดสอบระบบแล้วจำนวน 16 ราย อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย และธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะนายทะเบียน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกิสกรไทย ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ทั้งนี้จะพัฒนาระบบเพื่อให้พร้อมรองรับการเสนอขายในวงที่กว้างขึ้น ได้แก่ กลุ่มสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (II-HNW) รวมถึงกลุ่มประชาชนทั่วไป (PO) เป็นต้น นอกจากนี้จะมุ่งเดินหน้าพัฒนาต่อยอดสู่กระบวนการและการยื่นแบบข้อมูลการเสนอขายแบบโครงการ Medium-Term Note Program (MTN)  และขยายผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นต่อไป

“เชื่อว่าระบบ DIF Web Portal  จะทำให้เราลดต้นทุนได้ในอนาคต เพราะเป็นระบบส่วนกลางที่จะรวบรวมข้อมูลเครื่องมือทั้งหมดของตลาดทุนไว้ด้วยกัน จากเดิมที่เวลาจะหยิบจับข้อมูลซึ่งแยกกันอยู่หลายที่ จะใช้เวลาที่ต้องตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบพอสมควร ฉะน้นก็จะทำให้ต้นทุนเหล่านั้นหายไปได้”