
“NIA” เปิดแผนผลักดันไทยเป็น “ชาตินวัตกรรม” ภายในปี 2573 ผ่านการเป็น “Focal Conductor” ที่ดำเนินงานภายใต้ 7 กลยุทธ์ เสริมอีโคซิสเต็มการสร้างนวัตกรรมของไทย
วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย และอำนวยความสะดวกให้ระบบนิเวศการสร้างนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ โดยหน่วยงานมีเป้าหมายที่จะยกอันดับไทยในดัชนีนวัตกรรมโลก GII ของ WIPO จากอันดับที่ 43 ในปี 2565 เป็นอันดับที่ 30 ในปี 2573
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
“NIA จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ภายใต้แนวคิด Create the Dot-Connect the Dot-Value Creation ผ่านกลไก Groom (การเลี้ยงดูผู้ประกอบการรายเล็ก) Grant (การให้เงินทุนกับผู้ประกอบการรายเล็ก) Growth (การผลักดันให้ผู้ประกอบการรายเล็กเติบโต) และแนวทาง “2 ลด 3 เพิ่ม” เพื่อยกระดับทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยให้สอดรับกับบริบทโลก”
โดยการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของ NIA ผ่านแนวทาง “2 ลด 3 เพิ่ม” มีรายละเอียดดังนี้
– ลดความเหลื่อมล้ำผ่านการเปิดรับแนวคิดใหม่จากสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี (SMEs) เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนหรือปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น
– ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต
– เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน
– เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของ GDP และภาพลักษณ์ “ชาตินวัตกรรม”
– เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ให้มีโอกาสขยายตลาด และสร้างแบรนด์นวัตกรรมสัญชาติไทยที่พร้อมแข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในปี 2566-2570 NIA ได้เปลี่ยนบทบาทจากสะพานเชื่อมสู่การเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” (Focal Conductor) ซึ่งจะเป็นบทบาทใหม่ที่ดำเนินงานภายใต้ 7 กลยุทธ์ ดังนี้
1. สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ส่งเสริมให้ IBEs คุ้มครองและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าและบริการนวัตกรรม รวมทั้งใช้ NIA Academy เป็นกลไกหลักในการพัฒนา IBEs และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก พร้อมผลักดันให้มีจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 8,000 ราย บุคลากรและกำลังคนด้านนวัตกรรม 15,000 ราย และมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่ 20,000 ล้านบาท
“เราจะพัฒนาและขยายผลโครงการสำคัญใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร 2.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 3.อุตสาหกรรมการแพทย์ 4.อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Climate Tech) และ 5.อุตสาหกรรมเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)”
2. ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น
เน้นการให้ทุนที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนในภูมิภาค และลดกระบวนการเบิกจ่ายเงินในโครงการให้ทุน รวมทั้งเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนไม่ว่าจากธนาคารของรัฐหรือแหล่งทุนอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“เราตั้งเป้าสำหรับโครงการและธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนไว้ที่ 1,500 โครงการ และมีมูลค่าการลงทุนจาก NIA อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท”
3. ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์
ร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการด้านนวัตกรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายนวัตกรรมในพื้นที่ชายแดน โดยร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“เราคาดหวังว่า IBEs จะเข้ามามีส่วนร่วมกว่า 3,000 ราย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมใน 40 มหาวิทยาลัย และ 16 อุทยานฯ เกิดการลงทุนนวัตกรรมในภูมิภาค 20,000 ล้านบาท”
4. เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม
เชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุน IBEs ทั้งทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ตอัพเหมือนกับ “Station F” ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบนวัตกรรมไทย และการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง
5. ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผลักดันโมเดล “Business Brotherhood” หรือการให้บริษัทขนาดใหญ่มาสนับสนุนการขยายธุรกิจของ IBEs เช่น การส่งเสริมการตลาดของสินค้านวัตกรรมร่วมกับซีพี ออลล์ แม็คโคร สยามพิวรรธน์ และกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัล
“เรายังส่งเสริมให้ IBEs รู้จักการสร้างแบรนด์และทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยขยายความร่วมมือในลักษณะที่มีกับช้อปปี้ (Shopee) อย่างโครงการ InnoMall กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น TikTok และ Line รวมถึงจัดทำแค็ตตาล็อกสินค้านวัตกรรมในรูปแบบภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะมีจำนวน IBEs ที่เข้าร่วมโครงการ 1,000 ราย และมูลค่าเติบโตจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท”
6. สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วนผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
“เราจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทยมากมาย เช่น งาน SITE (Startup x Innovation Thailand Expo) ที่การจัดงานต่อจากนี้จะหวังผลในเชิงของเม็ดเงินการลงทุนด้วย โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เราตั้งเป้าให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งออนไลน์และออนไซต์ ไม่น้อยกว่า 50,000 ราย และจำนวนผู้เข้าชมคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่น้อยกว่า 2,000,000 ครั้ง”
7. พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน
เน้นทำงานแบบ Cross Functional ลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน สนับสนุนการปรับหมุนเวียนงาน (Job Rotation) ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการใช้ Project-based Management กำหนดเป้าหมายเพื่อวัดผลสำเร็จ (OKR) ที่ชัดเจน และเน้นการทำงานเป็นทีมเพื่อมุ่งสู่พันธกิจขององค์กร พร้อมทั้งน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและหลัก ESG มาใช้ในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ดร.กริชผกายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การผลักดันไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม เป็นเรื่องที่ทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในอนาคตด้วย
“ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร หรือว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวง อว.คนใหม่ ก็อยากจะฝากว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นชาตินวัตกรรม และทำให้เรื่องของนวัตกรรมอยู่ในหัวใจของคนไทยและนักการเมืองทุกคน”