Tech Times : เมื่อเอไออยากเป็น “ไลฟ์โค้ช”

Google Bard
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

แม้จะเป็นเจ้าแรกที่ซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเอไอก่อนใคร แต่กูเกิลกลับตกเป็นรองในการแข่งขัน หลังจากที่ ChatGPT ของ OpenAI กวาดคะแนนนิยมนำโด่งทันทีที่มีการเปิดตัวเมื่อปลายปีก่อน

แน่นอนว่ายักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลไม่มีทางยกธงขาวง่าย ๆ บริษัทเปิดตัว Bard แชตบอตตัวแรกของบริษัทออกมาแข่งในเดือนมีนาคม เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ ตามด้วยการผนวก generative AI เข้าไปในสินค้าเรือธงอย่าง Google Search และ Gmail

ล่าสุด The New York Times รายงานว่า กูเกิลกำลังทดสอบเครื่องมือใหม่ ซึ่งหากสำเร็จจะเปลี่ยนแชตบอตให้กลายเป็น “ไลฟ์โค้ช” ได้ด้วย

ก่อนหน้านี้กูเกิลมีการขยายทีมด้วยการเอาสตาร์ตอัพที่ทุ่มเงินซื้อมาจากอังกฤษที่มีชื่อว่า DeepMind มาควบรวมเข้ากับทีม Brain ซึ่งเป็นทีมเอไอเดิม

เป้าหมายหลักของทีม Google DeepMind คือ การขยายขีดความสามารถของเอไอให้ได้มากที่สุด โดย The New York Times อ้างแหล่งข่าวระบุว่า ทีมงานกำลังฝึกให้เอไอสามารถตอบสนองต่อคำสั่งกว่า 21 ประเภท ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำในเรื่องส่วนตัว ทั้งปัญหาชีวิตและการติวเข้มเพื่อเสริมสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเอไอที่จะสามารถทำตามคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กูเกิลลงทุนจ้าง scale AI ให้สร้างทีมเฉพาะกิจ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญดีกรีปริญญาเอกหลากหลายสาขากว่า 100 ชีวิต เพื่อช่วยกันทดสอบระบบด้วยการป้อนคำสั่งให้เอไอเสนอวิธีรับมือกับปัญหาส่วนตัว ทั้งปัญหาด้านความสัมพันธ์และปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ

Advertisment

การฝึกให้เอไอสวมบท “ไลฟ์โค้ช” อาจทำให้มันเข้ามามีบทบาทในชีวิตส่วนตัวของมนุษย์มากขึ้น หรืออาจกลายเป็นที่พึ่งทางจิตใจ แทนที่ครอบครัว หรือจิตแพทย์ ซึ่งขัดแย้งกับจุดยืนเดิมของกูเกิลในเรื่องความปลอดภัยในการใช้เอไอ

เช่น ตอนที่เปิดให้บริการ Bard กูเกิลเขียนเตือนผู้ใช้ไว้ใน Privacy Help Hub ว่าอย่าพึ่งพาแชตบอตในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ การเงิน และเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้มืออาชีพในการให้คำแนะนำ

Advertisment

ซึ่งคำเตือนเหล่านี้มีน้ำหนักมากขึ้น หลังพบว่าแชตบอตของ National Eating Disorder Association มีการให้คำแนะนำด้านพฤติกรรมการกินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนสมาคมต้องถอดเจ้าแชตบอตออกจากระบบไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

จริงอยู่ว่าความพยายามในการพัฒนาศักยภาพของเอไอไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเรื่องสุขภาพกาย-จิต เป็นเรื่องซับซ้อนและจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

ซึ่งกูเกิลก็รู้ดี เพราะทีม Safety ของบริษัทที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานเคยเตือนผู้บริหารในเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า การให้เอไอรับบทเป็นผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต อาจส่งผลให้เกิดภาวะพึ่งพาเอไอมากเกินไปจนสุขภาพของผู้ใช้เสื่อมถอยและสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

แต่บริษัทยังคงเดินหน้าทดสอบระบบต่อไปควบคู่ไปกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ MedPaLM ที่จะออกมาเพื่อให้คำแนะนำทางการแพทย์โดยเฉพาะ

สุดท้ายแล้วบริการเหล่านี้จะมีโอกาสได้เดบิวต์หรือไม่ ก็คงต้องจับตากันต่อไป ที่น่าติดตามกว่าคือหากมีการเปิดให้บริการจริง ๆ บริษัทจะแสดงความรับผิดชอบหรือมีมาตรการในการรับมือกับผลกระทบที่อาจจะตามมาอย่างไร