ก้าวใหม่ “Rabbit LINE Pay” จิกซอว์อีโคซิสเต็ม “LINE”

Rabbit LINE Pay-RLP
ภาพจาก Rabbit LINE Pay

ชวนสำรวจเส้นทางของ “Rabbit LINE Pay” ก่อนกลับสู่อ้อมอกแม่อย่าง “LINE ประเทศไทย” เพื่อทำหน้าที่เป็น “จิกซอว์” ต่อเติมอีโคซิสเต็มให้สมบูรณ์

วันที่ 2 กันยายน 2566 รายงานข่าวจาก LINE MAN Wongnai และ LINE ประเทศไทย ระบุว่า ทั้งสองบริษัทได้เข้าซื้อกิจการ Rabbit LINE Pay ระบบชำระเงินแบบออนไลน์และออฟไลน์ (RLP) จากผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด หรือ mPAY

ดังนั้น LINE MAN Wongnai จึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Rabbit LINE Pay และนายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายชอง อิน ยัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ LINE MAN Wongnai จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเดียวกันใน Rabbit LINE Pay

จุดเริ่มต้นของ Rabbit LINE Pay เกิดจากการร่วมลงทุนในปี 2559 ระหว่าง บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ แรบบิท (Rabbit) และบริษัท LINE Biz Plus Limited หรือ LINE Pay ในสัดส่วน 50:50 เพื่อสร้างความเป็นผู้นำในตลาดการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นในปี 2561 บริษัท แอดวานซ์ เอมเปย์ จำกัด ในเครือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ได้เข้ามาประกาศร่วมทุนกับ Rabbit LINE Pay ด้วย

โดยสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการ Rabbit LINE Pay ภายใต้บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด ก่อน LINE MAN Wongnai และ LINE ประเทศไทย ประกาศเข้าซื้อกิจการจากผู้ถือหุ้นเดิมเป็นดังนี้

1. บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด 33.33%

ADVERTISMENT

2. บริษัท แอดวานซ์ เอมเปย์ จำกัด 33.33%

3. ไลน์ เพย์ คอร์ปอเรชั่น 33.33%

ADVERTISMENT

การเข้าซื้อกิจการ Rabbit LINE Pay กลับสู่อ้อมอก LINE ประเทศไทยโดยสมบูรณ์ เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งนี้อาจจะเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยเติมเต็มและยกระดับบริการต่าง ๆ ของ LINE ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า การซื้อกิจการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมบริการของ Rabbit LINE Pay เข้ากับระบบนิเวศของ LINE มากขึ้น ได้แก่ LINE MAN แพลตฟอร์มดีลิเวอรี่, LINE SHOPPING แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, การจับจ่ายใช้สอยบนแอป LINE และเครือข่ายร้านค้าบน Wongnai สามารถทำธุรกรรมได้อย่างไร้รอยต่อ

นอกจากนี้ ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ผู้ประกอบธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านและบริการด้านดิจิทัล ที่ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์บนเครือข่าย BTS ทั้งหมด ระบุว่า ปัจจุบันผู้ใช้งานบัตรแรบบิท (Rabbit Card) และ Rabbit LINE Pay รวมกันมากกว่า 24.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้งาน Rabbit LINE Pay ประมาณ 10 ล้านราย และผู้ถือบัตรแรบบิท ประมาณ 16 ล้านราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีผู้ใช้งานบางส่วนที่ใช้ทั้งบัตรแรบบิทและ Rabbit LINE Pay

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภค ก่อนและหลังโควิด-19 ต่างกันอย่างชัดเจน และทำให้ผู้ใช้งาน LINE เพิ่มขึ้นเป็น 54 ล้านรายในปัจจุบัน รวมถึงคนยังใช้เวลาบน LINE มากขึ้น และไว้วางใจที่จะใช้งานแพลตฟอร์มในการทำสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่าน e-Wallet ซึ่ง Rabbit LINE Pay เติบโตจากเดิมมาก เพราะคนได้ทดลองใช้แล้วรู้สึกถึงความสะดวกสบาย แม้ว่าในช่วงแรกจะยังกังวลเกี่ยวกับการนำเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปอยู่บนโลกดิจิทัลก็ตาม

“สังเกตว่าช่วงหลังโควิด-19 เงินที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์จะมีอายุนานขึ้น เพราะเราแทบไม่ได้ใช้เงินสดเลย ทุกวันนี้ลืมกระเป๋าสตางค์ก็ไม่เป็นไร แค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็สามารถจ่ายได้ทุกอย่าง สิ่งนี้ก็เป็นอย่างหนึ่งที่บอกเราว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว” 

แม้ว่าผู้ใช้งาน Rabbit LINE Pay จะมีอยู่ราว 1 ใน 5 ของผู้ใช้งาน LINE ในปัจจุบัน และมีโอกาสขยายการเติบโตในแง่ของผู้ใช้งานและบริการต่าง ๆ ได้อีกมาก โดยเฉพาะการเป็นระบบเพย์เมนต์ของ “LINE SHOPPING” ที่ “ดร.พิเชษฐ” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเป็นบริการที่มีการเติบโตสูง และมีศักยภาพของการสปินออฟในอนาคต แต่การตัดสินใจซื้อกิจการ Rabbit LINE Pay กลับสู่อ้อมอก อาจทำให้ LINE ต้องเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับผลประกอบการ เพราะที่ผ่านมา Rabbit LINE Pay ยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด ใน Creden Data พบว่าผลประกอบการตั้งแต่ปี 2563-2565 เป็นดังนี้

  • ปี 2563 รายได้รวม 148 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 185 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 255 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 184 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้รวม 319 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 156 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งาน โดยผู้ใช้งานยังสามารถใช้จ่ายผ่านบริการของ Rabbit LINE Pay ได้ทุกช่องทางเช่นเดิม รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า BTS และการชำระค่าบริการ AIS ด้วย