รมว.ดีอีเอสลุยตั้งวอร์รูมปราบโจรไซเบอร์-แก้ปัญหาเฟกนิวส์

ดีอีเอส

รัฐมนตรีดีอีเอสพร้อมลุยปราบมิจฉาชีพออนไลน์-แก้ปัญหาข่าวปลอม เดินหน้าตั้งวอร์รูม-เพิ่มคน 1 ตำบล 1 ไอทีแมน ให้ความรู้-พัฒนาทักษะชุมชนเท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล

วันที่ 22 กันยายน 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายต่อสาธารณชนในวงกว้าง 

ปัจจุบันพบปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ รวมถึงปัญหา Call Center ที่ทันต่อเหตุการณ์จึงจะเร่งรัดให้ใช้เทคโนโลยีป้องกันปราบปรามหลอกลวงออนไลน์ และ Central Fraud Registry โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน มีเครือข่ายผู้ประสานงานที่เข้าร่วมตรวจสอบให้มากกว่า 300 หน่วยงาน ทำหน้าที่การตรวจสอบ และเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องแก่ประชาชน

สำหรับระยะต่อไปของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะต้องเร่งดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 

1.การตั้ง Task Force Command Center เพื่อปราบปรามเชิงรุก เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงทางการเงิน และภัยออนไลน์ ที่ทําให้ประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจํานวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรง ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันมีการแอบอ้าง โลโก้หน่วยงานรัฐ ปลอมแปลงเว็บไซต์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (SMS /Call Center) เป็นต้น 

2.การนำเอาเทคโนโลยี Data Analytics และ AI มาใช้เพิ่มความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชน ในการตรวจสอบ และกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ในประเด็นต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้แชร์ข่าวปลอม เป็นลักษณะ AFNC AI เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบลิงก์ข่าวผ่านเว็บไซต์ AFNC ได้ว่า ตรง/ไม่ตรง ตามฐานข้อมูลที่มีอยู่ใน 4 ปี ระบบสามารถแสดงผลการตรวจสอบได้เลย ว่าที่ส่งมาตรงกับฐานข้อมูลอยู่กี่เปอร์เซนต์ เช่น จากลิงก์ที่ส่งมาตรงกับฐานข้อมูลข่าวปลอม 70% โดยแสดงผลแบบ Highlight ว่า Wording ส่วนไหนบ้างที่ตรง ส่วนไหนที่ไม่ตรง จะเรียกว่าเป็น AFNC Search AI ที่สามารถให้ข้อมูลได้เลยเมื่อ Search หาข่าวที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลออกมาเป็นข้อมูลเนื้อความได้เลย

3.การสร้าง Cyber Vaccine สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มถูกหลอกลวงสูง ได้แก่ กลุ่มเด็กเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ เร่งสร้างความตระหนักรู้ รู้เท่าทัน หากมีกิจกรรมให้ความรู้อย่างเหมาะสม ก็สามารถเป็นผู้ที่ช่วยในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จต่าง ๆ 

“ผมเองเวลาลงพื้นที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งจากปัญหาคอลเซ็นเตอร์ และหลอกลวงออนไลน์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปดูแล การต่อต้านข่าวปลอมจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก ต้องปราบปรามเชิงรุกเพื่อรับมือ ผู้สุจริตได้รับความเสียหายอย่างมาก บางคนเสียชีวิต เสียทรัพย์มากมาย เราจึงจะมีกิจกรรมให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันหรือไซเบอร์วีคซีน”

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีเอสได้มีการพูดคุยขอความร่วมมือร่วมกับกระทรวงกลาโหมในการจัดการกวาดล้าง เสาสัญญาณเถื่อนตามแนวตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของการดำเนินการเชิงรุก เพราะเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย  

 สำหรับกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีการใช้เทคโนโลยีระบบ Social Listening Tool ในการรวบรวมข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนข่าวปลอมใน 4 หมวดหมู่ข่าว ประกอบด้วย 1) ข่าวกลุมภัยพิบัติ 2) ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร หุ้น 3) ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ และ 4) ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคมขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ รวมถึงรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอมจากประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เปิดศูนย์จนถึงปัจจุบัน ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนมากกว่า 1,085,707,543 ข้อความ โดยมีข่าวที่ข่าวที่เข้าข่ายการตรวจสอบ 49,725 ต้นโพสต์ และทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ทำการเผยแพร่ข่าว 6,390 เรื่อง   

ขณะเดียวกัน จากสถิติของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบัน พบว่า คนอายุ 35-44 ปี ให้ความสนใจติดตามข่าวสารจากศูนย์ฯ มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ เมื่อเทียบกับการติดตามของแพลตฟอร์มของศูนย์ฯ ที่มีการติดตามสูงสุดในช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้จะมีการติดตามข่าวสารในช่องทางออนไลน์หรือใช้สื่อโซเชียลในการติดต่อสื่อสาร และจะพยายามทำความเข้าใจการคัดกรองข่าวสารก่อนจะแชร์ต่อ 

อีกด้านของข้อมูลพบว่า คนที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากกลุ่มอายุดังกล่าวจะใช้สื่อในการติดต่อค้นหาเพื่อนเก่า ๆ ครอบครัว หรือ กลุ่มลูกหลาน โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ ไลน์ในการติดต่อสื่อสาร และส่งต่อข้อมูลให้กัน โดยข้อความที่ส่งต่ออาจจะยังไม่ถูกคัดกรองว่าเชื่อถือได้หรือไม่ได้ รวมถึงอาจจะยังขาดทักษะ digital literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้พวกเขาติดกับดักข่าวปลอมได้ง่าย

“เรายังจะเพิ่มบุคคลกรในทุกอำเภอทั่วประเทศ เรียกว่าเป็นไอทีแมน ทำหน้าที่ให้ความรู้และสอนทักษะดิจิทัลให้กับคนในชุมชนทั่วประเทศ” 

อย่างไรก็ตาม จากผลงานที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ยังได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน อาทิ รางวัลงานหอเกียรติยศ วุฒิสภาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภาองค์กรสร้าง คนดี คนเก่ง คนกล้า และโอกาสสู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืนการประกาศองค์กรเกียรติยศ พ.ศ. 2566 เป็นต้น

“ก่อนหน้านี้มีข่าวปล่อยว่าผมไปเรียนรับเงินจากเว็บพนัน ซึ่งผมขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และจะดำเนินการตรวจสอบต้นตอของข่าวปลอมข่าวปล่อยนี้อย่างเด็ดขาด ในภาพรวมเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน การหลอกลวงต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะแต่คดีเกิดขึ้นน้อย เพราะบางส่วนไม่ได้ดำเนินคดี ผมจึงหารือกับท่านปลัดว่า จะทำอย่างไรที่จะ ให้กระทรวงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้เพื่อช่วยเหลือประชาชน” รมว.ดีอีเอสกล่าว