ไทยคม ผนึกพันธมิตร ขยายน่านน้ำ Space Tech

ปฐมภพ สุวรรณศิริ
ปฐมภพ สุวรรณศิริ

อุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียมในประเทศไทยผ่านช่วงเวลาสำคัญ จากการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาต โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) ไปแล้ว 5 ชุดข่ายงานดาวเทียม ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมาได้ผู้เล่นรายเดิม คือบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทลูกไทยคม) และบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT

รายงานของ สำนัก กสทช. อ้างผลวิจัยของบริษัทมอร์แกนสแตนลีย์ ระบุว่า เศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) ทั้งอุตสาหกรรมอวกาศ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องจะมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2583 สำหรับประเทศไทยมีดาวเทียมค้างฟ้าเป็นโครงสร้างอุตสาหกรรมอวกาศหลัก ซึ่งต้นทุนยังสูง ขณะที่ภายในระยะ 10 ปี ดาวเทียมวงโคจรต่ำ มีประสิทธิภาพดีขึ้น ราคาถูกลง จนสามารถทดแทนโครงข่ายภาคพื้นดินได้ และคาดว่าภายในปี 2573 มูลค่าตลาดดาวเทียมค้างฟ้า และกลุ่มดาวเทียม NGSO หรือดาวเทียมเล็กประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit-วงโคจรต่ำกว่า 3,000 กม.) จะใกล้เคียงกัน

ประเทศไทยพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียมเข้าสู่กลุ่มธุรกิจ NGSO ดังเช่น กรณี NT กำลังพัฒนาสถานีภาคพื้นดินเพื่อรับสัญญาณจากโครงข่ายดาวเทียม OneWeb ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ และล่าสุดไทยคมเปิดสถานีดาวเทียม LEO ไทยคม-โกลบอลสตาร์ สถานีภาคพื้นดิน เพื่อให้บริการระบบดาวเทียม Low Earth Orbit (LEO) Satellite Constellation แห่งแรกในประเทศไทย

เร่งเกมบุก Space Tech

“ปฐมภพ สุวรรณศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม เปิดเผยว่า การจับมือกับโครงข่ายดาวเทียมต่างชาติอย่าง Globalstar เป็นก้าวแรกที่จะพาไทยคมเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) ในกลุ่มดาวเทียม NGSO ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีโอกาสอีกมาก หลังได้ใบอนุญาต Landing Right จาก กสทช. ตั้งสถานีภาคพื้นดินร่วมกับพันธมิตรระดับโลก บนเป้าหมายที่ต้องการผลักดันไทยคมก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีอวกาศชั้นนําในระดับภูมิภาค

“ดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO มีโครงข่ายหมุนเวียนผ่านประเทศไทย 24 ชม. ใช้ประโยชน์ได้ 3 ลักษณะคือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์, การถ่ายภาพ และแนร์โรว์แบนด์ หรือความถี่แคบ เชื่อมโยงอุปกรณ์ไอโอที โดยไทยคม-Globalstar จะมุ่งเน้นไปที่โซลูชั่นการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวในไทย และอุตสาหกรรมทางทะเลระดับภูมิภาค รวมถึงคิดค้นพัฒนาบริการและโซลูชั่นอื่น ๆ ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างการวัดระดับน้ำในเขื่อนและในทะเล ปกติจะใช้คลื่น 4G และ 5G เชื่อมต่อ แต่ดาวเทียมดีกว่า เพราะไม่มีจุดบอดเหมาะกับอุปกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล”

สำหรับโมเดลธุรกิจจะมีทั้งการขายอุปกรณ์และเก็บค่าบริการ (Air Time) โดยอุปกรณ์ของ Globalstar 1 ชิ้น ราคาเฉลี่ย 1 หมื่นบาท ค่าบริการเดือนละราว 1,000 บาท ซึ่งจะเป็นรายได้ต่อเนื่อง บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีหน้าในแง่จำนวนเครื่องไว้ที่ 10,000 เครื่อง รวมกับค่าบริการอีกเดือนละ 1,000 บาท/เครื่อง จะมีรายได้ราว 100-200 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ขาลงดาวเทียมค้างฟ้า ?

“ที่ผ่านมาหลายคนมองว่าไทยคมอยู่ในช่วงขาลง เพราะอายุสัมปทานจะหมด การประมูลสิทธิวงโคจรก็ล่าช้า ทำให้เสียโอกาสและลูกค้าไป ยอมรับว่าช่วงแรกยาก แต่เมื่อได้สิทธิมาแล้วก็มีการดูแลลูกค้าแถบอินโดจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รวมถึงอินเดียต่อ และกำลังหาโอกาสความเป็นไปได้ที่จะขยายบริการไปยังตะวันออกกลาง แต่ต้องพิจารณาอีกที เพราะไม่ถนัด เฉพาะพื้นที่ที่เราดูแล ถ้ารักษาตลาดไว้ได้ก็จะสร้างรายได้ให้ต่อเนื่อง เมื่อได้ใบอนุญาต เราให้บริการลูกค้าต่อ โดยลากดาวเทียมมาทดแทนไทยคม 4 และมีแผนที่จะยิงไทยคม 9 และ 9A ต่อเนื่อง รวมถึงไทยคม 10 ในปี 2570”

ซีอีโอ “ไทยคม” กล่าวว่า บริษัทผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว จากเมื่อก่อนที่คนมองว่าไทยคมจะอยู่ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีดิสรัปต์ แต่ตนมองว่าในอนาคตไทยคมจะไม่ได้มีบริการบนดาวเทียมค้างฟ้าอย่างเดียว

ADVERTISMENT

แต่ขายโซลูชั่นอื่น ๆ จากตลาดใหม่ได้ด้วย อย่างตอนนี้ในระยะสั้น เรามีดาวเทียมไทยคม 4 ให้บริการลูกค้าเก่า และรัฐบาลฟิลิปปินส์ อินเดีย รวมถึงโครงการ USO และรวมกับ Space Tech

ปัจจุบันบริการจากดาวเทียมค้างฟ้า ธุรกิจดั้งเดิมของเราสร้างรายได้จากระบบบรอดแคสต์ 60% และจากบรอดแบรนด์ 40% ขณะที่แนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์จะมากขึ้น เราตั้งเป้าว่าจะขยับสัดส่วนบรอดแบรนด์เป็น 70% ใน 2-3 ปีนี้ และจะเพิ่มกลุ่มธุรกิจ Space Tech เข้ามาราว 10-30% ใน 3-5 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าฝั่งบรอดแคสต์จะไม่มีรายได้แล้ว ยังมีอยู่แต่คงที่”

อนาคตธุรกิจอวกาศ

“เทคโนโลยีอวกาศถูกมองว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงด้วย ดังนั้น แม้จะเป็นใบอนุญาต Landing Right ที่ให้ตั้งสถานีภาคพื้นดินหรือเกตเวย์ ตามเงื่อนไข กสทช. ดาวเทียมต่างชาติก็ยังเข้ามาไม่ได้ถ้าไม่มีพาร์ตเนอร์ไทย แม้จะมีการมองโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ และจะมีการแก้ไขประกาศเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมใหม่ ผ่อนปรนเงื่อนไขลงก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ว่าจะให้ใครก็ได้ขอใบอนุญาต Landing Right ต้องควบคุมได้ ต้องเลือกให้ดี ให้มีสมดุลระหว่างไทย-ต่างชาติ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่ปล่อยให้เข้ามาจนควบคุมไม่ได้”

“ปฐมภพ” ทิ้งท้ายว่า สิทธิวงโคจรดาวเทียมค้างฟ้าของไทยที่ยังไม่มีใครประมูล คือวงโคจร 50.5E, 51E และ142E เนื่องจากพื้นที่บริการอยู่ในโซนตะวันออกกลาง-แอฟริกา และมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นโซนที่ไม่ถนัด และไกลจากฐานลูกค้าเดิม ดังนั้น หากมีเงื่อนไขมากหรือแพงเกินไปก็คงไม่มีใครเข้าประมูลวงโคจรดังกล่าว ซึ่งตนได้แสดงความคิดเห็นไปแล้วในช่วงที่มีการทำประชาพิจารณ์