Lenovo พลิกเกมโต วัฏจักรซื้อซ้ำ อัพเกรด AI PC

lenovo
แมตต์ คอดริงตัน-วรพจน์ ถาวรวรรณ

หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ค่อนข้างซบเซา โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าทั่วไป เพราะผ่านการซื้อระลอกใหญ่ในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ต้องกักตัวและทำงานที่บ้าน จนสินค้าขาดตลาด ขณะที่ในฝั่งคอมเมอร์เชียลหรือลูกค้าองค์กรยังคงมีการอัพเกรดอุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แบรนด์ต่าง ๆ จึงต้องหันมาโฟกัสกลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “แมตต์ คอดริงตัน” รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของเลอโนโว เกรตเตอร์ เอเชีย-แปซิฟิก และ “วรพจน์ ถาวรวรรณ” ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีนคนล่าสุดของยักษ์พีซีแบรนด์ดัง “เลอโนโว” ถึงทิศทางและแนวโน้มของตลาด

อัพเกรดคอมฯเพื่อใช้เอไอ

“คอดริงตัน” กล่าวว่า ตลาดสินค้าไอทีเปลี่ยนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เลอโนโวมีการปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก Intelligence Devices Group (IDG) หน่วยธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์อัจฉริยะ ธุรกิจสมาร์ทโฟนและผลิตภัณฑ์โซลูชั่นซอฟต์แวร์ Augmented และ Virtual Reality (AR/VR) เป็นต้น

กลุ่มที่สอง คือ Infrastructure Solutions Group (ISG) การบริการดาต้าเซ็นเตอร์หรือโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงสร้างคลาวด์และเอดจ์ การวิเคราะห์และปัญญาประดิษฐ์ และ กลุ่มสาม Solutions Services Group (SSG) การรวบรวมโซลูชั่นและบริการด้านไอทีทั้งหมดของเลอโนโว ทั้งในพีซี โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้บริการธุรกิจแนวดิ่งแบบ As-a-Service

แต่ละกลุ่มมีการเติบโตเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่พีซี มีสัดส่วน 42% โตเร็วกว่า ในไตรมาส 3 ปีการเงิน 2023/2024 ที่ผ่านมารายได้รวม 1.56 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“การแบ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Pocket to Cloud คือ จากอุปกรณ์เล็ก ๆ ไปจนถึงโซลูชั่นสำหรับเซิร์ฟเวอร์และคลาวด์ขนาดใหญ่ เราเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีของดีไวซ์ ทั้งพีซีและอื่น ๆ ในกลุ่มคอมเมอร์เชียลและคอนซูเมอร์ด้วย”

ADVERTISMENT

เรียกว่า “วัฏจักรรีเฟรช” หรือการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ บวกกับกระแส AI PC และ AI Devices ที่ทำให้องค์กรธุรกิจไม่ได้มองหาแค่คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ธรรมดาอีกต่อไป แต่ต้องเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มการแข่งขันให้เขาได้ ด้วยการปรับเอไอเข้าไปใช้งาน

“เรามีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นโซลูชั่น End to End และ HybridAI ให้องค์กรได้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เพราะข้อมูลขององค์กรมีความสุ่มเสี่ยง จึงต้องเลือกว่าจะใช้แบบ Foundation เช่น OpenAI Anthropic และอื่น ๆ ผ่านคลาวด์ หรือแบบดาต้าเซตของตัวเองเมื่อเรามีโซลูชั่นและภาคธุรกิจต้องการ อุปกรณ์ของเราก็ต้องรีเฟรชใหม่ด้วย”

ADVERTISMENT

ทุ่ม 1 พันล้านเหรียญวิจัย AI

นอกจากนี้ เลอโนโวได้มีการลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐใน 3 ปีให้พาร์ตเนอร์ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์กว่า 162 ราย เพราะเรื่องของเอไอต้องมีการออกแบบให้ฮาร์ดแวร์แต่ละเครื่องมีเอกลักษณ์ และสามารถคาดการณ์ความต้องการของผู้ใช้งานได้เฉพาะบุคคล เช่น ช่วยบริหารการใช้พลังงาน ปรับสมดุลแสง เร่งความเร็วในช่วงที่นิยมใช้ และต้องประมวลผลบนเครื่อง

ที่สำคัญยังพบว่าการใช้เอไอในองค์กรผ่านโซลูชั่นต่าง ๆ โดยที่ตัวเครื่องยังเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป หรือ AI PC นั้น ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ชื่อว่า NPU (Neural Processing Unit) ที่ดีไซน์มาเพื่อรองรับการประมวลผลเฉพาะบุคคล และช่วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งในยุคเอไอเรื่องนี้สำคัญมาก แม้ NPU จะไม่ใช่เทคโนโลยีที่เราเข้าถึงได้รายเดียว แต่เป็นเจ้าแรกที่ปรับใช้ NPU ในไลน์อัพผลิตภัณฑ์

วัฏจักรของการเปลี่ยนเครื่อง

“วรพจน์” กล่าวว่า ตลาดประเทศไทยมีความสำคัญมาก มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นที่ 2 ของภูมิภาคอินโดจีน จากยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ กลุ่มคอนซูเมอร์กลับมาซื้อพีซีโต 7% คาดว่าหลัง พ.ค. จะเห็นการเติบโตเพิ่มขึ้น หลังจากซบเซามา 3 ปี กล่าวคือ โตแต่ช้ากว่ากลุ่มไม่ใช่พีซี

“ผมเรียกว่าวัฏจักรซื้อซ้ำ เกิดจากปัจจัยที่ว่าเครื่องต้องมีการรีเฟรชแล้ว เพราะเครื่องเมื่อ 3 ปีก่อนเป็นเทคโนโลยีเก่า ชิปประมวลผลที่ใช้เมื่อ 4 ปีก่อน ไม่รองรับวินโดวส์ 11 ยิ่งมีเอไอ Copilot มาด้วย ยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนเครื่องเพื่อใช้งาน”

อีกส่วนคือ การผ่านงบประมาณปี 2567 จะมีการเบิกจ่ายในส่วนของลูกค้าภาครัฐ หรือแม้แต่ในภาคเอกชนเอง เมื่องบฯผ่าน สิ่งที่ต้องซื้อต้องลงทุนคือ เทคโนโลยี ซึ่งเอไอจะมีบทบาทมากแน่นอน

“เราจะต้องนำเสนอให้เห็นว่า จะสร้างประโยชน์ได้อย่างไร เพื่อตอบสนองการซื้อซ้ำในภาครัฐ เอกชน และลูกค้าฝั่งรีเทล อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะไปกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ก็จะช่วยฟื้นยอดขายในตลาดคอนซูเมอร์ที่ซบเซาขึ้นมาได้ แม้ภาวะเศรษฐกิจคงไม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเศรษฐกิจมหภาค ภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันทางการค้ายังมี แต่ผมยังเชื่อว่าคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในปัจจัยห้า เป็นสินค้าจำเป็น”

ผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์

“วรพจน์” กล่าวถึงตลาดพีซีโดยรวมว่า เป็นตลาดที่โหด หลายแบรนด์ห่างหายไปจากตลาด แต่เลอโนโวยังเป็นที่หนึ่งในการส่งเครื่องให้ลูกค้า ทำให้มีซัพพลายและกำลังการผลิตทั่วโลก ซึ่งในแง่ต้นทุนการผลิต สะท้อนว่าความต้องการเริ่มกลับมา เพราะช่วงตลาดซบเซาหลังโควิด ยอดสั่งชิ้นส่วนสำหรับประกอบเครื่องลดลง ทำให้ราคาชิ้นส่วนถูกลง แต่ปัจจุบันเริ่มขยับแพงขึ้น แสดงว่าเริ่มมีคำสั่งซื้อ มีความต้องการเพิ่มขึ้น ราคาเครื่องอาจขยับขึ้นตาม

ถามว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐ กระทบกับชิ้นส่วนหรือซัพพลายเชนในการผลิตอุปกรณ์หรือไม่ “วรพจน์” กล่าวว่า เลอโนโวไม่ได้กังวลเรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เลย ด้วยความที่เราเป็นผู้ส่งดีไวซ์อันดับหนึ่ง ต้องส่งทั่วโลก จึงมีการกระจายโรงงานผลิตไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก มีการจัดหาชิ้นส่วนและบริหารซัพพลายเชน เพื่อกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว

จัดลำดับความสำคัญ

ผู้บริหารเลอโนโว “วรพจน์” ทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจโซลูชั่นจะโตเร็วมาก บางไตรมาสเป็น 3Digit ขณะที่ช่วงนี้ตลาดคอนซูเมอร์เริ่มฟื้นตัวได้ในรอบ 3 ปี แต่โดยส่วนตัวมองว่ากลุ่มธุรกิจโซลูชั่นเซอร์วิส ที่มีบริการอย่าง Digital Workplace Solutions (DWS) ไม่ว่าจะเป็นบริการ Digital Workplace Advisory Services การให้คำปรึกษาเพื่อศึกษาความต้องการ และออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ตามความต้องการของธุรกิจ, บริการ Persona-based Configuration ปรับแต่งเครื่องให้เหมาะกับความต้องการของพนักงานแต่ละตำแหน่ง เป็นต้น มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

“DWS เป็นบริการเรือธงที่เราทำได้ดี จึงอยากพัฒนาเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ AI PC เป็น Next Era เราไม่ได้เสนอขายแค่เครื่อง แต่เป็นประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับทั้งบุคคลและองค์กร”