“คู่จิ้น” พลิกเกมไลฟ์คอมเมิร์ซ ดันยอดขายทะลุหลักแสน

คู่จิ้น-ไลฟ์คอมเมิร์ซ
อิงฟ้า-ชาล็อต / ฟรีน-เบ็คกี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจการใช้กลยุทธ์ “คู่จิ้น” สร้างสีสันไลฟ์คอมเมิร์ซ พร้อมดึงพลังฐานแฟนด้อม ดันยอดขายทะลุหลักแสน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ไลฟ์คอมเมิร์ซ (Live Commerce) หรือการไลฟ์ขายสินค้า กลายเป็นช่องทางการขายสำคัญของแบรนด์ต่าง ๆ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การซื้อสินค้าของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ชื่นชอบการรับชมสื่อความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน

จากข้อมูลของ Datareportal ระบุว่า ผู้คนกว่า 29.9% หาซื้อสินค้าบนช่องทางออนไลน์ และอีก 26.6% เลือกจะรับชมไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังมีรายงานอีกว่า ในปี 2566 การไลฟ์เติบโตขึ้น 15 เท่า และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 โดยผู้บริโภคเจนซี (Gen Z) ถือเป็นกลุ่มที่รับชมไลฟ์มากกว่าคนรุ่นอื่น

แต่เมื่อหลาย ๆ แบรนด์ต่างก็ใช้ไลฟ์คอมเมิร์ซเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของตนเอง การสร้างความสนุกและสีสันในการไลฟ์เพื่อดึงดูดการรับชมจึงสำคัญมาก โดยกลยุทธ์ที่หลายแบรนด์เลือกใช้ คือการใช้ KOLs (Key Opinion Leaders) หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ชื่อดัง และ “คู่จิ้น” ที่มีฐานแฟนคลับจำนวนมาก มาเป็นตัวเอกในการไลฟ์ นำไปสู่การกระตุ้นยอดขายด้วยพลังของแฟนด้อม

สอดคล้องกับผลวิจัยของ Nielson Media Research ที่ระบุว่า ฐานแฟนคลับส่วนมากเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูง จึงสามารถให้การสนับสนุนศิลปินคู่โปรดได้ตลอด และเมื่อคู่จิ้นคู่โปรดโปรโมตสินค้าใด จะเกิดปรากฏการณ์ Sold out ในเวลาไม่กี่นาที

จากการรวบรวมข้อมูลการพูดถึงคู่จิ้นกว่า 40 คู่ ในไตรมาส 1-3 ของปี 2566 ของ “ไวซ์ไซท์” ผู้ให้บริการเครื่องมือและการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย พบว่า ชาวเน็ตพูดคุยเกี่ยวกับคู่จิ้น 4 ล้านข้อความ ได้รับเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 1,237 ล้านครั้ง โดย X (Twitter) เป็นช่องทางหลักในการพูดคุยเกี่ยวกับคู่จิ้น ซึ่งมีเอ็นเกจเมนต์กว่า 641 ล้านครั้ง และการพูดคุยมากกว่า 3 ล้านข้อความ

ADVERTISMENT

และจากการสำรวจกว่า 300 แบรนด์ ที่ใช้กลยุทธ์การตลาดคู่จิ้น พบว่าในไตรมาส 1-3 ของปี 2566 แต่ละกลุ่มธุรกิจได้รับเอ็นเกจเมนต์ ดังนี้

  • เครื่องสำอาง (Cosmetic) 15 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce Platform) 10 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • ดีลิเวอรี่และขนส่ง (Delivery & Logistics) 9 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • อาหาร (Food & Snacks) 7 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skincare) 5 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • เครื่องดื่ม (Beverage) 4 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (Personal Care) 3.8 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) 3.6 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • ยานยนต์ (Automotive) 3.4 ล้านเอ็นเกจเมนต์
  • ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) 1.9 ล้านเอ็นเกจเมนต์

โดยในกลุ่มเครื่องสำอางได้รับเอ็นเกจเมนต์จาก “มาย-อาโป” มากที่สุด ส่วนกลุ่มอีคอมเมิร์ซได้รับเอ็นเกจเมนต์จาก “เจมีไนน์-โฟร์ท” เป็นส่วนใหญ่

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ รายงาน Unlock Social 2023 จัดทำโดย “ไวซ์ไซท์” ยังระบุด้วยว่า คู่จิ้นหญิง-หญิงยังได้รับความนิยมจากชาวเน็ตมากขึ้น โดยกวาดเอ็นเกจเมนต์แซงหน้าคู่จิ้นชาย-ชาย ซึ่งคู่ที่มาแรงที่สุด คือ “อิงฟ้า-ชาล็อต” ได้รับไป 257 ล้านเอ็นเกจเมนต์ โดยหลังจาก “ชาล็อต ออสติน” ไลฟ์ได้เพียง 3 นาที สินค้าหมดทุกตะกร้า ทำยอดขายรวมกว่า 5 แสนบาท ตามมาด้วย “ฟรีน-เบ็คกี้” ที่ได้รับ 157 ล้านเอ็นเกจเมนต์

ส่วนคู่จิ้นชาย-ชาย ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เจมีไนน์-โฟร์ท 153 ล้านเอ็นเกจเมนต์ 2.ซี-นุนิว 134 ล้านเอ็นเกจเมนต์ และ 3.ไบรท์-วิน 79 ล้านเอ็นเกจเมนต์

อย่างไรก็ตาม การไลฟ์ขายสินค้าโดยใช้คู่จิ้นยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดการพูดถึงบนโซเชียลมีเดียเป็นวงกว้าง ไปพร้อม ๆ กับการขายสินค้าของแบรนด์ เช่น แคมเปญ Perfect Makeup Duo with MilkLove ของลอรีอัล ที่ได้ “มิ้ลค์-เลิฟ” นักแสดงนำจากซีรีส์เรื่อง 23.5 องศาที่โลกเอียง มาไลฟ์ขายสินค้า และทำให้แฮชแท็ก #LOrealMakeupxMilkLove ติดเทรนด์อันดับ 5 บน X ในไทย เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนโพสต์กว่า 55,700 โพสต์

แม้ว่าความสำเร็จจากกรณีศึกษาของการตลาดคู่จิ้นที่เกิดจากพลังของแฟนด้อม จะทำให้กลยุทธ์นี้ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ แบรนด์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดแบรนด์ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้เกิดการสร้างฐานลูกค้าอย่างยั่งยืน และไม่ผูกติดการตัดสินใจซื้อสินค้าไว้ที่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว

มิ้ลค์-เลิฟ
“มิ้ลค์-เลิฟ” จากซีรีส์เรื่อง 23.5 องศาที่โลกเอียง ไลฟ์กับแบรนด์ “ลอรีอัล”