ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) มาแล้วหลายปี และยังมีแนวโน้มที่สัดส่วนของประชากรอายุเกิน 60 ปี จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) หรือการมีประชากรสูงวัยในประเทศมากกว่า 20% ในไม่ช้า ซึ่งจากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2566 ระบุว่า จำนวนผู้สูงอายุในไทยอยู่ที่ 12,814,778 คน คิดเป็น 19.4% ของประชากรทั้งหมด
แม้การเป็นสังคมสูงวัยจะนำมาซึ่งความท้าทายให้กับประเทศในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีจากประชากรวัยทำงานที่ลดลง ไปจนถึงการออกแบบสวัสดิการให้รองรับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการขยายกลุ่มลูกค้าและสร้างน่านน้ำใหม่ ๆ ทางธุรกิจด้วย
“วรรณา สวัสดิกูล” ประธาน บริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม Silver Age หรือคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เพราะเป็นวัยที่สะสมเงินมาทั้งชีวิต หรือถ้าอยู่ในวัยเกษียณก็จะได้รับเงินจากกองทุนต่าง ๆ รวมถึงเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจซื้อสินค้าโดยยึดจากคุณภาพเป็นหลัก ไม่เกี่ยงเรื่องราคา และจะรู้สึกสงสัยในคุณภาพสินค้าเมื่อมีราคาถูกเกินไป เนื่องจากคนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเสี่ยงกับการใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพได้อีกแล้ว
“กลุ่ม Silver Age เป็น Blue Ocean หรือตลาดที่น่าสนใจมาก หลาย ๆ แบรนด์เริ่มทุ่มเงินมาทำตลาดกับคนกลุ่มนี้มากขึ้นเพราะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ”
และมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุในไทยจะมีสัดส่วนเป็น 30% โดยสินค้าที่คนกลุ่มนี้นิยมซื้อจะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และอาหารสัตว์ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และนิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายเหงา นอกจากนี้ การเป็นสังคมสูงวัยยังทำให้เกิดอาชีพใหม่ในกลุ่มผู้สูงวัย นั่นคือ “Silver Influencer” หรือการที่ผู้สูงวัยลุกขึ้นมาเป็นครีเอเตอร์ทำคอนเทนต์จากสิ่งที่ตนเองสนใจ กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์มีผู้ติดตามมากมายบนโลกออนไลน์
หนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาชีพ Silver Influencer คือความสามารถในการปรับตัวทางดิจิทัลของผู้สูงวัยในช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก
จากผลสำรวจการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี 2566 (Thailand Digital Outlook 2023) จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) และหน่วยงานพันธมิตรระบุว่า ในไตรมาส 1/2566 คนไทยกลุ่มผู้สูงวัย (55-74 ปี) มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 71.6%
สอดคล้องกับข้อมูลจากอีบุ๊กเจาะเทรนด์โลก 2024 (TREND 2024) โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่ระบุว่า เบบี้บูมเมอร์เป็นกลุ่มที่รุ่มรวยเวลา และบ่มเพาะไลฟ์สไตล์ดิจิทัลมาตั้งแต่เกษียณ มี Facebook เป็นสื่อโซเชียลหลักทั้งเป็นผู้ใช้ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นแบบทดลองใช้ฟรี และจ่ายเงินมากกว่า 1.2 พันล้านครั้งต่อเดือน
Silver Influencer ที่มีชื่อเสียงในไทย เช่น แต่งให้สวย Style 50+, อุ้ยเกี๋ยง และผองเพื่อน, เกษียณสำราญ เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้ Silver Influencer ได้รับความนิยมต่อเนื่อง คือการเป็นผู้รู้จริงในเรื่องต่าง ๆ มีอินไซต์จากประสบการณ์จริง ทำให้มีความน่าเชื่อถือในการออกมาเล่าหรือแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ
“การโฆษณาโดยใช้ดาราอย่างเดียวไม่พอแล้ว ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากรีวิวด้วย แบรนด์ใช้ดาราเพื่อสร้างการรับรู้ได้ แต่ควรใช้อินฟลูเอนเซอร์ควบคู่ไปด้วย ข้อได้เปรียบของอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยคือประสบการณ์ สมมุติว่ามีคนมาขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาผิวพรรณก็จะบอกได้ว่าผิวแห้งเพราะอะไร หรือใช้ผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนแล้วจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้”
“วรรณา” มองว่า ตลาด Silver Influencer จะเติบโตขึ้นแน่นอน เพราะหลายแบรนด์หันมาเจาะตลาดสูงวัยมากขึ้น ทำให้ความต้องการอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“เรามองไปถึงการใช้ Community Marketing หรือการตลาดแบบคอมมิวนิตี้ในการสร้างการรับรู้ให้แบรนด์ไปพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าแบรนด์ต้องการเจาะตลาดคนกลุ่มนี้จริง ๆ การเข้าไปอยู่ในคอมมิวนิตี้จะช่วยได้มาก ตอนนี้ซิลเวอร์แอคทีฟทำเพจ Count Up เป็นคอมมิวนิตี้สำหรับผู้สูงวัย มีอินฟลูเอนเซอร์อายุ 50 ปีขึ้นไป 10 กว่าคน ส่วนใหญ่มาจากการชักชวนคนที่เห็นว่ามีศักยภาพในการออกกล้อง มีทีมงานคอยช่วยจัดการหลังบ้านเวลาลงคอนเทนต์ให้
ประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้ดีมาก คือ เกาหลีใต้ เขาโดดเด่นเรื่องอินฟลูเอนเซอร์วัยรุ่นอยู่แล้ว ตอนนี้เริ่มเห็นเทรนด์ผู้สูงวัยชาวเกาหลีลุกขึ้นมาแต่งตัวแต่งหน้าสวย ๆ ทำคลิปอย่างไม่เคอะเขิน เรากำลังศึกษาโมเดลเพื่อนำมาปรับใช้ในไทย และตั้งใจว่าปี 2567 จะตั้งโรงเรียนฝึกทักษะการออกกล้องให้ผู้สูงวัยด้วย”
ด้าน “สุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tellscore แพลตฟอร์มจ้างงานอินฟลูเอนเซอร์ กล่าวว่า ในอดีตอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นสายเฉพาะ เนื่องจากมีน้อย และเคสที่มีอาจยังไม่เตะตาแบรนด์ต่าง ๆ มากนัก แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งจากจำนวนที่เพิ่มขึ้น เพราะมีลูกหลานมาช่วยทำคอนเทนต์ และความต้องการของแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง
“ภาพรวมตลาด Silver Influencer ถือว่าขาดแคลน แบรนด์ต่าง ๆ ต้องการแต่ตัวเลือกที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จากดาต้าที่มีคาดว่าสัดส่วนของอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยมีประมาณ 20% แต่ยังมีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอีกมาก อย่างในแพลตฟอร์มเราเองมี 7-8% เชื่อว่าเป็นตลาดที่มีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก”