เปิดแผนซอฟต์พาวเวอร์อาหาร “เชฟชุมพล” ดึงร้านอาหาร-อินฟลูดันเมนูฮิต

อาหารไทย

เชฟชุมพล ถกอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ด้านอาหารนัดแรก ดันท็อปลิสต์อาหารไทย โกอินเตอร์ เวทีโลก เปิด 5 เมนูอาหารไทยยอดฮิตติดลิ้นลูกค้า เตรียมวางหมากใช้ร้านอาหารไทยในต่างแดน-อินฟลูเอนเซอร์โปรโมต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 ด้าน

โดยมอบหมายให้นายชุมพล แจ้งไพร หรือเชฟชุมพล เป็นประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำนโยบายและแผน พร้อมทั้งแนวทางและมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอาหาร

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมอนุกรรมการ Soft Power ด้านอาหาร ครั้งที่ 1 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หารือกันถึงแนวทางการเพิ่มโอกาสให้โลกรู้จักและเข้าถึงอาหารไทยได้มากขึ้น

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหารได้หารือเสนอโครงการระยะเร่งด่วน 100 วัน (Quick Win) โดยมองถึงบริบทของโลกเศรษฐกิจ ความท้าทายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นจึงได้หาจุดแข็งของไทย อาทิ อัตลักษณ์ความเป็นไทย นำมาต่อยอด สร้างให้เกิดการรับรู้ กลายเป็น soft power ของอาหารไทย

โดย soft power หรือในภาษาไทย คือ อำนาจโดยละมุนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการพูดถึง การรับรู้ และการบริโภคของต่างประเทศ หรือคู่ค้าปลายทาง ซึ่งสามารถรับรู้ผ่านทางออฟไลน์ เช่น ร้านอาหารไทยที่อยู่ในต่างประเทศ

รวมถึงการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ผ่านทางอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ผ่านทางคนดังที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ หรือผ่านทางการแข่งขันอาหาร การได้รับรางวัลจากการจัดลำดับอาหารยอดเยี่ยมของหลาย ๆ ประเทศ เป็นต้น

โดยวิธีการสร้างการรับรู้ผ่านผู้บริโภคทั่วโลกด้วยการบอกต่อนั้น จะทำให้ผู้บริโภคอยากสัมผัสและชิมรสของอาหารไทยมากยิ่งขึ้น

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

นอกจากนั้น ไทยยังมีเชฟที่มีความสามารถด้านอาหารไทยมาก ที่สามารถปรุงอาหารไทยได้อย่างถูกต้อง มีรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการรับรู้และการกล่าวถึงอาหารไทยมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นในโครงการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ในครั้งนี้จะมีแผนการส่งเสริม การพัฒนาทักษะ โดยการเรียน การสอน การสร้างทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มจำนวนเชฟที่มีความสามารถด้านอาหารไทย การพัฒนาอาหารไทย การพัฒนาร้านอาหารไทย

รวมถึงการแปรรูปอาหารไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการสร้างการรับรู้และช่วยประชาสัมพันธ์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เกิดเป็น soft power ด้านอาหารของไทย

ปัจจุบันอาหารไทยเป็นที่นิยมและเป็นที่รับรู้ของชาวต่างชาติทั่วโลก เช่น

1.ข้าวซอย ติดอันดับ 1 ของซุปที่ดีที่สุดในโลก ในบทความเรื่อง The 50 Best Soup In The World In 2022 ของ TasteAtlas

2.แกงพะแนง ติดอาหารที่ดีสุดในโลก ในเรื่อง The Best Traditional Dishes In The World In 2022 ของ TasteAtlas

3.ผัดไทย ติดอันดับ 6 จาก 50 อันดับอาหารต่างชาติที่เป็นที่นิยมของชาวสหรัฐ ในนิตยสาร Reader’s Digest 2022

4.แกงเขียวหวาน ที่เป็นที่นิยมของประชากรในสหราชอาณาจักร ในบทความเรื่อง The 10 Most Popular International Cuisines In The UK

5.แกงมัสมั่น เป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลก เรื่อง The World’s 50 Best Foods ในบทความของ CNN Travel (2022)

“เรายังมีอีกหลายเมนูอร่อยที่ต่างชาติยังไม่รู้จัก และยังไม่รู้ถึงประโยชน์และสรรพคุณของส่วนประกอบในอาหารไทยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมาก”

การส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์อาหารไทย นำพาซึ่ง soft power ด้านอาหารนั้น จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรต้นน้ำในด้านวัตถุดิบ ไปจนถึงผู้ผลิตอาหารของไทยทั้งในระดับอุตสาหกรรมและร้านอาหาร ที่มีการใช้วัตถุดิบของไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและตลอดห่วงโซ่เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน