สันติธาร ชี้ AI สามารถเสริมปัญญาของคน และองค์กรได้ 4 ทาง

ดร.สันติธาร เสถียรไทย

สันติธาร เสถียรไทย เผยความประทับใจเมื่อได้ฟัง Andrew Ng ปรมาจารย์และเจ้าพ่อวงการ AI ของโลกที่เพิ่งมาประเทศไทย และมาพูดในวงปิดที่ H.O.W (House of Wisdom)

วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ‘เจ้าพ่อปัญญาประดิษฐ์ผู้เชื่อมั่นในพลังปัญญาของมนุษย์’

นั่นคือความประทับใจของผมเมื่อได้ฟัง Andrew Ng ปรมาจารย์และเจ้าพ่อวงการ AI ของโลกที่เพิ่งมาประเทศไทย และมาพูดในวงปิดที่ H.O.W (House of Wisdom)

สิ่งที่ชอบคือ Andrew เป็นเจ้าพ่อ AI ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับการสร้างหุ่นยนต์ที่ฉลาดกว่าคน แต่อยากให้ AI มาเสริมปัญญาให้มนุษย์ และอยากเห็นคนจำนวนมากใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้เต็มที่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เขาก็เป็นผู้ก่อตั้ง Coursera บริษัท เทคโนโลยีการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งด้วย

ผมขอสรุปว่า AI สามารถมาเสริมปัญญาของคนและองค์กรได้ 4 ทาง เขียนออกมาได้เป็นคำว่า AI 2 ครั้ง – “AI x 2”

A ตัวแรกคือ Automation คือให้เอไอมาทำงานที่มันน่าเบื่อ ไม่ประเทืองปัญญาและเสียเวลาคน เพื่อให้คนมีเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่า

Advertisment

ตัวแอนดรูว์เค้าแอบเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ ต้องถ่ายเอกสารตำราเยอะมากจนเบื่อ อยากหาเทคโนโลยีมาทำแทนให้ แต่ตอนนั้นยังไม่มี (เอ้ะ หรือนี่คือตัวจุดประกายให้แกพัฒนาเอไอ)

เขาคิดว่างานของคนจะไม่ถูก Automate จนหายไป แต่ 20-30% ของหน้าที่ที่คนเคยต้องทำจะใช้หุ่นยนต์แทน เพราะฉะนั้น เนื้อหาของงานจะเปลี่ยนไป แม้จะชื่อเหมือนเดิม มองในแง่ดีอาชีพครูที่เคยต้องงานเอกสารเยอะ ๆ อาจจะได้กลับมามีเวลาคิดเรื่องการสอนเด็กจริง ๆ และพัฒนาตัวเองมากขึ้น

Advertisment

A ตัวที่ 2 คือ Augmentation คือเอไอมาช่วยทำงานที่มนุษย์เรายังทำอยู่ให้เก่งขึ้นไป เพราะมี ’เพื่อนร่วมงานที่ดี’ ในส่วนนี้แอนดรอยด์ยกตัวอย่างการเขียนโค้ดในคอมพิวเตอร์ บอกว่า สิ่งที่ยากสุดของการเขียนโค้ดคือการต้องทำคนเดียว เพราะติดก็คิดไม่ออก ผิดก็ไม่รู้ตัว

แต่ด้วย GenAI วันนี้ “คุณจะไม่ต้องโค้ดคนเดียว” อีกต่อไป (You will never code alone) เพราะเอไอจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ช่วยคุณได้ในภาษามนุษย์

แต่เค้ามองต่างจากหลายคน ที่บอกว่าการเรียนโค้ดดิ้งไม่จำเป็นแล้ว เค้ากลับมองว่ายังเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะพื้นฐานหลายอย่างที่จำเป็น

เหมือนกับที่ทุกวันนี้เรายังให้ความสำคัญกับการเรียนบวกลบคูณหารเลขแม้มีเครื่องคิดเลข เรายังให้ฝึกอ่านจับใจความแม้มีอุปกรณ์ช่วยสรุปมากมาย

แน่นอนผมว่า Augmentation ที่ไม่ได้ ใช้ได้แต่ในเรื่องเขียนโค้ดเท่านั้น แต่ใช้ได้ในเกือบทุกอาชีพ เช่น คุณครูก็สามารถมีเอไอเป็นผู้ช่วยในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน อาจให้เล่นบทนักเรียนช่วยทดสอบว่าหลักสูตรมันเวิร์กจริงไหม

I ตัวแรกมาจากคำว่า Innovation หรือนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หน้าตาจะเปลี่ยนจากเดิมไปมาก เมื่อคนเริ่มค้นพบสูตรที่ลงตัว ว่าจะเอาเอไอมาใช้ในอุตสาหกรรมตัวเองอย่างไรให้เหมาะสม

วันนี้เรื่องการพัฒนาเอไอยังอยู่ในช่วงที่เน้นสร้างมันให้ฉลาด ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ได้เน้นสร้างประโยชน์ (Application) ซึ่งแอนดรูว์มองว่าสำคัญมาก ๆ และเป็นเรื่องที่ฝั่งเทคโนโลยี-เทคนิคทำเองไม่ได้ ต้องมาร่วมมือกันกับผู้ที่รู้ลึกของแต่ละวงการนั้นจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ การศึกษา การเงิน ศิลปิน ฯลฯ เพื่อให้เอไอสร้างอะไรใหม่ที่ตอบโจทย์แต่ละอุตสาหกรรมจริง ๆ

เขาแนะว่าแต่ละองค์กรควรสนับสนุนให้มีการทดลองใช้เอไอเป็นโปรเจ็กต์เล็ก ๆ หลาย ๆ อัน เพราะนอกจากจะช่วยสร้างทักษะให้คนแล้ว จะทำให้มองเห็นภาพอนาคตราง ๆ ด้วยว่า อุตสาหกรรมที่เราอยู่หน้าตาอาจเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต และงานที่เราทำ ๆ กันอยู่จะปรับไปอย่างไรด้วย

I ตัวสุดท้ายคือ คำว่า Inclusion หรือการเข้าถึง เพราะแอนดรูว์ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่สำคัญต่าง ๆ ของคนในสังคม

เขาพูดไว้ว่า ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่มีค่าที่สุดในโลก แต่ ‘ราคา’ มันช่างแพงเหลือเกิน กว่าจะสร้างคุณหมอ หรือคุณครูดี ๆ มาได้แต่ละคนช่างยากเย็น

คงจะดีไม่น้อยหากต่อไปปัญญาประดิษฐ์สามารถเป็น ‘ผู้ช่วย’ สร้างเสริมให้ทุกคนเก่งขึ้น ทำให้ต้นทุนของการสร้างปัญญานั้นถูกลงและเข้าถึงง่ายขึ้น

ในขณะเดียวกัน เขาก็ตระหนักว่าเทคโนโลยีแบบ AI เนี่ยแหละที่อาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำมันแย่ลงลงก็ได้ เพราะคนที่ใช้ AI เป็นได้เปรียบคนที่ใช้เอไอไม่เป็นอย่างมาก

เขาจึงมองว่าการนำ AI มาใช้พัฒนาระบบการศึกษา และรีสกิล-อัพสกิลให้คนจะเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสุดท้ายเทคโนโลยีจะดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ หากคนทั่วไปเข้าไม่ถึงและใช้ไม่เป็น

ผมไม่ได้เขียนสรุปเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งมีอีกหลายประเด็น แต่อยากจะเล่าความประทับใจส่วนตัวและประเด็นที่ได้ตกตะกอนมาเป็น ”AI x 2“ ที่ว่านี้

และขอปิดท้ายด้วยประโยคที่เขาบอกว่า การมาประเทศไทยคราวนี้ทำให้เขารู้สึกได้ถึงการตื่นตัวเรื่องเอไอของประเทศไทยและโมเมนตัมที่กำลังมา

เขาจึงทิ้งท้ายว่า อยากให้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ อย่าให้เป็นไฟไหม้ฟาง ใช้มันจุดประกายสร้างคอมมิวนิตี้ที่สนับสนุนการพัฒนาและประยุกต์ใช้เอไอเพื่อตอบโจทย์ประเทศ เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้านที่เอาเทคโนโลยีมาช่วยเสริมให้ก้าวกระโดดได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เกษตร การแพทย์

ที่นี้ก็คงขึ้นอยู่กับเราแล้วละครับว่าจะใช้ไฟที่จุดติดนี้อย่างไร

ดร.สันติธาร เสถียรไทย