ChargeSPOT ตู้เช่าพาวเวอร์แบงก์ ธุรกิจฮอตยุคสมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะที่ 33

power bank
รสศุภา หงส์ลดารมภ์

ในยุคที่สมาร์ทโฟนแทรกซึมไปกับการใช้งานในทุกมิติของชีวิต “พาวเวอร์แบงก์” หรือแบตเตอรี่สำรองกลายเป็นอุปกรณ์คู่ใจที่หลายคนต้องพกติดตัว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างต่อเนื่อง แต่หลายครั้งกลับประสบปัญหาลืมพกมาจากบ้าน หรือลืมชาร์จหลังใช้งาน

ในงาน Techsauce Global Summit 2024 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “รสศุภา หงส์ลดารมภ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาร์จสปอต (ไทยแลนด์) จำกัด ตัวแทนทางการตลาดของ “อินโฟริช” (Inforich) ผู้ให้บริการตู้เช่าพาวเวอร์แบงก์ภายใต้แบรนด์ “ชาร์จสปอต” (ChargeSPOT) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากปัญหาเหล่านี้ และพัฒนาบริการให้สอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภค

จุดเริ่มต้นในไทย

“รสศุภา” เล่าว่า ชาร์จสปอตเริ่มให้บริการเมื่อปี 2562 โดยเป็น “แฟรนไชซี” หรือซื้อแฟรนไชส์จาก “อินโฟริช” บริษัทแม่ในญี่ปุ่นเข้ามาบริหารในไทย เริ่มจากการให้บริการตามโรงแรมเป็นตู้ขนาดใหญ่ จุพาวเวอร์แบงก์ได้ประมาณ 20 อัน เน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังเติบโต ลูกค้ากว่า 80% จึงเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน

“เรารู้จักกับพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่นอยู่แล้ว ก็คุยกันว่าธุรกิจนี้เข้ากับประเทศไทย เพราะคนไทยใช้สมาร์ทโฟนทำหลายอย่าง เวลาแบตใกล้หมด แต่ลืมเอาอุปกรณ์ชาร์จมา ก็ต้องหาพาวเวอร์แบงก์มาใช้ฉุกเฉิน และแต่ละปีไทยรองรับชาวต่างชาติเยอะมาก การให้เช่าพาวเวอร์แบงก์น่าจะเสริมเซอร์วิสด้านการเดินทางได้ เช่น ก่อนออกจากโรงแรมเพื่อไปเที่ยว ก็โหลดแอป ChargeSPOT มาสแกนเพื่อเช่าที่หน้าตู้ พอกลับมาก็เสียบพาวเวอร์แบงก์คืนที่ตู้ตามเดิม”

จุดเปลี่ยนจากโควิด-19

“โควิด-19” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยในช่วงที่โรคเริ่มระบาด นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ได้ ตลาดค่อนข้างนิ่ง คู่ค้าเราก็ไม่รอด ทำให้ต้องเริ่มทำความเข้าใจและศึกษาตลาดในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่คนเริ่มใช้แพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ และทำธุรกรรมต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟน คนจึงมีความคุ้นเคยในการใช้งานอีวอลเลต หรือผูกบัตรเครดิต/บัตรเดบิตบนแอปอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสื่อสารให้คนมาใช้บริการ

“ช่วงแรกลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว ตอนนี้ลูกค้า 80% เป็นคนไทย อีก 20% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ การโฟกัสที่ตลาดในประเทศทำให้เราโตได้อย่างยั่งยืนกว่า เพราะไม่ต้องกังวลว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ต่างชาติจะเข้ามาไหม ทำตลาดให้คนไทยใช้ไปเรื่อย ๆ เราก็อยู่ได้”

Advertisment

การให้บริการในไทย

“รสศุภา” กล่าวว่า หลังจากโฟกัสตลาดในประเทศมากขึ้น ชาร์จสปอตเริ่มปรับโมเดลการให้บริการ โดยเพิ่มการตั้งตู้ขนาดเล็กที่จุพาวเวอร์แบงก์ได้ 5-8 อัน ตามร้านอาหาร หรือร้านสะดวกซื้อ 7-11 เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเช่าและคืนเครื่อง ปัจจุบันตู้ที่ให้บริการในไทยมีอยู่ประมาณ 1,000 ตู้ แบ่งเป็นตู้ขนาดใหญ่ จุพาวเวอร์แบงก์ 20-40 อัน ตั้งตามศูนย์การค้าและโรงแรมต่าง ๆ ประมาณ 300 ตู้ ส่วนตู้ขนาดเล็กมีอยู่ 700 ตู้

Advertisment

จุดที่ให้บริการส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็มีกระจายไปจังหวัดต่าง ๆ หรือเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา

และในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจุดการให้บริการอีก 500 แห่ง เน้นที่เครื่องขนาดเล็กตั้งตามสาขา 7-11

“การเพิ่มจำนวนตู้ขนาดใหญ่ยังอยู่ในช่วงพูดคุยกับพาร์ตเนอร์กลุ่มรีเทลเพิ่มเติม โดยเน้นที่การเพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน สมมุติว่าลูกค้าเช่าจากสยามพารากอนแล้วเดินเที่ยวในละแวกนั้น ก็คืนที่ห้างอื่นได้เลย ส่วนตู้เล็กจะแล้วแต่ตกลง ส่วนแบ่งรายได้กับเจ้าของพื้นที่ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน บางรายมองเป็นเซอร์วิสเพิ่มเติมให้ลูกค้า บางรายก็มองว่าช่วยสร้างทราฟฟิกในร้านได้”

อัตราค่าบริการเช่าพาวเวอร์แบงก์กับชาร์จสปอตจะอยู่ที่ชั่วโมงละ 20 บาท 4-24 ชั่วโมงอยู่ที่ 80 บาท และเกิน 6 วันจะอยู่ที่ 950 บาท โดยชำระค่าบริการได้ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และอีวอลเลตต่าง ๆ เช่น ทรูมันนี่ (TrueMoney) ไลน์เพย์ (LINE Pay) และ WeChat Pay

ชูจุดแข็งอีโคซิสเต็ม

ปัจจุบันชาร์จสปอตให้บริการใน 7 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ดำเนินงานโดยบริษัทแม่ 4 แห่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย และบริหารโดยแฟรนไชซี 6 แห่ง ได้แก่ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเก๊า ไต้หวัน และฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละพื้นที่แชร์อีโคซิสเต็มร่วมกันได้ สมมติว่าเช่าพาวเวอร์แบงก์ที่ไทยแล้วพกติดตัวไปที่ต่างประเทศด้วย ก็สามารถคืนพาวเวอร์แบงก์ที่ตู้ชาร์จสปอตในประเทศนั้น ๆ ได้

หรือถ้าจะเช่าที่ตู้ชาร์จสปอตในต่างประเทศ ก็สามารถใช้แอปที่ดาวน์โหลดจากไทยในการสแกนที่ตู้ได้ทันที โดยยอดดาวน์โหลดแอปทั่วโลกอยู่ที่ 8 ล้านครั้ง ส่วนยอดผู้ใช้งานในฐานระบบของไทยมีอยู่ 4 แสนบัญชี

“บริษัทแม่ซัพพอร์ตพาร์ตเนอร์ดีมาก พร้อมแบ่งปันโนว์ฮาว อย่างเราไปออกบูทตามงานต่าง ๆ ก็ส่งทีมมาช่วย เขาให้สิทธิแฟรนไชซีทำงานเต็มที่ เพราะถ้าเขามาเองก็อาจไม่เข้าใจตลาดเท่าไร ที่สำคัญพาร์ตเนอร์จะมาแชร์หรือแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองทำได้ ในช่วงที่จะมีการพบปะกันปีละ 1-2 ครั้ง”

ความแตกต่างของไทย

“รสศุภา” เล่าถึงความแตกต่างของไทยเทียบกับประเทศอื่น ๆ ว่า ชาร์จสปอตโตในงานอีเวนต์ โดยเฉพาะงานคอนเสิร์ตที่กลุ่มแฟนคลับต้องใช้สมาร์ทโฟนถ่ายวิดีโอและอัพโหลดคอนเทนต์ต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาเข้าไปให้บริการในงานต่าง ๆ เช่น S2O Songkran Music Festival

“ตลาดของงานอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตต่าง ๆ ไม่ได้โฟกัสแค่ที่ไทยแล้ว ตอนนี้ตลาดเปิดกว้างมาก ๆ มีทั้งลูกค้าจากอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งแอปของเราใช้ได้ในทุกพื้นที่ที่ให้บริการ เขาโหลดจากประเทศตนเองมาใช้ที่เราก็ได้ หรือพอเขารู้จักเราจากที่ไทย ก็ไปใช้ต่อที่ประเทศอื่น ๆ ได้เช่นกัน”

รุก B2B สู้การแข่งขัน

“รสศุภา” กล่าวต่อว่า ช่วงปี 2562 ที่เริ่มต้นธุรกิจ เป็นช่วงที่การแข่งขันหนักมาก ต้องสู้กับคนจีนที่มีทุนมากกว่า ที่มาด้วยโมเดลให้พื้นที่เช่าจุดละ 3-5 หมื่นบาท และมาพร้อมเครือข่ายทัวร์ที่สร้างรายได้ให้ร้านในพื้นที่ แต่ก็เป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดพอดี คนจีนจึงค่อย ๆ ออกจากตลาดไป เลยได้โอกาสทำตลาด และเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้น

“ในช่วงแรกเราสำรวจเรื่องราคา เพราะกลัวว่าคู่แข่งจะเข้ามาสู้เรื่องราคากับเรา การเก็บชั่วโมงละ 20 บาท ยังเป็นจุดที่เราสู้ไหว แต่ก็ยังทำแคมเปญหรือมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าเพิ่มเติม เช่น คูปองส่วนลดที่แลกจากแต้ม All Member หรือการไปอยู่ตามอีเวนต์ต่าง ๆ ก็มีการแจกบัตรของงานให้ลูกค้าด้วย”

ปัจจุบันรายได้กว่า 90% ของชาร์จสปอตในไทยมาจากการให้เช่าพาวเวอร์แบงก์ อีก 10% เป็นความพยายามที่จะหารายได้จากกลุ่ม B2B เนื่องจากจอของตู้ หน้าแอป หมุด แบนเนอร์ เป็นพื้นที่ในการโฆษณาได้ อีกทั้งบริษัทแม่ก็มีความพยายามในการพัฒนาลูกเล่นใหม่ ๆ เพิ่มเติม เช่น สแกนภาพบนพาวเวอร์แบงก์ แล้วแสดงผลเป็นเทคโนโลยี AR ทำให้แตกต่างจากคู่แข่งมาก

“เรารู้แล้วว่าคู่แข่งน่ากลัวขนาดไหน เราต้องเตรียมรับมือด้วยธุรกิจอื่น ๆ โดยจับมือไปกับพาร์ตเนอร์ เราอยากเป็นมากกว่าผู้ให้เช่าพาวเวอร์แบงก์ รวมถึงเป็น Competitive Advantage ที่เสริมการทำธุรกิจในด้านต่าง ๆ ได้”