เอไอเอส-ทรูชิงคลื่นรอบใหม่ รัฐลุ้นรับ 1.2 แสนล้าน แบ่งเค้ก 34 ไลเซนส์

นับถอยหลังเปิดประมูลคลื่น 1.2 แสนล้าน วัดพลัง 2 ยักษ์ “AIS-TRUE” แบ่งเค้กคลื่น 5G ลอตใหม่ กสทช.รวบ 6 คลื่นความถี่จัดสรร 34 ใบอนุญาต เอกชนโอดราคาประมูลเริ่มต้นแพงไม่สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ TRUE เสนอปรับเกณฑ์ให้เคาะประมูลพร้อมกันทั้ง 6 คลื่น ร้องเงื่อนไขจ่ายเงินปีแรก 50% บั่นทอนการลงทุนด้านโทรคมนาคมขอเป็น 10 งวด ด้าน NT ยกธงขาวไม่เข้าร่วม นักวิเคราะห์มองเหลือแค่ 2 ค่ายยักษ์ ส่งผลเคาะราคาไม่ดุ เชื่อเป็นผลดีทำให้ต้นทุนเอกชนทั้ง 2 รายลดลง ด้าน กสทช.ยันราคาเหมาะสม-ยืดหยุ่น ลุ้นเปิดประมูลเดือน พ.ค. 68

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850MHz, 1500MHz, 1800MHz, 2100MHz, 2300MHz และ 26GHz

โดยจะเปิดรับฟังความเห็นถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 โดยไทม์ไลน์คาดว่าการเปิดประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2568 ถือเป็นการเปิดประมูลคลื่น 4G-5G รอบใหม่ หลังจากที่มีการเปิดประมูลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563

ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นต้องใช้คลื่นหลากหลายทั้งโลว์แบนด์ มิดแบนด์ และไฮแบนด์ จึงได้จัดสรรให้มีการประมูลรวดเดียว 6 ย่านความถี่

การประมูลครั้งนี้จะใช้วิธีการ Clock Auction ซึ่งเป็นวิธีการประมูล Multiband แบบเดียวกับปี 2563 แต่จะมีการปรับปรุงเรื่องใบอนุญาต ให้มีความยืดหยุ่น และมีความหลากหลายในแง่ของคลื่นและปริมาณ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้คลื่นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อต่อยอดไปยังส่วนอื่น ๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร สมาร์ทซิตี้ ระบบขนส่งมวลชนที่แม่นยำ การศึกษา รวมถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารความเร็วสูง

สิ้นสุดระบบสัมปทานคลื่น

สำหรับการจัดสรรคลื่นรวดเดียว 6 ย่าน 34 ชุดความถี่ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากคลื่นในสัมปทานของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งจะหมดอายุช่วงเดือน ส.ค. 2568 ได้แก่ 850MHz จำนวน 2×15 MHz, 1500MHz จำนวน 91MHz (ยังไม่ถูกใช้ แต่ต้องส่งคืนให้ กสทช.) 2100MHz จำนวน 2x15MHz และ 2300MHz จำนวน 60MHz

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ในส่วนคลื่น 2100MHz อีกจำนวน 60MHz ของ NT ซึ่งเป็นย่านที่ TRUE และ AIS เช่าใช้อยู่ก็กำลังจะหมดอายุในปี 2570 ดังนั้น กสทช.จึงนำมาจัดสรรให้มีการประมูลใหม่ด้วย เรียกได้ว่าการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ลอตนี้ เป็นการสิ้นสุดระบบสัมปทานเดิม ที่ค่ายมือถืออย่าง TRUE-Dtac และ AIS ต้องเช่าใช้จาก บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT)

รายงานข่าวระบุว่า โดยทุกคลื่นความถี่ที่เปิดประมูลจะมีระยะเวลาอนุญาตใช้ 15 ปี นับตั้งแต่ 4 ส.ค. 68 ยกเว้นคลื่น 2100 MHz (FDD) จะมีอายุ 13 ปี เพราะจะหมดอายุในวันที่ 6 ธ.ค. 70

ADVERTISMENT

เหลือ 2 ยักษ์-NT ยกธงขาว

ขณะที่พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า NT จะไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ และจะย้ายลูกค้าบนคลื่น 850MHz ไปที่คลื่น 700MHz แทน รวมถึงจะทำแผนธุรกิจโฟกัสลูกค้า 4G เป็นหลัก

ส่วนย่านความถี่ 2100MHz และ 2300MHz นั้นไม่มีอุปกรณ์โครงข่ายของ NT เพราะเป็นย่านความถี่ที่ NT ให้เอกชนเช่าใช้ ประกอบสถานะการเงินของบริษัทก็ยังไม่พร้อม หากจะเข้าร่วมต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ NT (CAT-TOT) ในฐานะรัฐวิสาหกิจยกธงขาวยอมถอย ขณะที่ TRUE ก็มีการควบรวมกับ DTAC ไปแล้ว ดังนั้นในการประมูลคลื่นความถี่ในปี 2568 จึงเป็นการแข่งขันในระบบใบอนุญาตของภาคเอกชนเพียง 2 ราย คือกลุ่ม AIS และ TRUE-Dtac จากการประมูลคลื่นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2563 มีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 5 ราย

แตกย่อยใบอนุญาตคลื่น

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค กสทช. กล่าวว่า การจัดสรรความถี่เพื่อนำมาประมูลรอบนี้ หัวใจสำคัญ คือ การให้ผู้ประกอบการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจัดสรรคลื่นที่มี “อีโคซิสเต็ม” หรือมีโครงข่ายและการใช้งานหนาแน่น โดยซอยให้เล็กลง

และมีการจัดสรรคลื่นใหม่เป็น “ทางเลือก” เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาบริการ เช่น คลื่น 1500MHz แทบจะไม่มีเอกชนให้ความน่าสนใจ ด้วยยังไม่มีอีโคซิสเต็มรองรับ แต่ก็ต้องนำมาจัดสรรประมูลเผื่อจะมีคนสนใจ รวมถึง 2100MHz (TDD) ที่ทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเห็นว่านำมาใช้ได้ ก็เป็นตัวเสริมบริการคลื่น 2600MHz ให้กับเอกชนได้

สำหรับคลื่น 2100MHz (FDD) กสทช.ได้ปรับปรุงโดยการ “ซอย” ใบอนุญาตให้แบนด์วิดท์เล็กลง ใบละ 2x5MHz รวม 12 ชุด หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องประมูลเหมารวดเดียว แต่เลือกประมูลคลื่นตามความจุโครงข่าย (Capacity) ที่ต้องการได้ นั่นจะทำให้ต้นทุนค่าคลื่นของโอเปอเรเตอร์ถูกลง

“การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าแบ่งย่อยใบอนุญาตมากไปหรือไม่ พอแถบคลื่นน้อยเกินไป จะทำให้การประมูลแตกย่อยกระจัดกระจาย แต่สำนักงาน กสทช.ก็ชี้แจงไปแล้วว่า เหตุผลที่แตกใบอนุญาตคลื่นน้อย ๆ เพราะมองว่าเอกชนจะได้มีตัวเลือกในราคาไม่สูง ถ้าอยากได้คลื่นมากก็ประมูลหลายสลอต เพราะครั้งนี้ไม่มี Spectrum Cap คือไม่มีจำกัดการถือครองคลื่น จะประมูลเท่าไหร่ก็ได้”

จับตาชิงคลื่น 2100MHz

ต่อข้อสักถามที่ว่า เมื่อผู้เข้าประมูลเหลือเพียงสองรายจะทำให้เกิดการแข่งขันได้หรือไม่ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ให้มุมมองว่า “เชื่อว่ามีการแข่งขันแน่นอน เพราะคลื่น 2100MHz (FDD) ซึ่งมีเจ้าของเดิมใช้บริการอยู่ก็ยอมต้องอยากได้ แต่ส่วนอื่น ๆ อย่าง 2100MHz (TDD) สำหรับเสริมบริการเป็นทางเลือกนั้น แล้วแต่ผู้ให้บริการแต่ละราย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในรอบนี้คลื่นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ คือย่านที่ทั้ง True และ AIS มีผู้ใช้บริการและได้ลงทุนในโครงข่ายไปแล้ว ดังนั้นก็จะต้องประมูลให้ได้ โดยเฉพาะคลื่น 2100MHz มีการนำมาประมูลใหม่ทั้งหมด รวมอัพลิงก์ ดาวน์ลิงก์ มากถึง 12 ใบอนุญาต ความสำคัญของคลื่นนี้เห็นได้จากราคาเริ่มต้นที่ กสทช. ตั้งไว้สูงถึง 3,391 ล้านบาท (FDD) ต่อใบอนุญาต ที่มีชุดความถี่ 2x15MHz

AIS ชี้ตั้งราคาให้สอดคล้อง ศก.

ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า พร้อมและสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่าน ส่วนที่สนใจและอยากให้มีการประมูลล่วงหน้าในรอบนี้ด้วย คือ คลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่หลักของ 5G ระดับสากล

“อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล พิจารณาการตั้งราคาประมูลคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งหากราคาคลื่นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อการหนุนให้เกิดการลงทุนขยายโครงข่ายสัญญาณให้ครอบคลุม และประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์นั้น”

TRUE ขอปรับเงื่อนไขจ่ายเงิน

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า หลักเกณฑ์การประมูลล่าสุด มีประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อส่งเสริมให้กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสทช.มาถูกทางที่เปิดประมูลคลื่นแบบ Multiband แต่การจัดกลุ่มประมูลไม่ตอบโจทย์

โดยเห็นว่าควรจัดให้มีประมูลพร้อมกันทั้ง 6 ย่านความถี่ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างความโปร่งใสจากการประมูล เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ทุกย่านพร้อมกัน และลดข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนในขั้นตอนการประมูล

นอกจากนี้ บริษัทเห็นว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด แม้ว่าจะต่ำกว่าราคาขั้นต่ำในอดีต แต่ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยของคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้มากเท่าที่ควร และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ

นายจักรกฤษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่เงื่อนไขการชำระเงินที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และบั่นทอนความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม เนื่องจากกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องชำระค่าคลื่นงวดแรก 50% ตั้งแต่ปีแรก (ก่อนรับใบอนุญาต) และปีที่ 2 และ 3 ชำระปีละ 25% จึงเสนอให้แบ่งชำระค่าคลื่นความถี่เป็น 10 งวดเหมือนการประมูลครั้งที่ผ่านมา

โบรกฯชี้แค่ 2 ค่ายแข่งขันต่ำ

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสำนักงาน กสทช.เปิดข้อมูล ราคาและเงื่อนไขการประมูลคลื่น ทุกคนมองว่าราคาประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ไม่แพง และการแข่งขันน่าจะต่ำเพราะมีเพียง 2 โอเปอเรเตอร์ (TRUE, ADVANC) ดังนั้นตลาดจึงมองว่าโอเปอเรเตอร์จะได้คลื่นความถี่ที่ตัวเองอยากได้ที่ราคาต่ำ

อย่างไรก็ดี จากที่เข้าร่วมรับฟังในวันเฮียริ่ง (6 ก.พ.) โอเปอเรเตอร์ยังมองว่าราคาสูงและต้องการให้ กสทช. ปรับลดราคาประมูลคลื่นลงไปอีก และเอกชนยังไม่เห็นด้วยที่ กสทช. ตั้งราคาคลื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันในราคาที่ห่างกันเกินไป

คือราคาคลื่น 2300MHz เทียบกับราคาคลื่น 2100MHz และเทียบกับราคาคลื่น 1800MHz ซึ่งเป็นคลื่นย่านความถี่ Midband ซึ่งมีความสามารถใกล้เคียงกัน เอกชนทั้งเอไอเอสและทรูมองว่าราคาคลื่นไม่ควรจะต่างกันมาก

ลุ้น กสทช.ปรับเงื่อนไข

นายพิสุทธิ์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการกลัวก็คือ กสทช.ตั้งราคาคลื่น 2300MHz ไว้ต่ำ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการไปแย่งกันประมูล หมายความว่า กสทช.กำลังทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลคลื่นเกิดขึ้น ซึ่งฝั่งเอกชนไม่อยากให้การแข่งขันเกิดขึ้น ดังนั้นสุดท้ายแล้วก็จะขึ้นอยู่กับ กสทช. ว่าจะรับฟังเอกชนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หาก กสทช.รับฟังเอกชนก็อาจจะมีการปรับราคาคลื่นใหม่ ซึ่งขณะนี้ทุกคนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะรู้กันในช่วงเดือน มี.ค.

“ถ้าให้คาดเดาเชื่อว่าคงจะมีการประนีประนอมตามวัฒนธรรมไทย ๆ หมายความว่า กสทช.คงจะมีการปรับราคาคลื่นบางส่วนและไม่ปรับบางส่วน เพราะประเด็นคือถ้า กสทช. ปรับตามที่เอกชนบอกทั้งหมด กสทช.ก็จะโดนด่าจากประชาชนว่าเอนเอียงเข้าข้างผู้ประกอบการ

แต่ถ้าไม่ปรับราคาคลื่นเลยอีกมุมหนึ่งว่าถ้าคลื่นขายไม่หมดก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น กสทช.ต้องรักษาจุดสมดุลที่ทำให้มั่นใจว่าไม่ให้ตัวเองโดนด่ามาก ฉะนั้นคงเลือกเป็นทางสายกลาง”

2 ยักษ์ประหยัดต้นทุน

นายพิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เชื่อว่าประมูลคลื่นความถี่รอบนี้ มีแต่จะเป็นผลดีต่อผู้ให้บริการ (TRUE, ADVANC) แต่จะดีมากหรือดีน้อยเท่านั้นเอง เพราะวันนี้เอกชนจ่ายค่าเช่าคลื่นจาก NT ที่มูลค่าค่อนข้างสูง ดังนั้นการประมูลที่เกิดขึ้นจะทำให้เอกชนประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก

โดยมองฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best-case Scenario) ของการประมูล อาจสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) ของการประหยัดต้นทุนจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบโรมมิ่ง ไปสู่การถือครองใบอนุญาต โดยประเมินว่า ADVANC ประเมินต้นทุน 16,200 ล้านบาท

สำหรับ TRUE ประหยัด 2,600 ล้านบาท และในกรณีฉากทัศน์พื้นฐาน (Base-case Scenario) ประเมิน NPV ของการประหยัดต้นทุนจากการประมูลจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท กรณีของ ADVANC และ 2,100 ล้านบาท สำหรับ TRUE

นายพิสุทธิ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อความไม่แน่นอนของการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อราคาหุ้นของบริษัทโทรคมนาคมในระยะสั้น และยังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ของผลกระทบในอนาคต

จากที่ กสทช.จะนำเสนอโมเดล TIMO ในการจะให้รายย่อยมีสิทธิเอาคลื่นความถี่ของรายใหญ่ไปใช้ได้ ทำให้ในอนาคตอาจเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดรายย่อยขึ้นมาได้ แต่ปัจจัยนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นรอบนี้เพราะเป็นเรื่องในอนาคตที่ กสทช. คิดจะดำเนินการ

กสทช.เล็งผุดโมเดลเพื่อรายเล็ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายราย ทั้งค่ายมือถือและซัพพลายเออร์ต้องการให้ทาง กสทช. เร่งนำคลื่น 3500MHz ออกมาประมูล เนื่องจากมีความเหมาะสมทั้งในอุปกรณ์เคลื่อนที่สากล และในอุตสาหกรรมใหญ่ ขณะที่ตามแผนของสำนักงาน กสทช.คาดว่าจะสามารถนำมาประมูลได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

อีกหนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงก็คือ โมเดลการสร้างธุรกิจให้เกิดผู้ให้บริการรายเล็ก รายย่อย คือ การเสนอไอเดียเกี่ยวกับ “TIMO” (Thailand Independent Market Operator) หรือกลไก “ตัวกลาง” ที่ กสทช.มองว่าจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของ “รายย่อย” หรือกลุ่มโอเปอเรเตอร์โครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator : MVNO) ในธุรกิจโทรคมนาคมมากขึ้น ปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมในไทยมี MNO อยู่ 2 ราย

ทั้งนี้ TIMO เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นมารองรับเงื่อนไขของการประมูลที่ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลต้อง “Set Aside” หรือกันความจุโครงข่าย (Capacity) อย่างน้อย 10% ให้ผู้ให้บริการรายอื่นได้มาเช่าใช้ รวมถึงจะช่วยแก้ปัญหาความแออัด (Congestion) ให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วยราคาที่เหมาะสม

โดย กสทช.เชื่อว่าการมี “ตัวกลาง” มาทำหน้าที่แมตช์ความต้องการซื้อขายในระดับ Wholesale น่าจะเหมาะสมกับสภาพการแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมไทยในปัจจุบัน

เปิดราคาประมูลเริ่มต้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงาน กสทช.ได้มีการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับการประมูลคลื่นลอตใหม่ในเบื้องต้น ดังนี้

1.คลื่นย่าน 850MHz จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5MHz ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท

2.คลื่นย่าน 1500MHz จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5MHz ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท

3.คลื่นย่าน 1800 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5MHz ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท

4.คลื่นย่าน 2100MHz จำนวน 12 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5MHz ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท (FDD) และคลื่นย่าน 2100MHz ยังมีการปรับปรุงเพิ่ม แบ่งเป็น TDD อีกจำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5MHz ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท
5.คลื่นย่าน 2300MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10MHz ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท
6.คลื่นย่าน 26MHz จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท
รวมการเปิดประมูลครั้งนี้ทั้งสิ้น จำนวน 450MHz มูลค่า 121,026 ล้านบาท

ปี’63 มีผู้ประมูล 5 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประมูลคลื่นความถี่ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563 โดยสำนักงาน กสทช.ได้จัดประมูลคลื่นใน 3 ย่านความถี่ คือ 700MHz, 2600MHz และ 26GHz โดยในครั้งนั้นการประมูลได้เม็ดเงินรวม 100,521 ล้านบาท จากการแข่งขันของผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด