J&T Express ลุยต่อ เร่งเกมขยายเครือข่ายทั่วประเทศ

J&T
ลิลลี่ เฉิน

เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) เริ่มต้นธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2015 จากความพยายามของ 2 ผู้บริหารชาวจีน “โทนี่ เฉิน” และ “เจ็ท ลี” ที่เคยร่วมงานกับสมาร์ทโฟนออปโป้ (OPPO) มาก่อน โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มีการระดมทุนกับนักลงทุนชั้นนำมาแล้วเกือบ 10 รอบ เช่น Boyu Capital, Hillhouse Capital, Temasek และ Tencent หลังเปิดตลาดในอินโดนีเซียมาสักระยะ ก็เริ่มขยายบริการไปยังประเทศต่าง ๆ

กระทั่งในปี 2023 สามารถเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้สำเร็จ

ในปีเดียวกันยังตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ Fengwang Express มูลค่ากว่า 1.183 พันล้านหยวน (5.52 พันล้านบาท) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการในประเทศจีนอีกด้วย

ปัจจุบัน J&T Express มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 13 ประเทศ ตั้งแต่อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก บราซิล และอียิปต์

ณ ปี 2024 ที่ผ่านมา มียอดการจัดส่งพัสดุรวมในทุกพื้นที่ 2.46 หมื่นล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เจาะรายได้ในไทย

สำหรับการขยายธุรกิจมายังประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในปี 2019 จากอานิสงส์ของการขยายตัวในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ทำให้ J&T Express เติบโตต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของรายได้และยอดการจัดส่งพัสดุ แต่ผลประกอบการโดยรวมมีบางปีที่ขาดทุนอย่างหนัก หากพิจารณารายได้และผลประกอบการของบริษัท โกลบอล เจท เอ็กซ์เพรส (ไทยแลนด์) จำกัด ในฐานข้อมูลของ Creden Data แพลตฟอร์มฐานข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนในไทย

ADVERTISMENT

โดยปี 2021 มีรายได้ 7.30 พันล้านบาท ขาดทุน 821 ล้านบาท ถัดมาในปี 2022 มีรายได้ 1.18 หมื่นล้านบาท และพลิกกลับมามีกำไร 1.51 พันล้านบาท ขณะที่ในปี 2023 มีรายได้ 1.85 หมื่นล้านบาท แต่ขาดทุน 7.09 พันล้านบาท

สำหรับในปี 2024 ที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับผลประกอบการแต่อย่างใด

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ 2025 “J&T Express” ประกาศว่าจะมีมูฟเมนต์ใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต และรับมือกับการแข่งขันจากผู้เล่นมากหน้าหลายตาที่ยังคงร้อนระอุไม่มีแผ่ว

ชูบริการหลากหลาย

“ลิลลี่ เฉิน” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด J&T Express ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณพัสดุของ J&T Express เพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการให้บริการแบบ One-Stop Service ตลอด 365 วัน รวมเข้ากับการมีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการส่งพัสดุหลากหลายประเภท

ประกอบด้วย บริการ J&T Super ส่งพัสดุถึงผู้รับตามเวลาที่กำหนด (ตามมาตรฐาน SLA) หากส่งถึงผู้รับล่าช้าเกินเวลาที่กำหนด สามารถยื่นเรื่องรับค่าส่งคืนได้ทันทีหลังได้รับพัสดุ

J&T Bulky ส่งสินค้าขนาดใหญ่ น้ำหนักสูงสุด 100 กิโลกรัม ความยาวพัสดุแต่ละด้านไม่เกิน 200 เซนติเมตร รวมทุกด้านไม่เกิน 600 เซนติเมตร

J&T Fruit Parcel ส่งผลไม้ตามฤดูกาลทั่วประเทศ และ J&T COD Next Day บริการเก็บเงินปลายทางสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ คิดค่าบริการ 2.4% ของมูลค่าสินค้า จะได้รับเงินในวันถัดไป หลังจากที่ผู้รับปลายทางมีการเซ็นรับพัสดุ สำหรับลูกค้าทั่วไป (Walk-in) เรียกเก็บได้สูงสุด 5,000 บาท/พัสดุ ส่วนลูกค้า VIP จะเป็นไปตามเงื่อนไขเฉพาะของลูกค้า

“เราได้รับการตอบรับในแง่บวกจากโซเชียลมีเดีย เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนในไทย สะท้อนถึงความสามารถในการให้บริการ และความเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้เรา”

ขยายเครือข่ายพาร์ตเนอร์

“ลิลลี่” กล่าวด้วยว่า เครือข่ายพาร์ตเนอร์มีความสำคัญกับการเติบโตของ J&T Express มาก โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เช่น Shopee, Lazada, TikTok Shop, SHEIN และ TEMU

รวมถึงมีความร่วมมือกับแบรนด์ค้าปลีกชั้นนำ เช่น วัตสัน (Watsons) แบรนด์ค้าปลีกด้านสุขภาพ และความงามรายใหญ่เพื่อให้บริการรับ-ส่งพัสดุในรูปแบบช่องทางการขายออนไลน์ รวมถึงบริการพิเศษในการจัดส่งพัสดุหลายกล่องในคำสั่งซื้อเดียว และ ZARA ในการให้บริการรับ และจัดส่งพัสดุจากคำสั่งซื้อบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น

“J&T Express สร้างความเชื่อมั่นกับเครือข่ายพาร์ตเนอร์ผ่านการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ เช่น ช่วงที่มีการจำหน่าย iPhone รุ่นใหม่ ดีลเลอร์ Apple ก็เลือกบริษัทให้เป็นผู้ส่งเครื่องให้ลูกค้าทำให้เครื่องที่วางขายตอน 8 โมงเช้าลูกค้าคนแรกจะได้รับเครื่องตั้งแต่ 9 โมงกว่า ๆ”

ปูพรมเพิ่มจุดรับพัสดุ

และในปี 2025 J&T Express ยังสร้างความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven โดยเปิดโครงการจุดรับฝากพัสดุทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการรายย่อย และเอสเอ็มอี (SMEs) ในการเข้าถึงจุดฝากพัสดุผ่านสาขา 7-Eleven ที่ครอบคลุมกว่า 15,000 สาขาทั่วประเทศ คาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 2 ปีนี้

และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถส่งพัสดุระหว่างการเดินทางมากขึ้น J&T Express ได้ตั้งจุดรับส่งพัสดุในสถานีรถไฟใต้ดิน MRT และกลายเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมการขนส่งด่วนของ MRT

นอกจากนี้ ยังมีจุดรับสินค้า J&T Home ที่เปิดให้ผู้มีพื้นที่ว่างมาสร้างรายได้ผ่านการเป็นจุดรับสินค้าของบริษัทกว่า 6,500 จุด และมี YoYi Station สถานีออฟไลน์ช่วยให้ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงสามารถรับและส่งพัสดุใกล้บ้าน มากกว่า 2,000 แห่ง

“การขยายจุดรับพัสดุในปีนี้คงใช้โมเดลแฟรนไชส์เป็นหลัก ล้อไปกับกลยุทธ์ของบริษัทแม่ในต่างประเทศ”

เปิดศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจร

นอกจากเรื่องบริการ และการสร้างความแข็งแรงของเครือข่ายพาร์ตเนอร์ J&T Express ยังให้ความสำคัญกับการจัดการระบบโครงข่าย ด้วยการมีศูนย์คัดแยกสินค้าสมุทรปราการ (Southern Bangkok Sorting Center) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ครบวงจร ครอบคลุมทั้งการจัดเก็บสินค้า การขนส่ง การคัดแยก และการกระจายสินค้า รวมถึงจัดส่งพัสดุข้ามพรมแดน มีพื้นที่รวม 150,000 ตารางเมตร ถือเป็นศูนย์บริการโลจิสติกส์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายในศูนย์คัดแยกสินค้าจะมีระบบคัดแยกพัสดุอัตโนมัติแบบสายพานลำเลียง มีระบบวัดขนาด น้ำหนัก และเครื่องคัดแยกอัจฉริยะ ระบบ Dimension Weight and Scanning (DWS) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานรองรับพัสดุทั่วประเทศได้กว่า 7 ล้านชิ้นต่อวัน รวมถึงมีบริการ J&T Fulfillment ตั้งอยู่ในศูนย์คัดแยกสินค้าสมุทรปราการ พื้นที่ 70,000 ตารางเมตร พร้อมสนับสนุนธุรกิจ B2C ทั้งการจัดเก็บสินค้าและการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อแบบชิ้นเดียว รองรับคำสั่งซื้อได้ประมาณ 150,000 ชิ้นต่อวัน

“ศูนย์คัดแยกสินค้าของบริษัทอยู่ในทำเลที่ใกล้กับสถานที่ที่มีการขนส่งสินค้า เช่น สนามบิน และท่าเรือ ทำให้ประหยัดเวลาในการกระจายสินค้าไปตามที่ต่าง ๆ และการที่คลังสินค้าอยู่ในพื้นที่เดียวกับศูนย์คัดแยกสินค้า ก็ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานไปในตัว”

ผู้บริหาร J&T Express ทิ้งท้ายว่า ในเรื่องการแข่งขันกับผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ บริษัทไม่ได้โฟกัสแค่เรื่อง “ราคา” เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบบริการที่ตรงใจลูกค้า และการหาโซลูชั่นใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน พร้อมกับยกตัวอย่างด้วยว่า ในจีนเริ่มมีการนำโมเดล DeepSeek มาใช้บ้างแล้ว จึงต้องดูว่าระบบจะพร้อมให้นำมาใช้ในประเทศไทยเมื่อไร เป็นต้น