ผู้บริโภครุ่นใหม่ดันอีบุ๊กโตเงียบ เปิดทางนักเขียนนักแปลนิวเจนปั้นรายได้

อีบุ๊กไทยโตต่อเนื่อง ตกปีละ 600-700 ล้านบาท “Meb” กวาดรายได้ทะลุ 350 ล้านบาท อานิสงส์ผู้บริโภค-ดีไวซ์รุ่นใหม่ช่วยหนุน ด้าน “อุ๊คบี” โชว์ยอดผู้ใช้โต 200 เท่า “อมรินทร์” เร่งก้าวสู่ออมนิแชนเนลรับยอดซื้อออนไลน์พุ่ง 2-3 เท่าตัว ฟาก “กวีบุ๊ค” น้องใหม่ลุยเจาะตลาดนิยายจีน-ญี่ปุ่น พร้อมจ่ายส่วนแบ่งนักแปลนักเขียนสูงปรี๊ด

นายรวิวร มะหะสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น e-book “Meb” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดอีบุ๊กมีมูลค่าราวปีละ 600-700 ล้านบาท โตเลขสองหลักทุกไตรมาส แต่ยังเป็นแค่ 5% ของตลาดหนังสือที่มีมูลค่า 10,000 ล้านบาทต่อปี จึงมีโอกาสโตอีกมาก โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ร้านหนังสือที่ค่อย ๆ ลดลง ทำให้การหาซื้อหนังสือยากขึ้น คุณภาพดีไวซ์ที่รองรับก็ดีขึ้น รวมถึงผู้บริโภคเริ่มคุ้นชิน

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าอีบุ๊กจะมีอายุ 20-45 ปี เป็นเพศหญิง ชอบอ่านนิยาย เป็นวัยทำงานที่มีกำลังจ่าย แต่ในอนาคตกลุ่มลูกค้าอายุจะค่อย ๆ น้อยลง เพราะคุ้นเคยกับสมาร์ทโฟน ระบบจ่ายเงินก็ง่ายขึ้น

“ตลาดอีบุ๊กยังอยู่ในช่วงการเรียนรู้ ความท้าทายตอนนี้คือทำให้คนที่อ่านหนังสือหันมาอ่านอีบุ๊ก ในตลาดอเมริกา อีบุ๊กอยู่ราว 20% ของตลาดหนังสือ ในไทยอาจจะต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี”

Meb มีหนังสือในระบบราว 70,000 เล่ม ผู้ใช้บริการกว่า 1.5 ล้านคน ยอดขายปีก่อน 350 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้า 450-500 ล้านบาท ลูกค้า 2 ล้านคน

ผู้บริโภคชอบคอนเทนต์สั้น ๆ

นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “ookbee” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอุ๊คบีมีผู้ใช้ 10 ล้านคน อายุ 18-45 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อุ๊คบี (Ookbee) ที่จำหน่ายหนังสืออีบุ๊กของคอนเทนต์จากมืออาชีพ (professional generated content : PGC) มีผู้ใช้ประจำ 1.5 ล้านคน/เดือน และอีกส่วนคือ อุ๊คบี ยู (Ookbee U) ที่ทำในส่วน UGC (user generate content) ได้แก่ ธัญวลัย, Fictionlog, Storylog, Ookbee Comics, Fungjai และ Joylada ซึ่ง Joylada ได้รับความนิยมที่สุด ปัจจุบันในส่วนนี้ทุกแพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานกว่า 5 ล้านคน/เดือน เพจวิวรวมกัน 1,700 ล้านครั้ง/เดือน เติบโตเดือนละ 2 หลัก มีผู้สร้างคอนเทนต์ราว 400,000 คน สร้างรายได้หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท โดยปีก่อนผู้ใช้อุ๊คบีเติบโต 200 เท่า

“เทรนด์คอนเทนต์เริ่มเปลี่ยนไป ปัจจุบันพฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภคจะเป็นตอนสั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ มากกว่าที่จะมาอ่านเป็นเล่มยาว ๆ เนื่องจากคนไม่ค่อยชอบใช้เวลากับอะไรนาน ๆ”

ปัจจุบันความท้าทายของธุรกิจ คือ การดึงให้คนมาใช้งาน เพราะคนส่วนใหญ่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย ขณะที่การเติบโตในฝั่งของอีบุ๊กไม่ได้โตเร็วเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป คอนเทนต์แบบ PGC กับ UGC ก็แทบแยกกันไม่ออก อุ๊คบีก็ต้องปรับตัวให้ทันเพื่อเพิ่มผู้ใช้ใหม่ ๆ โดยปีนี้อุ๊คบียังคงตั้งเป้าโตเท่าตัว

ยอดซื้อออนไลน์โต 3 เท่า

ด้านนางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งกล่าวว่า ภาพรวมตลาดทั้งสิ่งพิมพ์และอีบุ๊กโตขึ้น 5-10% ต่อปี ขณะที่การสั่งหนังสือออนไลน์โต 2-3 เท่า ซึ่งในส่วนของร้านนายอินทร์ปีก่อนโตถึง 70% และคาดว่าปีนี้จะเติบได้ 100% ขณะที่อีบุ๊กมีสัดส่วน 5% ของยอดขายทั้งหมด ปัจจุบันมีอีบุ๊กในระบบ ราว 50% ของหนังสือทั้งหมด บริษัทจึงลดต้นด้วยการลดสาขาของร้านนายอินทร์ที่มี 190 สาขา เหลือ 150 สาขา

“อีบุ๊กเป็นเพียงทางเลือก ซึ่งเราพบว่าผู้บริโภคยังชอบหนังสือจริงมากกว่า จึงเราต้องปรับในส่วนการจำหน่ายให้เป็นแบบออมนิแชนเนล โดยลดสาขาและปรับรูปแบบร้านใหม่ให้มีหลากหลายขนาด และเตรียมเปิด smart store แห่งแรกที่จามจุรีสแควร์ ชั้น 1 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานในร้าน”

อย่างไรก็ตาม ในมุมสำนักพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นการอ่านรูปแบบไหน ก็ถือว่าคนอ่านเพิ่มขึ้น จึงพยายามทำให้หนังสืออยู่ใกล้ผู้อ่านมากที่สุด เพื่อเพิ่มนักอ่านใหม่ ๆ อาทิ โครงการ “นายอินทร์ X BMN Read Around” ที่ร่วมกับบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ตเวิร์คส์ จำกัด (บีเอ็มเอ็น) สร้างชั้นหนังสือแบบ digital book download ให้อ่านที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT โดยคัดหนังสือขายดีร่วม 100 เล่ม จากกว่า 20 สำนักพิมพ์ ให้ดาวน์โหลดอ่านฟรี 24 ชั่วโมง

“กวีบุ๊ค” ชูนิยายจีน-ญี่ปุ่น

นายจรัญพัฒณ์ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด สตาร์ตอัพในเครือกานดา พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เปิดตัวสำนักพิมพ์ออนไลน์ “กวีบุ๊ค” (Kawebook.com) มีจุดเด่นคือ นิยายแปลที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์จากจีนและญี่ปุ่นไว้กว่า 28 เรื่อง พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักเขียนไทยทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น รวมถึงสำนักพิมพ์ต่าง ๆ นำผลงานมาเผยแพร่ผ่านกวีบุ๊คได้ด้วย โดยให้ส่วนแบ่งรายได้ในสัดส่วนที่สูงกว่าตลาด เพื่อส่งเสริมให้อาชีพนักเขียน นักแปล และตลาดอีบุ๊กในไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง

“นิยายจีน และญี่ปุ่น แตกต่างจากนิยายทั่วไปในตลาด และมองเห็นโอกาสที่เป็นตลาดเฉพาะที่นักอ่านมีกำลังซื้อและเติบโตสูง จึงได้ลงทุนราว 6.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าลิขสิทธิ์ และค่าพัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งหลังจากเริ่มเปิด พ.ย.ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็เริ่มคืนทุนแล้ว”

ปัจจุบันมียอดผู้เข้าใช้งานอยู่ที่ 10,000-13,000 คนต่อวัน มีจำนวนนิยายแปลและของนักเขียนไทยทั้งหมด 342 เรื่อง กว่า 6,000 ตอน โดยมีรายได้จากการให้เติมเงินเพื่อซื้อนิยายอ่านอยู่ที่ราว 1 แสนบาทต่อวัน ตั้งเป้าสิ้นปีรายได้จะอยู่ที่ 30 ล้านบาท โดยนักแปลของกวีบุ๊คจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ราว 20-30% ส่วนนักเขียน นักวาดการ์ตูนไทย รวมถึงสำนักพิมพ์ต่าง ๆ อยู่ที่ 71-81% ซึ่งมีนักแปลที่รายได้สูงสุดคือ กว่า 2 .5 แสนบาทต่อเดือน และนักเขียนนิยายไทยมีรายได้สูงสุดราว 7 หมื่นบาทต่อเดือน

“ผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย กว่า 50% อายุ 25-34 ปี อายุ 18-24 ปี อีก 20% เป็นกลุ่มที่ชอบนิยายจีนสมัยใหม่ นิยายไซไฟแฟนตาซี ซึ่งสามารถต่อยอดโมเดลหารายได้อื่น ๆ ได้ด้วย จึงมั่นใจว่า กวีบุ๊คจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้”

ความท้าทายในธุรกิจนี้ คือ การทำให้ตลาดรู้จักกวีบุ๊คและเลือกใช้แทนที่เว็บละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดกิจกรรมไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักอ่าน และพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้เข้าใช้งานได้ง่ายขึ้น รวมถึงพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ โดยจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไว้ราว 10% ของรายได้ โดยจะเปิดตัวราวไตรมาส 4 ทั้งยังมีแผนจะผลักดันวงการงานแปลและงานเขียนฝีมือคนไทยไปสู่เวทีต่างประเทศด้วยโดยเตรียมงบฯไว้ 3 ล้านบาท